คอลัมน์ Healthcare Insight วันนี้จะเล่าถึง การมองสาธารณสุขในมุมใหม่ กับประเด็นว่าด้วยการขยายการลงทุนโรงพยาบาลเอกชนไปยังต่างจังหวัด
เมื่อตอนที่เครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ประกาศตัวว่า กำลังเร่งขยายโรงพยาบาลไปต่างจังหวัด มีหลายคนติดต่อเข้ามาเพื่อเสนอที่ดินขนาดใหญ่ให้เราไปขยายโรงพยาบาลเพื่อช่วยสร้างความเจริญให้ที่นั่น ทำให้เรารู้สึกประหลาดใจเหมือนกัน และยิ่งอยู่ในธุรกิจนี้นานเข้า ยิ่งพบว่าเมื่อมีข่าวโรงพยาบาลไปตั้งอยู่ที่ไหน ความเจริญมักจะตามมา ซึ่งผมก็เห็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะพื้นที่ไหนที่มีโรงพยาบาลไปอยู่ สิ่งที่ตามมาคืออาชีพและระบบเศรษฐกิจชุมชน มีพ่อค้าแม่ขายโดยรอบและการเดินทางสัญจรในชุมชนก็คึกคักขึ้น หรือแม้แต่โอกาสในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่หลากหลายก็เพิ่มมากขึ้นด้วย
แต่โรงพยาบาลเป็นส่วนสำคัญเพียงส่วนเดียวเท่านั้นในภาพใหญ่ของสิ่งที่เรียกว่า ระบบนิเวศทางด้านสาธารณสุข (Healthcare Ecosystem)
ในปัจจุบันนี้ แม้ว่าสถานพยาบาลโดยรวมจะมีมากขึ้นในแง่ปริมาณ แต่จะเห็นได้ว่าภาพรวมของธุรกิจสถานพยาบาลเอกชนมักจะกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่เป็นหลัก นอกจากนี้ เรายังมีความท้าทายในเรื่องบริบททางสังคมที่มีความซับซ้อน เช่น ในเมืองใหญ่ แม้จะมีโรงพยาบาลอยู่มาก แต่บรรดาคนหาเช้ากินค่ำในชุมชนแออัดใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ก็ยากจะเข้าถึงการรับบริการเหล่านั้น และก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ได้คุณภาพและทันท่วงที
ในมุมมองของผมนั้น นโยบายด้านสาธารณสุขมีบทบาทสำคัญที่จะเอื้อให้เกิดการขยายการลงทุนด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการกระจายโรงพยาบาลไปยังต่างจังหวัด โดยจะเห็นได้ว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายสาธารณะด้านสาธารณสุขของไทยในช่วงที่ผ่านมานั้น ภาครัฐไม่ได้มุ่งเน้นการแก้ไขโครงสร้างหลัก แต่เราใช้กลไกหน่วยงานกึ่งรัฐ
เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ซึ่งในมุมหนึ่ง ก็ดูจะมีความรุดหน้ารวดเร็ว แต่ยังขาดแรงส่งจากระดับนโยบายภาพใหญ่ที่สำคัญ นั่นคือ การเอื้อให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชน หรือต่างชาติ
ผมขอชวนทุกท่านพิจารณาสถิติที่น่าสนใจกันครับ เมื่อ 3-5 ปีที่แล้วก่อนวิกฤตโควิด-19 จำนวนสถานพยาบาลของรัฐ เช่น สถานีอนามัย สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลทั่วไป มีสัดส่วน 35% ในขณะที่สถานพยาบาลเอกชน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลเอกชนและคลินิกเอกชน มีสัดส่วน 65% และ ณ ปัจจุบัน จำนวนน่าจะขยับขึ้นเป็นราว 67- 68%
ซึ่งจากจำนวนสถานพยาบาลทั้งหมดนี้ มากกว่า 90% เป็นสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ เช่น คลินิกชุมชน สถานีอนามัย และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ส่วนโรงพยาบาลที่เอกชนลงทุนในช่วงที่ผ่านมา มีไม่ถึง 2% ของทั้งระบบ สะท้อนให้เห็นว่าภาคเอกชนยังเข้าไปลงทุนน้อยมาก
(อ้างอิง: https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Services/Private-Hospitals/IO/io-Private-Hospitals)
และผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ปัจจุบันโรงพยาบาลเครือพริ้นซิเพิลเฮลท์แคร์ ซึ่งมีโรงพยาบาล 13 แห่ง ใน 11 จังหวัด ตั้งเป้า 20 แห่งในปี 2568 เป็นเครือโรงพยาบาลที่เร่งขยายการลงทุนผ่านโมเดลร่วมลงทุนกับพันธมิตร โดยในปัจจุบัน เรามีผู้ลงทุนที่เป็นพันธมิตรท้องถิ่น พันธมิตรระดับชาติ เช่น บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (RATCH)
หรือแม้แต่พันธมิตรด้านการลงทุนในระดับนานาชาติอย่างเช่น IFC ในเครือ World Bank ที่ร่วมสนับสนุนการขยายการลงทุนให้เกิดการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขในประเทศไทย และเรายังคงต้องการพันธมิตรเพื่อร่วมลงทุนขยายโรงพยาบาลและบริการสุขภาพอีกอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายการขยายการลงทุนในเมืองรอง ที่ยังไม่มีสถานพยายาลเอกชนขนาดใหญ่ตั้งอยู่
ทั้งนี้ ในมุมมองของผม เราควรให้ความสำคัญกับการเร่งกระจายการลงทุนไปยังต่างจังหวัด เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านสาธารณสุขในอนาคต อย่างน้อยใน 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
- การเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่สังคมสูงอายุ
- การลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข
- การรับมือกับโรคระบาด หรือภัยพิบัติฉุกเฉิน
- การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมและบริบททางสังคมหรือชุมชน
- การใช้เทคโนโลยีมาร่วมดูแลและให้บริการสุขภาพ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการดูแลและให้บริการสุขภาพโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และจากช่วงที่ผ่านมา เราเห็นบทเรียนในหลายประเทศที่ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์มากกว่าบ้านเรา แต่เขาใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวลดช่องว่าง กระจายการดูแลผู้ป่วยได้ครอบคลุมในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งสิ่งที่ผมกำลังพูดถึงอยู่นั้น มันไม่ใช่เพียงแค่ Telemedicine
แต่เป็นการบริหารจัดการทางการแพทย์ในทุกอณู โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาร่วมสนับสนุน ทำให้แพทย์และบุคลากรการแพทย์สามารถเพิ่มศักยภาพการดูแลต่อหน่วยประชากรได้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ในมิติของภาพใหญ่ในแง่การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุน การสาธารณสุข จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การดูแลรักษาเท่านั้น
ผมยังอยากเห็นการเปลี่ยนวิธีคิดของรัฐ ก่อนที่จะออกแบบนโยบายสนับสนุนให้เกิดการลงทุนขยายโรงพยาบาลไปต่างจังหวัด รวมทั้งนโยบายสาธารณะและความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ เช่น ภาคการศึกษา ที่ไม่ใช่เพียงสอนวิชาสุขศึกษา แต่ต้องสอนให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องเวชศาสตร์เชิงป้องกัน (Preventive Medicine) หรือการจัดการความปลอดภัยด้านอาชีวอนามัยในสถานประกอบการ ที่ไม่เพียงแค่การเตรียมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำงาน แต่ต้องทำให้พนักงานมีสุขภาพที่ดี และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการสาธารณสุขลงได้อีกด้วย
เรื่องการสาธารณสุข เป็นสิ่งที่ต้องมองแบบองค์รวม และที่สำคัญ คิด..แล้วต้องทำทันที เพราะทุกขณะเวลาที่ผ่านมา คือ ค่าเสียโอกาสของประเทศ
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,810 วันที่ 18 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2565