‘Disruptor’ ที่แท้จริงขององค์กรยุคปัจจุบัน

08 พ.ย. 2565 | 11:05 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2565 | 16:14 น.

ผู้นำวิสัยทัศน์ ธนภัทร ศรีบุญเรือง Corporate Communication Manager ของ IPG Mediabrands Thailand

การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลทำให้เราต้องเร่งปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง โดยที่เราจะต้องเป็น “Disruptor” แทนที่จะถูก “Disrupt” คือ การเป็นผู้คว้าโอกาสทำสิ่งใหม่ที่สามารถต่อยอดและสร้างคุณค่าให้กับองค์กร แทนที่จะถูกองค์กรหรือเทคโนโลยีอื่นเข้ามาแย่งชิงพื้นที่นั้นไป จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่องค์กรจะต้องมองหาโอกาสและปรับตัวให้ทันยุคสมัยอยู่เสมอ

              

ในขณะที่ Generation Z กำลังก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน และกลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจมากขึ้นในอนาคต Generation Z เป็นกลุ่มคนที่เติบโตมาพร้อมกับการพัฒนาของเทคโนโลยี จึงไม่แปลกที่สื่อออนไลน์ได้กลายมาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของกลุ่มคนเหล่านี้ ในด้านของการทำงานพวกเขาไม่ได้แสวงหางานที่ได้รับผลตอบแทนสูงเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

‘Disruptor’ ที่แท้จริงขององค์กรยุคปัจจุบัน

เพราะพวกเขาให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านอื่นด้วยเช่นกัน เช่น สภาพแวดล้อมของการทำงาน ทั้งนี้พวกเขายังมีแนวคิด Growth Mindset ที่พร้อมจะเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ พวกเขาจึงต้องการทำงานที่ทำให้พวกเขามีโอกาสเสริมทักษะใหม่ ๆ และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา

              

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้นั้น ส่งผลให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงานอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ผ่านการทำงานรูปแบบใหม่ที่เราเรียกกันว่า “Work From Home” ที่รูปแบบการทำงานแบบเดิมนั้นถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้พนักงานสามารถทำงานและติดต่อสื่อสารกันได้จากที่อยู่อาศัยของตนเองอย่างไร้ข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่

              

เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับลักษณะการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ถือเป็นสัญญาณเตือนครั้งสำคัญที่ทำให้เราต้องเร่งเรียนรู้และพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงเทรนด์ปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่กำลังให้ความสนใจด้านการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

‘Disruptor’ ที่แท้จริงขององค์กรยุคปัจจุบัน

จึงทำให้บริษัท ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส จำกัด คว้าโอกาสจัดโครงการ “Specialist Allowance” โครงการที่สนับสนุนให้พนักงานได้พัฒนาความรู้และทักษะของตนเองแม้จะต้องนั่งทำงานอยู่ที่บ้านก็ตาม พร้อมรับเบี้ยเลี้ยงพิเศษต่อเนื่องถึง 1 ปี โดยให้อิสระพนักงานเลือกเรียนในด้านที่ตนเองสนใจ ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่ 4 แพลตฟอร์มออนไลน์ คือ Facebook Line TikTok และ Google

 

เพราะแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในช่วงที่คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องกักตัวอยู่ที่บ้านและ Work From Home เพื่อที่จะเสริมสร้างทักษะใหม่ๆ ให้พนักงานสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงาน และผลักดันให้พนักงานเชี่ยวชาญในด้านการใช้สื่อดิจิทัลอย่างแท้จริง

              

เมื่อจำนวนเงินไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่สามารถดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้อีกต่อไป ฉะนั้นการเข้าใจถึงความคิดและความต้องการของพนักงานจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับองค์กรเช่นกัน เพราะนอกจากจะสร้างความพึงพอใจให้กับพนักงานปัจจุบันแล้ว ยังช่วยดึงดูดแรงงานที่มีประสิทธิภาพเข้ามาเป็นกำลังสำคัญของการขับเคลื่อนในอนาคตและทำให้องค์กรก้าวต่อไปได้ไกลยิ่งขึ้น

              

อ้างอิง: https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Gen-Z-11-08-21.aspx

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,832 วันที่ 3 - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565