ถอดบทเรียน “เจ้าพ่อบาวแดง” ถึง “เจ้าสัวเจริญ” พลิกโชห่วยสู่ “ร้านสะดวกซื้อ” ไม่ง่าย

07 ต.ค. 2566 | 08:35 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ต.ค. 2566 | 07:15 น.

แตะเบรค “เจ้าสัวเจริญ” พลิกโฉม “โชห่วย” สู่ร้านสะดวกซื้อ “โดนใจ” ไม่ง่าย ถอดบทเรียน “เจ้าพ่อบาวแดง” กรณีศึกษา “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” เจอทั้งยักยอกทรัพย์ จ่ายเงินช้า ประนามสนั่นโลกโซเชียล

หลังสำนักข่าว Bloomberg ตีข่าว “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี”  มหาเศรษฐีไทย ผู้ก่อตั้งกลุ่ม TCC และอาณาจักร “ไทยเบฟเวอเรจ” เจ้าของเบียร์ช้าง รวมไปถึงเบอร์ลี่ยุคเกอร์ หรือบีเจซี ว่ากำลังเดินหน้าโมเดลธุรกิจใหม่ ด้วยการเปลี่ยนร้านโชห่วยกว่า 3 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ให้กลายเป็นร้านสะดวกซื้อ หรือคอนวีเนียนสโตร์ ที่มี "เซเว่น อีเลฟเว่น"เป็นเบอร์ 1 ของธุรกิจ

ซึ่งภารกิจการพลิกโฉมโชห่วย เดินหน้ารุกร้านสะดวกซื้อครั้งนี้ เป็นหน้าที่ของ “เบอร์ลี่ยุคเกอร์” (BJC) ที่มี “นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล (สิริวัฒนภักดี)” ทายาทคนเล็กของเจ้าสัวเจริญ ซึ่งนั่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บัญชาการ

ก่อนหน้านี้ “ฐาปณี” กล่าวยอมรับว่า การพลิกโฉมร้านโชห่วยให้กลายมาเป็นร้านสะดวกซื้อ ภายใต้ชื่อ “ร้านโดนใจ” นี้เป็นวิสัยทัศน์ของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่มีความมุ่งมั่นในการเข้าไปช่วยพัฒนาผู้ประกอบการ ในท้องถิ่นอย่างร้านโชห่วย ให้สามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้ จึงนำไปสู่การพัฒนาและต่อยอดโครงการเครือข่าย “ร้านโดนใจ” ยกระดับร้านโชห่วยให้มีรูปแบบการบริหาร จัดการ ที่ทันสมัย ตลอดจนมีระบบข้อมูลที่ช่วยในการค้าขายอย่างยั่งยืน

ถอดบทเรียน “เจ้าพ่อบาวแดง” ถึง “เจ้าสัวเจริญ” พลิกโชห่วยสู่ “ร้านสะดวกซื้อ” ไม่ง่าย

โดยริเริ่มทำต้นแบบร้านโดนใจตั้งแต่ต้นปี 2565 ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ด้วยระยะเวลา 1 ปีเศษวันนี้มีร้านโชห่วย เข้าร่วมแปลงโฉมเป็น “ร้านโดนใจ” แล้วจำนวน 1,170 แห่ง บ่งชี้ว่าได้รับความสนใจจากร้าน
โชห่วยมากเช่นกัน

“ฐาปณี” ยังมองว่า ด้วยจำนวนร้านโชห่วยในประเทศไทยที่มีมากกว่า 5 แสนร้านค้าทั่วประเทศ ทำให้เชื่อมั่นว่าจะสามารถแปลงโฉมร้านโชห่วยเหล่านี้ให้มาร่วมเป็นเครือข่ายร้านโดนใจ ได้มากถึง 3 หมื่นร้านค้าภายในปี 2570 โดยบีเจซี จะส่งทีมงานเข้าไปช่วยพัฒนาระบบ POS  (Point of Sale) หรือ ระบบขายหน้าร้าน พร้อมให้ความรู้เรื่องของการจัดวางสินค้า โดยบีเจซี จะดูแลด้านระบบโลจิสติกส์ การตลาด และการบริหารสินค้าให้กับเจ้าของร้าน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าและบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครือไทยเบฟ และบิ๊กซี

ถอดบทเรียน “เจ้าพ่อบาวแดง” ถึง “เจ้าสัวเจริญ” พลิกโชห่วยสู่ “ร้านสะดวกซื้อ” ไม่ง่าย

ทำไม “โดนใจ” ถึงถูกใจโชห่วย

จุดเด่นของ “ร้านโดนใจ” ที่ทำให้ถูกใจโชห่วย ถึงกับยอมพลิกโฉมใหม่ให้ไฉไลกว่าเดิม คือ

1. ร้านโดนใจ ลงทุนตกแต่งร้านให้มูลค่ากว่า 3-7 แสนบาท เพื่อให้สวยงาม น่าเข้า เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำและกลายเป็นลูกค้าประจำ โดนใจจะลงทุนทั้ง 

  •  การตกเเต่งร้าน โครงสร้างร้านให้ได้มาตรฐาน
  • ลงทุนชั้นวางสินค้า เเละจัดรูปแบบสินค้าให้หลากหลายเเละเหมาะสมกับชุมชน 
  • ตู้แช่สินค้า 
  • เครื่องคิดเงินระบบอัตโนมัติ POS 

2. ผู้ประกอบการมีอิสระในการบริหารร้าน สามารถเลือกสินค้าเข้าร้าน ตั้งราคา และจัดโปรโมชั่นได้เอง  

3. กำไร 100% เป็นของเจ้าของธุรกิจ ไม่ต้องแบ่งกำไรให้ใคร

ด้วยโมเดลนี้ ทำให้ “บีเจซี” ตั้งเป้าหมายที่จะมีร้านโชห่วย เข้าร่วมเปลี่ยนเป็น “ร้านโดนใจ” มากถึง 5,000 ร้านในปี 2566 และเพิ่มเป็น 15,000 ร้าน ในปี 2567 ส่วนในปี 2568 เพิ่มเป็น 20,000 ร้าน, ในปี 2569 เพิ่มเป็น 25,000 ร้าน ก่อนที่จะเพิ่มอีก 1 เท่าตัว เป็น 50,000 ร้านในปี 2570

ถอดบทเรียน “ร้านถูกดีฯ” จ่ายเงินช้า ยักยอกทรัพย์  

การประกาศพลิกโฉม “โชห่วย” เป็น “ร้านสะดวกซื้อ” ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ไม่ใช่เจ้าสัวรายแรกที่เดินเกมรุกธุรกิจค้าปลีกโมเดลนี้ เพราะหากย้อนกลับไป ผู้บุกเบิกโมเดลนี้ คือเจ้าสัวสหพัฒน์ “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ตั้งแต่ 15 ปีก่อน จนถึงปัจจุบันที่ใช้ชื่อว่า “108 ช็อป”

ตามด้วยเจ้าพ่อคาราบาวแดง หรือเจ้าสัวเสถียร เสถียรธรรมะ ที่เปลี่ยนโหมด “ร้านโชห่วย” ให้เป็น “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ในปี 2561  และ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ที่ส่ง “แม็คโคร”  ผู้มีสายสัมพันธ์อันดีงามกับบรรดาร้านโชห่วย ให้ผลักดันมาเป็น “ร้านบัดดี้มาร์ท

ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย กับการสร้างเครือข่ายด้วยร้านค้าที่มีอยู่แล้ว อย่าง “โชห่วย” แต่ในความเป็นจริง การพลิก “โชห่วย” ให้เป็น “ร้านสะดวกซื้อ” ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีบทเรียนมากมายที่เกิดขึ้น

ถอดบทเรียน “เจ้าพ่อบาวแดง” ถึง “เจ้าสัวเจริญ” พลิกโชห่วยสู่ “ร้านสะดวกซื้อ” ไม่ง่าย

หนึ่งในบทเรียนสำคัญ คือ กรณี “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” แจ้งความข้อหายักยอกทรัพย์ร้านโชห่วย ในจังหวัดเชียงราย ด้วยเหตุเพราะร้านค้าโอนเงินล่าช้าอย่างต่อเนื่องมากกว่า 80 ครั้ง จาก 130 ครั้ง สต๊อกสินค้าสูญหาย ยอดสินค้าสูงกว่าส่วนแบ่งรายได้ และไม่เพียงพอชำระ เมื่อไม่เป็นไปตามสัญญา จึงยกเลิกแต่ก็ไม่สามารถเข้าไปขนทรัพย์สินออกมาได้ แถมยังถูกแชร์สนั่นโลกโซเชียล  

ซึ่งเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2565 ในครั้งนั้น “เสถียร เสถียรธรรมะ” ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด บอกว่า โมเดลร้านถูกดี มีมาตรฐาน เกิดขึ้นจากการที่เราต้องการแก้ปัญหาของร้านโชห่วยไม่มีเงินทุนในการซื้อสินค้ามาหมุนเวียนและไม่มีองค์ความรู้ในการบริหารจัดการร้านต่างๆ บนวิสัยทัศน์ที่เราต้องการสร้างร้านค้าปลีกโดยชุมชน เพื่อชุมชน

หลักการง่ายๆ คือเราจะเป็นผู้ลงทุนให้ในส่วนของสินค้าทุกชนิด และอุปกรณ์ทั้งหมดภายในร้าน เช่นชั้นวางสินค้า ตู้เย็น เครื่องคิดเงินอัตโนมัติ (POS) ป้ายสินค้า กล้องวงจรปิด ระบบที่ใช้ในการดำเนินการร้านค้า มูลค่าต่อร้านค้าเกือบ 1 ล้านบาท

ส่วนทางเจ้าของร้านจะต้องลงทุนในส่วนของการปรับปรุงร้านค้าให้ได้ตามมาตรฐาน และ เงินค้ำประกันสัญญา 2 แสนบาท ซึ่งทุกคนทราบดีว่าสินค้าและอุปกรณ์ในร้านค้าเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท เมื่อขายสินค้าได้เจ้าของร้านต้องนำส่งรายได้จากการขายสินค้าให้บริษัทในวันทำการธนาคารถัดไปภายในเวลา 21.00 น. และต้องยินยอมให้บริษัทส่งเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าไปนับสต๊อกสินค้า หากมีสินค้าสูญหาย ทางผู้ดำเนินการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ในกรณีที่ร้านค้าไม่นำส่งเงิน เราจะทวงถามและถ้าไม่ส่งเงินเข้ามาเกิน 3 วัน เราจะหยุดส่งสินค้า และวันที่ 4 เราจะส่งจดหมายแจ้งเตือนเป็นหลักที่เราปฏิบัติมาตลอดและกรณีส่วนใหญ่ขอผ่อนผันซึ่งเหตุผลส่วนใหญ่คือนำเงินไปหมุนหรือนำไปใช้หนี้นอกระบบก่อน

ถอดบทเรียน “เจ้าพ่อบาวแดง” ถึง “เจ้าสัวเจริญ” พลิกโชห่วยสู่ “ร้านสะดวกซื้อ” ไม่ง่าย

“ที่ผ่านมามีเจ้าของร้านที่เปิดร้านถูกดี มีมาตรฐานที่เปิดร้านกับเราและมีปัญหาเรื่องนำส่งเงินช้า ส่วนใหญ่70-80% จะเข้าสู่กระบวนการผ่อนผัน ซึ่งบริษัทให้ผ่อนผันมาโดยตลอดเพราะหากมีการปิดร้านคนที่เสียหายเยอะที่สุดคือบริษัท เงินค้ำประกันสัญญา 200,000บาทที่เจ้าของร้านต้องจ่ายนั้นไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในร้าน

เนื่องจากทรัพย์สินที่ได้กลับมาไม่สามารถนำไปให้ร้านใหม่นำมาใช้ต่อได้เพราะมีร่องรอยการใช้งานบริษัทจะต้องขายเป็นสินทรัพย์มือสองซึ่งราคาหายไปเกินครึ่ง ส่วนสินค้าที่อยู่ในร้านไม่สามารถนำไปส่งให้ร้านอื่นได้เช่นกัน จำเป็นต้องนำมาขายลดราคาขาดทุนความเสียหายมากกว่า 5 แสนบาทเป็นอย่างน้อย”

โมเดลพลิกโฉม “โชห่วย” เป็น “ร้านสะดวกซื้อ” จึงไม่ง่ายจริงๆ