ในยุคโควิด “Telemedicine” กลายเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทอย่างมากในการจัดการระบบเฮลท์แคร์ให้เข้ารูปเข้ารอยและทำให้ไทยสามารถผ่านวิกฤติโรคระบาดมาได้ ภาพของการลงทุนและพัฒนาแพลตฟอร์ม “Telemedicine” จึงผุดขึ้นยิ่งกว่าฟาร์มเห็ด จนนักวิเคราะห์ถึงขั้นประเมินว่าในอนาคตอันใกล้ “Telemedicine” อาจเปลี่ยนบทบาทจากผู้ช่วยโรงพยาบาลขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของธุรกิจโรงพยาบาลทีเดียว
อย่างไรก็ตามหลังจากโควิดจบลงภาพของ “Telemedicine” กลับไม่เซ็กซี่เหมือนเดิม หลายบริษัทพับโปรเจ็กต์หรือลดการลงทุนลงพร้อมๆกับแพลตฟอร์มต่างประเทศที่พากันเก็บกระเป๋ากลับบ้านไปตามๆกัน
แต่ไม่ใช่สำหรับ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ที่ยังคงมั่นใจว่า “Telemedicine” เป็นธุรกิจที่มีอนาคตและสามารถเปลี่ยน landscape ของการให้บริการทางการแพทย์ของไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก
หลังจากวางโรดแมปปั้น “Telemedicine” อย่างเข้มข้นตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ล่าสุด THG ได้มือดีอย่าง “สุชญา แสงหาญ” ที่พกประสบการณ์ชีวิตการทำงานด้าน Telecommunications และ Cyber Security มาเต็มกระเป๋าเข้ามาจัดกระบวนทัพ “ธุรกิจ Telemedicine” ในฐานะ “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทเลเฮลท์ แคร์ จำกัด” โดยใช้เวลาสั้นๆ เพียงแค่ 4 เดือนในการสร้างจัดระบบ Eco System ให้กับ รพ.ในเครือ THG ให้เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายและเป็นแม่ทัพคนสำคัญในการ Transform รพ.ในเครือเข้าสู่ Digital Health Care ได้สำเร็จ
“สุชญา” ย้อนเบื้องหลังการเข้ามาบริหาร “บริษัท เทเลเฮลท์ แคร์ จำกัด” ให้กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ฟังว่า การมีขึ้นของโควิดทำให้ไลฟ์สไตล์ หรือ ชีวิตความเป็นอยู่ของคนเปลี่ยนไปและยอมรับการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องเจอตัวต่อตัวหรือ Personal relationship แต่เปิดใจใช้ Telecommunication ในการสื่อสาร ให้หรือรับบริการ ทำให้แพลตฟอร์ม Telemedicine มีความแพร่หลายอย่างรวดเร็วในช่วงโควิด
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหลังจากโควิดจบลงคนกลับมาใช้ชีวิตปกติทำให้แพลตฟอร์มเหล่านั้นตายลง และแพลตฟอร์มต่างชาติเก็บกระเป๋ากลับบ้านไปเยอะ แต่ THG ยังคงลงทุนและขยายเซอร์วิสที่ “คนอื่นทำแล้วเจ๊งเพราะโควิดจบ” เพราะยังเห็นโอกาสและการเติบโตที่จะได้จากการให้บริการนี้
“เราไม่ได้มองแค่เรื่องของโควิดเพราะเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และไม่ใช่ Real Factor ที่จะทำให้ธุรกิจยั่งยืน แต่การสร้าง Eco System ด้วยระบบ Telemedicine จะทำให้เกิด healthcare ecosystem แบบใหม่ขึ้น และนำมาใช้ปิดจุดบอดของไลฟ์สไตล์ของการใช้ชีวิตของคน Gen ใหม่ ซึ่งบางครั้งเจ็บป่วยเล็กน้อยแต่ไม่ไปโรงพยาบาลเพราะจะต้องเสียเวลาอย่างน้อยครึ่งวัน ในขณะที่การรับการรักษาผ่าน Telemedicine ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถปรึกษาคุณหมอขณะที่ทำงานในออฟฟิศหรืออยู่ที่บ้านได้ รวมถึงสามารถรอรับยาที่จัดส่งมาส่งถึงมือ”
นอกจากนี้ยังขยายการให้บริการโรงพยาบาลในเครือ THG โดยเชื่อมการให้บริการการแพทย์พื้นฐานจากที่บ้านสู่การบริการทางการแพทย์ที่ซับซ้อนที่โรงพยาบาล และ monitor อาการผู้ใช้บริการหลัง discharge โดยคุณหมอผู้ให้การรักษา อีกทั้งยังมีคุณหมอจากแต่ละโรงพยาบาลในเครือที่จะเข้ามาให้บริการลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นเคสใหม่ๆ หรือเคส Follow up ก็ตาม พร้อมกับวางระบบ Telemedicine สร้างการสื่อสารระหว่างแพทย์แบบ D2D หรือ Doctor to Doctor กับแต่ละ รพ. ในเครือโดยให้คุณหมอหรืออาจารย์หมอที่มีชื่อเสียงในกลุ่มโรงพยาบาลในเครือมาออนบอร์ดบนแพลตฟอร์ม
ต่อมามีการขยายในส่วนของ “พรีเมียร์ เฮลท์ คลินิก” เป็นการขยายคลินิกไปตามปั๊มน้ำมันพีทีทีสเตชั่น ซึ่งเดิมมีพยาบาลให้บริการกายภาพ แต่ตอนนี้มีการทรานส์ฟอร์มให้สามารถรักษาโรคทั่วไปได้ ด้วยการนำ Telemedicine เข้าไปให้ลูกค้าสามารถปรึกษาตรงมาหาคุณหมอได้ และสามารถสร้าง synergy กับบริการ Mobile service บริการทางการแพทย์ถึงบ้านของพรีเมียร์ เฮลท์ คลินิก
นอกจากนี้ก็ได้ซัพพอร์ตบริษัทอื่นๆ ในเครือ THG เช่น “บริษัท ธนบุรี เสริมรัฐ จำกัด” ที่ทำธุรกิจบริหารศูนย์หัวใจ ทางเทเลแฮลท์ แคร์ ก็ได้เข้าไปวางระบบมอนิเตอร์หลังการรักษาผ่าตัดเพื่อติดตามผลและเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทางโรงพยาบาลสามารถส่งรถพยาบาลไปรับได้เลย หรือ Horizon Rehab Center ศูนย์ให้คำปรึกษาฟื้นฟูภาวะเสพติดทุกชนิด บริษัทฯ ก็เข้าไปทำระบบมอนิเตอร์ติดตามอาการ ให้คำแนะนำ นัดหมายกับผู้ใช้บริการชาวต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะรวมถึงการมอนิเตอร์ผู้ป่วยสูงอายุ การใช้บริการ Retirement หรือ wellness ต่างๆ ใน “จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้”
“Opportunity ที่ทำให้เรากระโดดเข้ามาในธุรกิจนี้ เรื่องแรกคือเราเข้ามาสร้าง Eco System ทางด้านของ Healthcare สองเราเข้ามาช่วยเสริมความต้องการของโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่การยึดติดกับกลุ่มลูกค้ากลุ่มเดียวทำให้การสร้างยอดรายได้ที่สูงเป็นไปได้ยาก เพราะคนไม่ได้เจ็บป่วยทุกวัน แต่คนที่ดูแลสุขภาพและออกกำลังกายแทบจะไม่เจ็บป่วยจากโรคทั่วไปมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่สนใจสุขภาพและความสวยความงามตลอดเวลา ไม่มีใครอยากสวยปีละครั้ง”
หลังจากเห็นโอกาสของกลุ่มคนรักสุขภาพและความงามแล้ว “สุชญา” ได้วาง 2 บริการภายใต้แอปพลิเคชัน Prompt Care ขึ้นมาคือ Tele-wellness เป็นบริการด้าน wellness ไม่ว่าจะเป็น Personalization เรื่องวิตามินสำหรับแต่ละบุคคลจัดส่งถึงบ้าน บริการดริปวิตามินผ่านรถโมบายที่ถูกต้องตามกฎหมายไปให้บริการถึงบ้านของลูกค้า
“และการปรึกษาเภสัชกรออนไลน์ เพื่อรองรับกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่เยอะ ไม่มีประกันหรือไม่อยากจ่ายค่าหมอที่สูง แต่ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการใช้ยาอะไร”
เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า Business Model ของ “เทเลเฮลท์ แคร์” จับกลุ่มคนครบทุกกลุ่มเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเจ็บป่วยมีเงิน กลุ่มเจ็บป่วยเล็กน้อยที่ไม่ต้องการเสียค่าหมอ และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่ดูแลสุขภาพตัวเอง นอกจากนี้ยังมีแผนจะขยายในส่วนของ มาร์เก็ตเพลส สำหรับจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นยา อาหารเสริมต่างๆ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับใช้ภายในบ้านในช่วงปลายปีนี้
“ช่วงแรกที่เข้ามาเราดูแล้วว่าธุรกิจนี้ไปได้ยาก เราจึงต้องปรับ Business Model ใหม่ทั้งหมดจาก B2C ที่เรายังไม่มีความแข็งแรงเพียงพอเลยแม้แต่นิดเดียวและซึ่งการจะทำให้เกิดต้องใช้เงินมหาศาลในการทำ Marketing แต่เราไม่มีเงินเยอะขนาดนั้น จึงต้องเริ่มได้ปรับ Business Model มาเป็น B2B และขยายไป B2B2C ซึ่งโมเดลนี้จะทำให้เราสามารถเทิร์นรายได้กลับมาได้เร็วมากขึ้น ตอนนี้เข้าไปจับกับธุรกิจขายตรงและองค์กรใหญ่ๆ ที่มีลูกค้าหลักพันคนขึ้นไป
ดังนั้นคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถ Engaged User เข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มได้ 3 แสนคน และ 1-2 ล้านคนภายในต้นปี 2567 ธุรกิจนี้จะเป็นอีกหนึ่งจุดที่ช่วยดึงกลุ่มลูกค้าที่ไม่ใช่ฐานลูกค้าเดิมของเครือ THG เข้ามาเป็นลูกค้าของเครือโรงพยาบาลของเรา สิ่งที่เราทำเป็น Indirect Marketing ทำให้ลูกค้าใหม่ๆ รู้ว่า THG มีความ Advance และมีความเป็นผู้นำในการให้บริการด้านสุขภาพ ในอนาคตเราวางเป้าสัดส่วนธุรกิจฝั่ง B2B ประมาณ 40% และ B2B2C ประมาณ 60%”
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,928 วันที่ 5 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2566