กกร.ขอพบ “นายกฯ” บทสรุป “บริหารฉุกเฉินแบบปกติ”

11 ส.ค. 2564 | 05:50 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ส.ค. 2564 | 13:29 น.

บทบรรณาธิการ

ยกระดับขึ้นอีกขั้น เมื่อคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ยื่นหนังสือขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ของรัฐ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหนักเวลานี้
 

3 ประเด็นเร่งด่วนที่เรียกร้องคือ 1.ขอให้ปลดล็อกเปิดเสรีการนำเข้าวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 2.ขอรัฐอุดหนุนค่าใช้จ่ายชุดตรวจคัดกรองเร็ว ATK เพื่อให้ใช้ได้อย่างทั่วถึงต่อเนื่อง และ 3.เปิดทางให้เอกชนร่วมผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ เพิ่มเติมจากองค์การเภสัชกรรม (อ.ภ.)
 

ความเคลื่อนไหวนี้ต่อเนื่องจากผลประชุมกกร.เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 จากคาดการณ์เดิมโตได้ที่ 0-1.5% เป็นไม่เติบโตจนถึงอาจติดลบ 0.5% เป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยปีที่ 2 
 

หลังรัฐบาลไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด ยอดผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น แม้จะขยายทั้งเวลาและพื้นที่ล็อกดาวน์ เป็นถึงสิ้นเดือนสิงหาคมใน 29 จังหวัด กระทบกับเศรษฐกิจโดยตรง แผนเปิดประเทศยากขึ้น เกิดลูกหนี้ภายใต้มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 1.89 ล้านบัญชี ยอดเงินประมาณ 2 ล้านล้านบาท ที่เสี่ยงจะเกิดหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) เสถียรภาพของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยง หนี้ครัวเรือนสูงกว่า 90% ต่อจีดีพี

ตอกย้ำด้วยตัวเลขดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนก.ค. 2564 ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 78.9 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และค่าต่ำสุดในรอบ 14 เดือน ส่วนดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ก็ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 89.3 จากระดับ 90.8 ในเดือนมิ.ย.2564 สะท้อนผู้ประกอบการกังวลอนาคต โดยเฉพาะการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรม หากไม่สามารถควบคุมได้จะกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออก การลงทุนในเครื่องจักรกล การผลิตในรอบต่อไปที่ชะลอลง ส่งผลถึงการผลิตในระยะถัดไปที่จะปรับตัวลดลง 
 

สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค.2564 ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย พบดัชนีปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ลดจากระดับ 37.3 ในเดือนก่อนหน้า ลงเหลือ 35.5 อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 274 เดือน หรือ 22 ปี 10 เดือน นับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนต.ค.2541 เป็นต้นมา และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในอนาคต (ใน 6 เดือนข้างหน้า) ก็ปรับลดจากระดับ 49.2 ลงมาอยู่ที่ระดับ 46.7 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อีกเช่นกัน
 

ทั้งที่เมื่อ 21 ก.ค.2564 นายกฯเพิ่งประชุมร่วมกับ 40 ซีอีโอ ซึ่งเป็นผู้นำองค์กรธุรกิจของประเทศ ซึ่งตัวแทนภาคเอกชนสะท้อนปัญหาและข้อเสนอแนะมาตรการควบคุมการระบาดเชื้อโควิด-19 รวมถึงแนวทางเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจธุรกิจไปแล้ว และนายกฯขอให้เอกชนเร่งช่วยจัดหาวัคซีนทางเลือกมาเพิ่มเติมจากที่รัฐจัดหาโดยด่วน 

พร้อมมอบหมาย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีพลังงานและรองนายกฯ เป็นหัวหน้าทีม แต่พอลงมือปฏิบัติก็พบอุปสรรคจากระเบียบข้อกำหนด “ปกติ” ของระบบราชการ จนต้องวนกลับมาขอให้นายกฯปลดล็อกอีกรอบ  
 

เป็นบทสรุปชัดเจนของการบริหารจัดการเชื้อโควิด-19 ที่เป็นสถานการณ์วิกฤติ ด้วยกลไกการบริหารราชการ “ฉุกเฉินแบบปกติ” ผลลัพธ์จึงเป็นอย่างที่เห็น