COVID-19 กำลังขับเคลื่อนเรา เข้าสู่โลก Metaverse (จบ)

14 ส.ค. 2564 | 06:32 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ส.ค. 2564 | 13:39 น.

ผู้นำวิสัยทัศน์ สุดาภรณ์ โอบอ้อม เจ้าหน้าอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กร ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย

ในขณะที่การแพร่ระบาด COVID-19 ได้เร่งขับเคลื่อนมนุษย์ เข้าสู่โลก Metaverse แต่ก็ยังมีช่องว่างขนาดใหญ่ที่ต้องเติมให้เต็มก่อนที่เราจะสามารถเรียกแพลตฟอร์มเหล่านี้เป็น Metaverse ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์แบบ โดยมี 4 สิ่งที่ผู้เขียนนึกออกในเวลานี้ คือ

 

1. การสร้างประสบการณ์ร่วมกันอย่างต่อเนื่องในวงกว้าง และมีความเสถียร: สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ อันดับแรกคือ มนุษย์กว่า 7,000 ล้านคนบนโลกนี้ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียม และตัวเทคโนโลยีเองสามารถรองรับการความต้องการใช้งานของมนุษย์ได้แบบไม่มีขีดจำกัด และไม่สะดุด

 

ยกตัวอย่างเช่น 12 ล้านคน สามารถเข้าชมคอนเสิร์ตบนแพลตฟอร์มออนไลน์พร้อมกันได้ เด็กในพื้นที่ห่างไกล ในทวีปแอฟริกา สามารถรับชมการปล่อยกระสวยอวกาศ ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกาพร้อม ๆ กับคนเป็นล้าน ๆ คนทั่วโลก และยังโต้ตอบพูดคุยผ่านกรุ๊ปแชทได้

 

2. การสร้าง อินเตอร์เฟส (Interface) ที่เข้าถึงได้ง่าย: แป้นพิมพ์และเมาส์ จะกลายเป็นขยะดิจิทัล หน้าจอทัชสกรีน จะกลายเป็นความล้าหลัง อินเตอร์เฟสแบบสามมิติ อาจไปถึงการความคุมสิ่งต่าง ๆ โดยใช้จิตและความนึกคิด คือสิ่งที่ผู้ผลิต และนักพัฒนาเทคโนโลยีจะต้องประดิษฐ์ขึ้นมาให้ได้

COVID-19 กำลังขับเคลื่อนเรา เข้าสู่โลก Metaverse (จบ)

เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ทุกคน รวมทั้งผู้มีความบกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวด้วย การไปถึงจุดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การทำให้การควบคุมเหล่านั้นใช้งานง่าย เป็นเรื่องยากกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้สำหรับมนุษย์

 

3. การสร้างเทคโนโลยีที่ตอบสนองต่อความสนใจทั้งหมดของมนุษย์: เราจะเรียกว่า โลก Metaverse ได้ ก็ต่อเมื่อความสนใจและความต้องการของมนุษย์ทุก ๆ ชั่วขณะ ได้รับการตอบสนองด้วยเทคโนโลยี ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถตอบอีเมล ขณะดูคอนเสิร์ต

 

และพูดสั่งอาหารออนไลน์บนหน้าอินเตอร์เฟสเดียวกันได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องสวมแว่น AR หรือต้องมีอุปกรณ์รองรับ เช่น Google Assistant, Siri และ Alexa ในโลก Metaverse อุปกรณ์เดียวสามารถแบ่งหน้าอินเตอร์เฟส หรือฟังก์ชั่นได้หลายอย่างในเวลาเดียว

 

4. การสร้างระบบนิเวศ ให้หลายแพลตฟอร์มเชื่อมต่อกันอย่างไม่สิ้นสุด: การสร้างระบบนิเวศ อาจเป็นสิ่งที่ยากที่สุด ในการเคลื่อนมนุษย์เข้าสู่โลก Metaverse แต่การสร้างระบบนิเวศที่สามารถเชื่อมต่อทุกแพลตฟอร์ม จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ที่จะทำให้ทุกอย่างในโลก Metaverse ล้ำกว่าระบบ Internet of Things

 

เพราะทุกแพลตฟอร์มมีระบบนิเวศของตัวเอง และเมื่อทุกระบบนิเวศรวมกันจึงกลายเป็นโลก Metaverse โดยที่ต้องไม่มีบริษัทหรือประเทศใดเป็นเจ้าของหรือควบคุม ใช่… ในที่สุดจะมียักษ์ใหญ่ของ Metaverse ที่ครองบางภาค แต่ผู้ควบคุมรายใหญ่จะตระหนักได้เองว่า พวกเขาจะไม่สามารถครอบครองทั้งระบบนิเวศ หรือทั้งโลก Metaverse

 

แม้ COVID-19 กำลังขับเคลื่อนเรา เข้าสู่โลก Metaverse แต่ดูเหมือนหนทางยังอีกยาวไกล โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีที่ยังต้องเร่งพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ และไม่ใช่เพียงเทคโนโลยีที่เราต้องพัฒนาเท่านั้น มนุษย์ทุกคนก็ต้องพัฒนาตัวเองด้วย เพื่อเปิดรับและทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโลก Metaverse ให้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เพียงภาพยนตร์ไซไฟ หรือนวนิยายวิทยาศาสตร์

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,704 วันที่ 12 - 14 สิงหาคม พ.ศ. 2564