ระฆังยกสุดท้ายดังขึ้นแล้ว

31 ส.ค. 2564 | 05:40 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2564 | 12:40 น.

บทความพิเศษโดย : สมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ก่อนอื่นต้องเรียนว่า ตามหัวข้อที่ผมจะพูดถึงในวันนี้เป็นเรื่องเศรษฐกิจล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองแบบยุ่งตายห่าอยู่นะครับ ผลกระทบที่ก่อให้เศรษฐกิจทุกภาคส่วนกระทบอย่างหนักในวันนี้ และจะเห็นภาพที่หนักยิ่งขึ้นๆ ในอนาคตอันใกล้นั้น ไม่ได้มาจากการระบาดของโควิดอย่างเดียว แต่มันเกิดจากปัจจัยที่เป็นเรื่องร้ายทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศตามที่ท่านทั้งหลายรู้ดีกันอยู่แล้ว 

เรื่องภายในมีตั้งแต่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาอยู่กับการท่องเที่ยวและการส่งออกมากเกินไป โครงสร้างของเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำของรายได้สูง โครงสร้างที่สถานการณ์คลังของประเทศมีแต่ความเปราะบาง และการเดินหน้าของประเทศที่ถูกกดดันจนบิดเบี้ยวด้วยความวุ่นวายทางการเมืองที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาเพื่อสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งด้านเศรษฐกิจได้แต่อย่างใดมาร่วม 10 ปีแล้ว ส่วนปัจจัยภายนอกนั้นที่เห็นชัดๆก็คือ สงครามการค้าโลกที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศสหรัฐและจีน ตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว และได้ขยายลามไปกว้างจนระบบการค้าโลกได้เปลี่ยนจากเสรีเป็นกีดกัน ซึ่งทำให้ประเทศกำลังพัฒนาเล็กๆอย่างประเทศไทยต้องโดนกระทบอย่างรุนแรงไปด้วย

ผลกระทบที่ร้ายแรง (Disruption) ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในทุกด้าน ผู้รู้ทั้งหลายต่างก็รู้แล้วก็วิเคราะห์กันไป จนกระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาแสดงความเห็นที่ชัดเจนว่า เราเองต้องต่อสู้กับผลกระทบอย่างน้อยอีก 3 ปี จึงจะฟื้นสู่จุดก่อนโควิด ซึ่งจะช้ากว่าประเทศในระดับเดียวกันในภูมิภาคมาก ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่อะไรอื่นแต่มาจากการบริหารจัดการของรัฐบาลไทยที่เชื่องช้า แก้ปัญหาไม่เด็ดขาดและไม่ตรงจุด ยิ่งกว่านั้น ผลงานกลับไม่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับประชาชน มีความเชื่อของสื่อและผู้คนจำนวนไม่น้อยว่า มีคอร์รัปชั่นเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด 

ผลร้ายที่ก่อผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ท่านผู้รู้ส่วนใหญ่ที่กล้าแสดงออกได้พูดกันชัดเจนขึ้นว่า มันเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจแล้ว โดยจะค่อยๆเห็นชัดขึ้นและจะปรากฏชัดเจนไม่เกินกลางปีหน้า ซึ่งจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่หนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งเสียอีก

มาดูกันเป็นเรื่องๆว่ามีอะไรบ้างที่จะหนักหนาจนเราท่านสามารถมองเห็นได้

1. ภาคประชาชนทั่วไป ตามที่ทราบกันดีแล้วว่า วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ประชาชนทั่วไปไม่ได้แร้นแค้นเหมือนคราวนี้ พอได้เงินช่วยเหลือและข้อแนะนำจาก IMF เมื่อได้ปฏิบัติตามเขาประเทศก็ฟื้น รากหญ้ามีงานทำและมีรายได้ดีจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น การท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น และการส่งออกก็ดีขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะค่าเงินบาทอ่อนลงเกือบเท่าตัว

แต่วิกฤตครั้งนี้ประชาชนทั่วไปจะเจอทุกข์หนักกว่าวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ด้านการเกษตรก็ไม่ดีขึ้น การว่างงานของประชาชนจะลากยาวไปอีก 2 – 3 ปี รัฐบาลก็จะเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า วิกฤตการคลังของรัฐก็ได้เกิดขึ้นแล้ว รัฐมีแต่ต้องกู้เงินมาใช้สถานเดียว แล้วใครจะช่วยประชาชนระดับรากหญ้าได้ รับรองได้ว่าปัญหาสังคมจะตามมาอีกเพียบ นี่คือปัญหาภาคประชาชน

2. ภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดย่อม (SMEs) และขนาดกลาง โดยที่ภาคการท่องเที่ยวเป็นสาขาใหญ่ที่เศรษฐกิจของไทยต้องพึ่งพา ประมาณ 20 % ของ GDP ในสาขานี้ก็ไม่อาจพึ่งหุ่นยนต์ได้เหมือนสาขาอื่น การจ้างงานสาขานี้จึงมีมากกว่าสาขาอื่นเช่นกัน ผลกระทบจึงไม่ได้เกิดต่อเจ้าของกิจการเท่านั้น แต่ได้กระทบถึงการจ้างงานของผู้คนทั้งประเทศ ถ้าเรามองจากโรงแรมระดับ 5 – 6 ดาว ลงมาถึงร้านขายของข้างถนน ซึ่งถูกทิ้งร้างให้เห็นอย่างชัดเจนมากในเขต กทม 


 

ปรากฏว่าร้านขายสิ่งก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ ร้านผ้าม่าน ร้ายขายอุปกรณ์ไฟฟ้า ฯลฯ โดนกระทบหมด ซึ่งถ้ามองให้ลึกลงไป ก็จะพบว่าบรรดาโรงงานผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องก็โดนกระทบจนต้องเลิกกิจการไปก็มากเช่นกัน 

สรุปแล้ว กล่าวได้ว่าบรรดาธุรกิจขนาดย่อมหรือที่เรียกว่า SMEs ทั้งประเทศ ต่างก็อยู่ในภาวะที่ย่ำแย่และเจ๊งไปมากต่อมาก การซวนเซหรือล้มไปของ SMEs มันเป็นโดมิโน่ไปแล้ว ซึ่งภาวการณ์เช่นนี้ได้เกิดกับทั้งธุรกิจ SMEs และขนาดกลางไปพร้อมกัน
ผลกระทบไม่ได้มีเฉพาะการหดตัว การขาดทุน หรือการต้องเลิกกิจการของธุรกิจเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดการว่างงานในวงกว้าง และที่ร้ายหนักก็คือรัฐจะเก็บภาษีจากพวกที่โดนกระทบไม่ได้ไปอีก 3 – 4 ปี แม้ว่าจะพอพยุงตัวให้ฟื้นได้ในปีหน้า และบางรายอาจทำกำไรได้ในปีโน้น แต่โดยที่เขาต้องประสบภาวะขาดทุนมา 2 – 3 ปีก่อนหน้า เขาจึงสามารถนำผลขาดทุนย้อนหลัง 3 ปี มาหักภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ รัฐก็จะไม่ได้ภาษีจากพวกโดนกระทบเหล่านี้เลย อย่างน้อยในอีก 2 ปีข้างหน้า

3. ภาครัฐ ภาครัฐของไทยตอนนี้ต้องง่วนอยู่กับการหยุดยั้งการระบาดของโควิด 19 ซึ่งในตอนนี้มีการคาดการณ์ว่าได้ถึงจุดสูงสุดแล้ว และจะลดน้อยลงจนเห็นได้ชัดในปลายกันยายนนี้หรืออย่างช้าจะอยู่ในระดับที่รับได้ในกลางเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นเวลาที่ท่านนายกรัฐมนตรีจะทำการเปิดประเทศ แม้นว่าจะจริงตามที่คาดการณ์ แต่อย่าคิดว่าจะพ้นทุกข์ หรือจะหลุดจากการทุกข์ทรมานง่ายๆ ถ้าเป็นคนไข้ที่นอนซมตัวซีดเซียวอยู่ในโรงพยาบาล ก็อย่าเพิ่งรีบเก็บเสื้อผ้าข้าวของกลับบ้านนะครับ เพราะปีหน้าอาจต้องเข้าห้องไอซียูก็เป็นไปได้ เพราะถึงตอนนี้แม้นจะเอาโควิดอยู่ แต่ภาวการณ์ทางเศรษฐกิจภายภาคหน้าไม่ดีขึ้นแน่ มีแต่จะยิ่งเลวร้ายลงไปอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตอนนี้ขอให้คณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นรัฐบาลกุมบังเหียนของประเทศ ลองหันดูรอบตัวให้ชัดว่าสิ่งที่อยู่รอบตัวท่านยังดูดีอยู่หรือ ดูแล้วอย่าอารมณ์เสีย ใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ต้องตกอยู่ในสภาวะนี้เหมือนกัน

เรื่องแรกที่จะเห็นหนักขึ้น คือ ประชาชนที่ยิ่งแร้นแค้นหนักกว่าเดิม แม้โควิดจะจางหายจนคนไทยยอมรับและสามารถอยู่ร่วมได้แล้วก็ตาม แต่ความแร้นแค้นของคนที่เพิ่มสะสมมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถแก้ไขได้ชั่วข้ามปี หนี้ครัวเรือนที่มีถึง 90 % ของ GDP ที่คิดว่าจะแก้เพียง 6 เดือน ให้แก้ไปอีกสัก 6 ปี ก็แก้ไม่ได้ ปีหน้าการเงินของภาครัฐจะยอบแยบที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตปี 2540 และของภาคธนาคารก็จะยิ่งระมัดระวังตัวเพราะถูกกดดันมากขึ้น แล้วจะเอาอะไรไปแก้หนี้ครัวเรือน

เรื่องที่สองที่จะเห็นการโซซัดโซเซอย่างต่อเนื่องในปีหน้า คือ ธุรกิจ SMEs ตอนนี้เห็นกันชัดว่าล้มกันระเนระนาด ก็ได้รับความช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะชำระหนี้ยาวนานทั้งจากธนาคารชาติและจากรัฐบาล แต่ไม่ใช่ส่วนใหญ่จะลุกขึ้นได้ ดีไม่ดีปีหน้าอาจจะมีผู้ที่ต้องล้มลงมากขึ้นไปอีก ทั้งนี้เพราะการบริโภคภายในประเทศอ่อนตัวยอบแยบ ยากที่จะพลิกฟื้นในปีสองปี เพราะหนี้ครัวเรือนสูงมากเกินตัว นี่ยังไม่รวมหนี้นอกระบบอีกมากมาย คนระดับล่างไม่มีโอกาสจะเพิ่มการบริโภคแม้จะหิวโซ

บางท่านอาจเห็นว่าการส่งออกเริ่มดีขึ้นอย่างมากแล้ว อันนี้ก็เป็นภาพลวงตาของตัวเลขที่ทำให้บางคนใจพองโต แต่จริงๆที่เพิ่มเป็นบวก 2 หลักในบางเดือนนั้น เพราะเป็นการเพิ่มจากช่วงก่อนที่ติดลบลึกมากกว่า อย่าลืมว่า เรื่องการส่งออกนั้นเดิมเรากลัวจีน จนประเทศไทยต้องหันมาผลิตชิ้นส่วนของสินค้า ที่เรียกว่า Supply Chain เป็นหลัก แต่เดี๋ยวนี้ปรากฏว่าเมื่อพูดถึงการส่งออก พ่อค้าไทยกลับกลัวเวียดนามซึ่งอยู่ใกล้ไทยนี้เอง สรุปแล้ว การส่งออกสำหรับประเทศไทยมันเป็นอะไรที่ยากอยู่ตลอดเวลา

เรื่องสุดท้ายที่จะเห็นวิบากกรรมด้านการคลังภาครัฐ คือ ภาวะที่รัฐบาลจะไม่สามารถจัดเก็บภาษีให้ได้ใกล้เคียงกับปีก่อนการระบาดของโควิด และภาวะที่รัฐบาลจะไม่สามารถลดรายจ่ายในงบประมาณแผ่นดินลงได้ เรื่องรายได้ของรัฐบาลนั้นเป็นวิบากกรรมของรัฐบาลภายใต้ผู้นำท่านนี้มานานแล้ว ที่ทำการลดภาษีแบบไม่ยั้งคิด 

ความจริงก็คือ ผู้นำรัฐบาลนี้ไม่เคยรู้จักและสนใจเรื่องภาษี เท่านั้นยังไม่พอยังคิดใช้ภาษีเป็นเครื่องมือของ “นโยบายประชานิยม” ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นภาษีที่เพิ่งทำคลอดเสร็จใหม่ รัฐบาลก็จับมาใช้เป็นนโยบายประชานิยม เพราะรู้กันดีว่าคนไทยทั้งจนและรวยต่างก็ไม่ชอบเสียภาษี ด้วยการลดอัตราในพระราชบัญญัติที่ต้องเสียลง 90 % และให้เก็บจริงแค่ 10 % ตั้งแต่ปีภาษี 2563 จนถึงขณะนี้ และเมื่อมาเจอกับกรรมใหม่ที่เกิดจากโควิด 19 จนคนและธุรกิจต้องล้มตายเป็นใบไม้ร่วง ทำให้รัฐขาดภาษีที่ควรจะเก็บได้อีกมากในอนาคต แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาบริหารประเทศกัน ลืมเสียเถอะเรื่องวินัยการคลัง และเลิกพูดเสียทีเถอะเรื่อง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน 

ส่วนวิบากกรรมด้านรายจ่ายนั้น เกิดจากการแสร้งไม่รู้เรื่องในภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของภาครัฐที่มีแต่สูงขึ้นทุกวัน นับตั้งแต่หนี้สาธารณะที่รัฐต้องจ่าย และบางรายการที่รัฐค้ำ ยิ่งสมัยผู้นำคนนี้ท่านได้สร้างหนี้ไว้แยะมาก ก่อนท่านเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีปีงบประมาณ 2557 วงเงินกู้ขาดดุลงบประมาณประจำปีไม่เกิน 300,000 ล้านบาท แต่ 7 ปีที่ผ่านมา ในปีงบประมาณ 2564 เพิ่มเป็น 736,000 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมเงินกู้ตามพระราชกำหนด 2 ครั้ง รวมกัน 1.5 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะต่อ GDP เคยต่ำแค่ 41 – 43 % ในช่วง 5 ปีที่แล้ว ตอนนี้กำลังจ่อถึง 60 % เชื่อแน่ว่าจะสูงเป็น 65 % ในอีกสองปีข้างหน้า นอกจากรัฐบาลต้องใช้หนี้ในอนาคตเพิ่มมากแล้วยังมีรายจ่ายที่จำเป็นที่เพิ่มขึ้นทุกปีอีก เช่น รายจ่ายค่าบำเหน็จบำนาญ รายจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามโครงการประกันสังคม และรายจ่ายช่วยเหลือคนจนและผู้ยากไร้ ซึ่งจากนี้ไปตัวเลขรายจ่ายที่จำเป็นเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเร็วมาก และจะมีแต่สูงขึ้นทุกปี

สรุปแล้ว วิบากกรรมด้านการคลังภาครัฐที่จะก่อผลกระทบในปีหน้าจะมากเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด ใครอยากมาเป็นรัฐบาลสมัยหน้าก็ต้องเตรียมเผชิญกับวิบากกรรมนี้ให้ดีก็แล้วกัน