ก่อนที่จะเปิดโครงการ ภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ใช้เวลาเตรียมงานเตรียมการไม่น้อยกว่าสามเดือน ต่างก็ได้ร่วมแรง ร่วมใจ และร่วมคิด เพื่อทำให้โครงการนี้เกิดให้ได้ การปั้นโครงการนี้ขึ้นมาทุกภาคส่วนล้วนเข้าใจดีว่าไม่ใช่การทดลอง แต่เป็นการส่งเสริมและผลักดันร่วมกันอย่างจริงจังเพื่อให้เป็นโครงการนำร่องในการพลิกผันการท่องเที่ยวให้ฟื้นกลับมา เพื่อจะได้นำไปทำในจุดเป้าหมายการท่องเที่ยวอื่นอีก ซึ่งผ่านไปแค่หนึ่งสัปดาห์เท่านั้น ทางฝั่งเกาะสมุยก็เริ่มรับลูกที่จะเปิดโครงการ สมุยพลัสโมเดล (Samui Plus) ในวันที่ 15 กรกฎาคม นี้ ซึ่งจะรวมพื้นที่ของเกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่าที่สวยงามทางฝั่งตะวันออกเข้าด้วยกัน
หลังจากมีการเปิดภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ขึ้นมาแล้ว ผมได้รับคำถามจากเพื่อนๆหลายคนว่า ภูเก็ตจะฟื้นแล้วใช่ไหม น่าอิจฉาจังที่ภูเก็ตมีทิวทัศน์และธรรมชาติที่สวยงาม สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ก่อนใครอื่น เมื่อผมถามเพื่อนกลับไปว่ารู้ได้อย่างไรว่าโครงการนี้จะดี ก็ได้รับคำตอบว่าก็ฟังข่าวจากสื่อส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งจากข่าวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ขยันออกข่าวด้วย
ถ้าโครงการนี้จะได้ผลดีจริงอย่างที่เพื่อนผมเข้าใจ และถ้าโครงการนี้จะดีจริงตามที่การท่องเที่ยวได้ออกข่าว ผมคงจะไม่เขียนบทความชิ้นนี้ออกมาแน่ โดยที่ผมเองเป็นคนภูเก็ตที่ได้สัมผัสกับการท่องเที่ยวที่ภูเก็ตมาไม่น้อยกว่า 40 ปีแล้ว จึงได้กลิ่นของความไม่น่าจะผลิดอกออกผลอย่างที่ภาครัฐได้วาดฝันไว้
ตรงกันข้าม สิ่งที่ผมได้มองลึกลงไปแม้ว่ายังเป็นขั้นเพิ่งเริ่มต้นของโครงการก็ตาม แต่เห็นได้ชัดว่าความสำเร็จที่ผู้นั่งอยู่ในหอคอยงาช้างคาดคิด และที่นักธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวคาดหวัง จะไม่เป็นไปตามนั้นอย่างแน่นอน เพราะเหตุใดหรือ โปรดติดตามผมไปอีกหน่อยครับ
ประการแรก หน่วยงานที่รับผิดชอบในการกำหนดเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวมีแนวความคิดที่เป็นลบต่อการพลิกฟื้นการท่องเที่ยวตั้งแต่เริ่มต้น กล่าวคือได้วางกรอบความคิดที่จะป้องกันการติดเชื้อจากนักท่องเที่ยวอย่างรัดกุมมากเกินไป โดยได้กำหนดให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับใบอนุญาตให้เข้าภูเก็ตที่เรียกว่า Certificate of Entry หรือ COE แล้ว และได้เข้าพักที่โรงแรมแล้ว จะต้องผ่านระบบตรวจสอบและการติดตามพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวมากมาย อย่างเช่นระบบ Daily Scan Sandbox ที่ต้อง Scan QR Code รายวันกับโรงแรมที่พักเพื่อส่งข้อมูลเข้าระบบของหน่วยงานการท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากทำให้นักท่องเที่ยวรำคาญแล้ว นักท่องเที่ยวสูงวัยสองคนตายายที่มาเที่ยวกันแต่ละปีจำนวนมากก็จะทำไม่ได้หรือรับไม่ได้ คนธรรมดาอย่างผมจึงไม่เข้าใจว่า โครงการภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์นี้ ประเทศไทยต้องการที่จะจูงใจให้นักท่องเที่ยวรู้สึกอยากมาเที่ยวไทยเหมือนเดิม หรือว่าเราต้องการให้นักท่องเที่ยวเขามาอ้อนวอนขอมาเที่ยวบ้านเรา
ไม่เพียงแต่แนวคิดที่เป็นลบเท่านั้น การกระทำที่เป็นลบก็มีออกมาที่สำคัญคือการกำหนดโดย ศบค. ให้มีการตรวจการติดเชื้อที่เรียกกว่า RT-PCR (Reverse Transcription Polymerase Chain Reaction) กับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มาภูเก็ตถึง 3 ครั้ง ในช่วงที่ต้องอยู่ที่ภูเก็ตอย่างน้อย 14 วัน ครั้งแรกตรวจเมื่อเข้าสนามบินภูเก็ตซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น นักท่องเที่ยวต้องจ่ายค่าตรวจ 2,400 บาท ครั้งที่สองหลังอยู่มา 5 - 6 คืน ตรวจที่ศูนย์ของโรงพยาบาลใกล้โรงแรมที่พัก ต้องจ่าย 2,800 บาท ครั้งที่สามหลังอยู่มา 12 - 13 คืน ตรวจที่เดียวกับครั้งที่สอง ต้องจ่าย 2,800 บาท รวมที่นักท่องเที่ยวต้องจ่ายสำหรับการตรวจ 3 ครั้ง 8,000 บาทต่อคน ถ้าศบค. เข้าใจนักท่องเที่ยวดี การตรวจเช็ค 2 ครั้งหลังนี้น่าจะทำเพียงครั้งเดียวก็พอ
นักท่องเที่ยวเจอแบบนี้ส่วนหนึ่งต้องเปลี่ยนแผนการเดินทาง เพราะเขาผ่านการฉีดวัคซีนมาแล้ว 2 โดส ทำไมต้องตรวจมากครั้งอย่างนี้ และค่าตรวจก็แพงเกินเหตุ ไม่ทราบว่าผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยทราบไหมว่า ค่าเครื่องบินจากเมือง Perth ประเทศออสเตรเลียมาภูเก็ต ราคาไม่เกิน 11,000 บาท และทราบไหมว่าช่วงนี้โรงแรมระดับ 4 ดาว ที่ภูเก็ตคิดค่าห้องพักไม่ถึง 2,800 บาทต่อคืน ทุกอย่างราคาถูกหมด แล้วทำไมมากำหนดให้การตรวจเช็คโควิดของโรงพยาบาลโก่งราคาสูงเกินเหตุกว่าเท่าตัว
ประการที่สอง นักท่องเที่ยวที่ชอบมาเที่ยวเมืองไทยนอกจากจีน ซึ่งประเทศเขายังไม่ยอมให้คนของเขาออกมาเที่ยวในช่วงนี้ จะมีที่สำคัญคือจากประเทศแถบยุโรปและออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นหลัก ซึ่งประเทศเหล่านี้ขณะนี้เขาแทบเลิกใส่แมสกันแล้ว เขากำลังผ่านขั้นตอนของการอยู่ร่วมกับโควิดได้แล้ว แต่สำหรับประเทศไทยทุกคนยังต้องใส่แมส โดยยังมีคนติดเชื้อโควิดรายวันและคนตายเพราะโควิดสูงอยู่ ขณะนี้ประเทศไทยมีคนติดเชื้อโควิด-19 สะสมอยู่ในอันดับที่ 60 ของโลก และตัวเลขคนติดเชื้อรายวันยิ่งสูงติดอันดับต้นๆของโลก นักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อเห็นตัวเลขนี้เขาก็จะฝ่อ ผู้บริหารประเทศและหน่วยงานที่รับผิดชอบการท่องเที่ยวคิดได้ยังไงว่านักท่องเที่ยวอยากมาเที่ยวเมืองไทยกันนักกันหนา
จากเหตุที่กล่าวข้างต้น เมื่อมาดูตัวเลขของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาภูเก็ตในช่วง 14 วัน ตั้งแต่เปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ ตามตัวเลขทางการมีแค่ประมาณ 5,400 คน ใช้ห้องพักประมาณ 37,800 คืน (Room night) (คิดจากจำนวนคนหาร 2 คูณด้วย 14 คืน) แต่จากยอดจองห้องพักในเดือนกรกฎาคมทั้งเดือนที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเปิดเผยจะมีถึง 149,096 คืน ยอดจองห้องพักที่ขายได้จริงในครึ่งเดือนจึงมีแค่ 25.4 % ของยอดเป้าหมายทั้งเดือน อย่างนี้จะเปิดประเทศใน 120 วัน ไหวหรือลุง
ไม่อยากจะสรุปว่า ได้เกิดเค้าลางของความล้มเหลวของโครงการนำร่องที่ชื่อภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์นี้เลย ถ้าโครงการนี้ไม่ได้ผลก็จงอย่าคิดถึงเรื่องการพลิกฟื้นของการท่องเที่ยวในปลายปีนี้ให้เสียเวลา ใคร่ขอเตือนด้วยความรักต่อสมาคมท่องเที่ยวที่ดูแลเกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า ที่ได้เตรียมพร้อมจะเปิดโครงการสมุยพลัสโมเดล ในวันที่ 15 กรกฎาคม นี้ ขอให้ไตร่ตรองกันให้ดีก่อนทำ
ณ วันนี้ธุรกิจท่องเที่ยวทั้งมวลขอให้อดทนไว้และทำใจให้ได้ อย่างน้อยควรดูกันให้ครบ 120 วันเสียก่อนอย่าผลีผลาม เพราะการแก้ไขการระบาดของโควิด-19 จะไม่ดีขึ้นในเร็ววัน เพราะความไม่โปร่งใสและเพี้ยนๆในการจัดหาวัคซีนโดยรัฐบาลตั้งแต่ต้นจนถึงขณะนี้กำลังถูกตีแผ่ว่ามีเรื่องความไม่ชอบมาพากลเข้ามาเกี่ยวข้อง จนกระทั่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ได้เขียนบทความออกมาชัดเจนเร็วนี้ๆ ระบุว่ารัฐบาลบริหารโควิดผิดพลาด รวมทั้งละเลยและล้มเหลว ต้องตั้งกรรมการอิสระระดับชาติสอบหาผู้รับผิดชอบ
ส่วนด้านการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยังไร้ผลและประชาชนทั่วไปรับไม่ได้ การผลักดันให้เกิดการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวที่เป็นหัวใจของการจ้างงานก็จะไม่ได้ผลดังที่ได้ชี้ให้เห็นแล้ว ขณะที่การก่อม๊อบเพื่อขับไล่ผู้นำของรัฐบาลก็มีทีท่าว่าจะมีแต่รุนแรงขึ้นจนเอาไม่อยู่ สรุปแล้วเหตุการณ์ทุกเรื่องได้ผูกปมให้เห็นว่ารัฐบาลถึงขั้นล้มเหลวแล้ว (Failed Government) อีกไม่นานประชาชนคงได้เห็นความไม่ชอบธรรมทางการเมืองที่เป็นรูปธรรมแน่นอน