ธุรกิจค้าปลีกปรอทแตก เมื่อทางกลุ่ม “CP” ขยับทัพปรับเปลี่ยนแผนใหม่ มอบ Makro คว้าสิทธิ์ในการดูแลและบริหาร Lotus’s
ยุทธวิธี คือ โอนกิจการของ บริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด หรือกลุ่มซีพี ไปยัง บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ที่เป็นการรับโอนกิจการทั้งหมดของ บริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง ซึ่งรวมถึงทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดทั้งหมดของที่มีอยู่ในปัจจุบัน
กระบวนการรอบนี้เกี่ยวพันกับธุรกิจในเครือซีพี ดังนี้ 1. บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL 2. บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ Makro และ 3. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF
แนวทางการทำคือ เครือ CP จะให้บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ Makro รับโอนกิจการ ของบริษัทซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด หรือ CPRH ที่ซื้อโลตัสมาบริหาร โดยบริษัทดังกล่าวถือหุ้น 99% ในบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ CPRD ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดใน บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้ชื่อ โลตัส หรือ Lotus’s ในประเทศไทย และถือหุ้นทั้งหมดใน Lotus’s มาเลเซีย โดยการโอนกิจการครั้งนี้ คิดเป็นมูลค่า 2.18 แสนล้านบาท
ทีนี้ การรับโอนกิจการทั้งหมดนี้ Makro จะต้องเพิ่มทุน ทาง CPRH จะได้รับหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ Makro จำนวนไม่เกิน 5,100 ล้านหุ้น ในราคาได้เสนอขาย 43.50 บาท ต่อหุ้นเป็นค่าตอบแทน
โครงการทั้งหมดนี้จะเป็นรูปธรรมจริงในวันที่ 12 ต.ค. 2564 ที่จะประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของ Makro และ CPALL ถ้าผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติในโครงการทั้งหมด การโอนกิจการจึงจะสามารถดำเนินการต่อได้
ผลของการปรับโครงสร้าง 1. กลุ่มซีพีจะโอนกิจการทั้งหมดของโลตัส ที่ถือหุ้นโดย 3 บริษัท คือ CPALL, CPM, CPH ไปให้ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ Makro
2. Makro จะออกหุ้นเพิ่มทุนแลกไปให้แก่ CPALL, CPM, CPH
3. CPALL จะลดสัดส่วนการถือหุ้น Makro ลงจาก 93.08% เหลือ 65%
CPM เข้ามาถือหุ้น Makro 10.21%
CPH เข้ามาถือหุ้น Makro 20.43%
ผู้ถือหุ้นรายย่อย จะมีสัดส่วนหุ้น Makro ลดลงจาก 6.92% เหลือ 3.39%
4. Makro จะเป็นเจ้าของกิจการ Makro และกิจการห้างโลตัส
บล.ไทยพาณิชย์บอกว่า ดีลนี้จะช่วยสนับสนุนให้ CPALL ก้าวสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมค้าปลีก ค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคอันดับ 1 ในระดับภูมิภาคเอเชีย ทั้งในแบบ B2B และ B2C
ดีลนี้จะช่วยให้เพิ่มสภาพคล่องของเงินลงทุนของบริษัทจากเงินลงทุนในหุ้นของ CPRD ที่ไม่มีสภาพคล่อง และไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ มาเป็นเงินลงทุนในหุ้นของ Makro ที่อยู่ในตลาดหุ้น และมีสภาพคล่องในการซื้อขาย
ดีลนี้จะทำให้ CPF ได้รับประโยชน์จาการลงทุนของ Makro เพราะจะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นของ Makro มาใช้ชำระคืนเงินกู้ขยายธุรกิจ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงินให้กับบริษัท
ดีลนี้จะทำให้ MAKRO กลายเป็นผู้นำแพลตฟอร์ม O2O ทั้งในแบบ B2B และ B2C ในธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง ขนาดและแพลตฟอร์มใหญ่ขึ้น แบรนด์ร้านค้า และลูกค้าที่หลากหลาย และจุดเด่นด้านสินค้าอาหารสด จะช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจในตลาดภูมิภาคที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
ขณะที่นายธนาคารชี้โพรงลงไปว่า การปรับโครงสร้างธุรกิจรอบนี้ของกลุ่มซีพีเพื่อปรับโครงสร้างทางการเงิน แม้ว่าในงบรวมของแม่จะมีการรวมภาระหนี้ “consolidate” ด้วยกัน แต่ต้องยอมรับว่าเพดานหนี้ของกลุ่มนั้นติดขัดมากในการบริหารจัดการ เนื่องจากแต่ละบริษัท แม้จะมีรายได้มหาศาล แต่มีหนี้มโหฬารเช่นกันโดยยอดรวมมากถึง 1.6 ล้านล้านบาทเศษ จึงต้องมีการปรับทัพเพื่อความคล่องตัวทางการเงิน
จากเดิมที่เคยเสนอขายหุ้นโลตัสให้กับทางกลุ่มบริษัท ปตท.ราว 30% หรือราว 1 แสนล้านบาทมาบริหารจัดการ แต่พลาดเป้าไปแบบฉิวเฉียด
ปัญหาชวนติดตามคือ การปรับโครงสร้างธุรกิจของ Makro และ Lotus’s ออกมาแบบนี้ กขค.จะต้องเข้ามามีบทบาทอะไรหรือไม่ เพราะตอนอนุมัติให้ซื้อกิจการเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ในราคา ราว 338,000 ล้านบาท กขค.กำหนดเงื่อนไขที่กลุ่มซีพีต้องปฏิบัติ 7 ข้อ
1. ห้ามธุรกิจในเครือควบรวมธุรกิจค้าปลีกค้าส่งรายอื่นนาน 3 ปี ไม่รวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
2. หลังควบรวมแล้วให้เพิ่มสัดส่วนสินค้าจากเอสเอ็มอีไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี
3. หลังควบรวมแล้วห้ามมิให้ใช้หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตลาด
4. ให้คงสัญญาที่ทำไว้กับซัพพลายเออร์ 2 ปี
5. กำหนดระยะเวลาเครดิตเทอม กลุ่มเอสเอ็มอี เป็นเวลา 30-45 วัน เป็นเวลา 3 ปี
6. ให้รายงานผลประกอบการต่อ กขค. เป็นเวลา 3 ปี
7. หลังควบรวมแล้วให้จัดทำ code of conduct เผยแพร่ต่อสาธารณะ
ขัดข้อไหนบ้างไม่รู้ รู้ว่า คณะกรรมการ “ก้าง ติด คอ” กันแทบทุกคน จากการเดินเกมปรับโครงสร้างองค์กร ที่ปัจจุบันกลุ่มซีพี มีหนี้รวมกันอยู่ราว 1.6 ล้านล้านบาท