ตั้งทหารผู้นำเหล่าทัพ! เสาค้ำยัน“บิ๊กตู่?”

24 ส.ค. 2564 | 23:00 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ส.ค. 2564 | 11:52 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ในประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง “กองทัพ” มีภารกิจหน้าที่หลักคือ การป้องกันประเทศ การรักษาอาณาเขตและดินแดน การป้องกันการรุกราน 


การก้าวเข้ามามีบทบาททางการเมืองของทหารในระบอบประชาธิปไตยส่วนใหญ่จะกระทำผ่าน สภากลาโหม เป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายนโยบายในการตัดสินใจใช้กองกำลัง  การให้คำปรึกษาทางด้านนโยบายการทหาร 


“กองทัพ” จะไม่ออกมาเล่นบทที่เกินเลยไปจนต้องก้าวเข้ามาทำหน้าที่เป็น “องค์กรการเมือง” ผ่านการสนับสนุนทั้ง “ทางลับและเปิดเผย” ในการจัดตั้งรัฐบาลเด็ดขาด


แต่ในประเทศไทย ซึ่งนักการเมืองส่วนใหญ่มุ่งเน้น “การช่วงชิงเพื่อเข้าสู่อำนาจและรักษาอำนาจ” แต่ขาดจิตสำนึกที่ดีในการอาสาเข้ามาบริหารประเทศ ผ่านระบบการเลือกตั้ง การขาดจิตสำนึกที่ดีในฐานะผู้ปกครองบ้านเมือง การคำนึงถึงการได้มาและการรักษาอำนาจมีมากกว่าการคำนึงถึงความต้องการ ความเชื่อมั่น ความศรัทธาของประชาชน


แถมประชาชนส่วนใหญ่ยังแตกแยกทางความคิด แบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างรุนแรง จนขาดจิตสำนึกที่ดีต่อส่วนรวม ขาดการเคารพสิทธิและเสรีภาพ ผู้คนต่างเรียกร้องแต่เสรีภาพส่วนตัว แต่ไม่เคารพสิทธิ์ผู้อื่น ผู้คนต่างเรียกร้องโหยหาประชาธิปไตยแต่ไม่เคารพความคิดผู้อื่น 

“กองทัพ” จึงมักจะเข้ามาเป็นสถาบันหลักในการเข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารบ้านเมืองของไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อมมาโดยตลอด เพราะกองทัพ เป็นสถาบันเดียว “ที่มีอำนาจครอบครองและมีสิทธิ์ใช้อาวุธสงคราม” ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศ “ผู้ครอบครองอาวุธ จึงเป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริง” 


อำนาจการครอบครองอาวุธนี่แหละ เป็น “พลังอำนาจพิเศษเหนืออำนาจทางทางการเมือง” 


เมื่อใดที่เกิดปัญหาในประเทศ เกิดความขัดแย้งของคนในชาติ เกิดสุญญากาศทางการเมือง เมื่อนั้นจะ “เปิดประตู” ให้ “ผู้นำทหาร” ออกมาแสดงบทบาทเป็น “ผู้พิทักษ์ประเทศ” ผ่านกระบวนการยึดอำนาจ การประกาศรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อดูแลประเทศให้กลับมาเข้ารูปเข้ารอย...จนกระทั่งเกิดการครอบครองสิทธิ์โดย “รัฐบาลทหาร” 


ยุทธวิธีการใช้กำลังทหารเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการเปลี่ยนแปลงประเทศ กลายเป็นแม่แบบของการรัฐประหาร การยึดอำนาจ การปฏิวัติ จนถึงปัจจุบันนี้ 


อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงแต่ละคราว บทบาทของกองกำลังทหาร  กองกำลังเหล่าทัพ เป็นเสมือน “เสาค้ำยันรัฐบาล” มาโดยตลอด...รัฐบาลไหนกองทัพไม่สนับสนนุนรัฐบาลนั้นอยู่ไม่นาน

โดยเฉพาะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ก้าวเข้ามาบริหารประเทศด้วยสถานการณ์พิเศษ จนเข้ามาสู่โหมดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เกือบ 8 ปี ผู้นำกองกำลังสำคัญ 6 คน ในกองทัพบกล้วนแล้วแต่เป็น “เสาเอก” ค้ำยันให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในการบริหารราชการแผ่นดินมาแล้วทั้งสิ้น 


1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) มายาวนาน 4 ปี นับตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2553 – 30 กันยายน 2557 
 

2.พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก ก้าวขึ้นมารับไม้เป็น ผบ.ทบ. ปี 2557 –2558 


3.พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. ปี 2558 – ปี 2559 ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรี เมื่อ 6 ธันวาคม 2559 และพ้นจากตำแหน่งองคมนตรี เมื่อ 19 มิถุนายน 2561   


4.พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ก้าวขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ปี 2559 – 2561 และได้รับการแต่งตั้งเป็นองคมนตรี เมื่อปี 2561 


5.พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และก้าวขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ปี 2561 –2563 ก่อนได้รับการโอนเป็นรองเลขาธิการพระราชวัง ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2563 


6.พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ก้าวขึ้นเป็น ผบ.ทบ. เมื่อ 1 ตุลาคม 2563 – ปัจจุบัน เกษียณราชการปี 2566 เป็นนักเรียน ตท.รุ่น 22 ห่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ มากถึง 10 ปี


ปีนี้นับเป็นปีที่ 8 ที่การแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารในเหล่าทัพ ยังถูกพิจารณาจาก “พี่น้อง 3 ป.” นำทัพโดย “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นพี่ใหญ่ “น้องเล็ก-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โดยเฉพาะผู้นำ 3 กำลังหลัก “ผบ.ทร.-ผบ.ทอ.-ปลัดกระทรวงกลาโหม” ต้องเกษียณอายุราชการลง ทว่า 3 ตำแหน่งนี้กลับเป็นด่านหินสำคัญในการจัดวางคน เพื่อเป็นเสาค้ำยันรัฐบาลประยุทธ์ และรากฐานความมั่นคงประเทศ


ขณะที่ 2 ตำแหน่งหลักคือ ผบ.ทบ.นั้น พล.อ.ณรงค์พันธ์ (ตท.22) ไม่ขยับจะอยู่ยาวถึงปี 2566  แต่ในระนาบ 4 เสือ ทบ.จะเกษียณอายุรวดเดียว จึงต้องพิจารณาจัดวางผู้นำเหล่าทัพมารับไม้ต่อ การแต่งตั้ง 4 เสือ ทบ. รอบนี้จึงสำคัญ เพราะเป็นการวางคนเพื่ออนาคต และผกผันไปยังตำแหน่ง ผบ.สส.


พล.อ.เฉลิมพล ผู้บัญชาการทหารสูงสุด  (ตท.21) หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง จะเกษียณอายุราชการปี 2566 เช่นเดียวกัน


เสียงซุบซิบกันภายใน “บก.ทบ.-สวนมิสกวัน-สภากลาโหม” บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การแต่งตั้งผู้นำทางทหารในปีนี้ “เสียงแตกไม่ราบรื่น” เกิดความเห็นต่างระหว่าง “รุ่น ตท.20-ตท.21-ตท.22” ในการตั้งผู้เข้าดำรงตำแหน่งประชุมกัน 3 ครั้งเสียงแตก 3 ครั้ง จนเข้าสู่ช่วงท้ายของเดือนสิงหาคม ซึ่งปกติต้องจบ เพื่อเปิดทางให้ ผบ.เหล่าทัพที่เกษียณอำลาตำแหน่ง


สัปดาห์นี้จะมีการประชุมสภากลาโหม เพื่อพิจารณาจัดโผโยกย้ายนายพลปี 2556  หัวโต๊ะเป็น 1. “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม 2. “บิ๊กช้าง” พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม 3. “บิ๊กณัฐ”พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม 4.“บิ๊กแก้ว”พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.สส. 5. “บิ๊กบี้” พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตแก้วแท้ ผบ.ทบ. 6. บิ๊กแอร์-พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผบ.ทอ. และ 7. พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร.


“กองทัพเรือ” กลายเป็นปมใหญ่ ที่โผโยกย้ายฝั่ง “กลาโหม” ไม่ลงตัว เมื่อ พล.อ.ณัฐ ปลัดกลาโหม เสนอชื่อ “เสธ.หน่อย” พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ เสนาธิการทหารบก ตท.20 ขึ้นเป็น “ปลัดกลาโหม” คนต่อไป และผู้นำทหาร3 คนยกมือหนุน “บิ๊กแก้ว-บิ๊กบี้-บิ๊กแอร์”แบบขาดลอย


กรรมจึงมาตกที่ ผบ.ทร.เพราะในระนาบตำแหน่ง “รองปลัดกลาโหม” ยังมี “บิ๊กเฒ่า” พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ตท.20 ที่ครองอาวุโสอัตราพลเอกพิเศษ มาแล้ว 2 ปี ที่สามารถขึ้นเป็นปลัดกลาโหมได้ขวางอีกคน ทำให้มีการเสนอว่า ต้องโยก พล.ร.อ.สมประสงค์ กลับมากองทัพเรือ ขึ้นเป็น ผบ.ทร. เพื่อ “ขัดตาทัพ” ก่อนเกษียณฯในปี 2565 ได้หรือไม่ เพราะตอนที่ย้าย “สมประสงค์”ออกไปเพื่อเปิดทาง “พล.ร.อ.ชาติชาย” ขึ้นสู่ตำแหน่ง


ขณะที่แคนดิเดต ผบ.ทร. ในเหล่าทัพตอนนี้มี 2 คนแถมเกิด ‘วัน เดือน ปีเดียวกันเป๊ะ  “20 ธันวาคม 2505” จึงจะไปเกษียณพร้อมกันในปี 2566  คือ 1.  “บิ๊กโต้ง” พล.ร.อ.ธีรกุล กาญจนะ เสนาธิการทหารเรือ (ตท.21)   2. “บิ๊กปู” พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ (ตท.22) จะตั้งใครรอบนี้จึงฝืนใจอย่างยิ่ง เพราะ ผบ.ทร.คนปัจจุบันต้องการสร้างมาตรฐานผู้นำทัพเรือควรอยู่ในตำแหน่ง 2 ปี ...ใครจะหมู่ใครจะจ่า


“ทุ่งดอนเมือง” ก็สะเทือนเลื่อนลั่นบีบหัวใจ เพราะ “บิ๊กแอร์” พล.อ.อ.แอร์บูล ผู้นำทัพฟ้าผู้เยือกเย็นนั้น ได้เปิดศึกกับนายที่ดึงตัวเองขึ้นมาจากผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ คือ “บิ๊กนัต”พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีต ผบ.ทอ.ในกรณีจัดซื้อจัดจ้าง อย่างโจ๋งครึ่ม ทำให้ตัวเต็งที่เคยถูกวางให้เป็นทายาทคือ “บิ๊กหนึ่ง” พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา เสธ.ทอ. (ตท.23) เกษียณปี2567 ต้องรอไปก่อนแบบห้ามพลาด


แคนดิเดต ผบ.ทอ. ตอนนี้จึงมี  3 คน  1. “บิ๊กป้อง”พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ประธานที่ปรึกษา ทอ. บุตรชาย พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์  2. “บิ๊กตั้ว”พล.อ.อ.สฤษฎ์พงศ์ วัฒนวรางกูร ผู้บัญชาการกรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ ซึ่งทั้งคู่ ตท.21 เพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.อ.แอร์บูล เหลืออายุราชการอีกคนละ 1 ปีเท่านั้น


อย่างไรก็ตาม อาจมีธาตุแทรกจาก “บิ๊กต่าย” พล.อ.อ.สุทธิพันธ์ ต่ายทอง รอง ผบ.ทหารสูงสุด ที่ถูกโยกออกกองทัพอากาศเมื่อปี 2563 เพื่อเปิดทาง พล.อ.อ.แอร์บูล ขึ้นเป็นผู้นำทัพดอนเมือง ภายในบอกว่า พล.อ.อ.สุทธิพันธ์ ได้รับแรงหนุนจาก พล.อ.ประยุทธ์ มาตั้งแต่ปีที่แล้ว 


นายพลแห่งเสืออากาศคนไหน จะเข้าป้ายผู้นำแห่งท้องทุ่งดอนเมือง ระวังไว้ไม่ใครก็ใครอาจมีธาตุไฟเข้าแทรก....


แค่เสาค้ำยันรัฐบาล 3 จุดนี้ก็หนักหน่วง แต่ยังมีไม่เท่ากับการคัดเลือกแต่งตั้ง  4 เสือ ทบ.ที่มี พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ เป็น ผบ.ทบ.ว่ากันว่า จะเป็นภาคต่อในการจัดคน วางกำลังในเหล่าทัพด้วยมือตัวเอง หรือต้องเงียหูรับไม้จาก “นายป้อม-นายประยุทธ์” ซึ่งคนในบก.ทบ.บอกว่า โปรดจับตา 4 นายพลชื่อนี้ไว้ให้ดี...


1.พล.ท.เจริญชัย หินเธาว์ (ตท.23) อดีตแม่ทัพน้อยที่ 1 แม่ทัพภาคที่ 1 จะขึ้นเป็น ผช.ผบ.ทบ. หรือไม่ พล.ท.เจริญชัยเป็นทหารเสือราชินีโตมาจาก ร.21 รอ. เป็นน้องรัก พล.อ.ประยุทธ์ & พี่น้อง 3 ป. ที่มาจาก ร.21 รอ. และเป็นสายตรงจะขึ้นหรือไม่ 


หากทุกอย่างลงตัวแบบไร้ความขัดแย้ง พล.ท.เจริญชัย เมื่อขึ้นเป็น ผช.ผบ.ทบ.ก้าวต่อไปคือจะขึ้นเป็น ผบ.ทบ.คอแดงคนที่ 3 ต่อจาก พล.อ.อภิรัชต์ และ พล.อ.ณรงค์พันธ์ เกษียณกันยายน 2567


2. พล.ท.ทรงวิทย์ หนุนภักดี อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 1 ที่ถูกโยกไปเป็น รองเสธ.ทบ. เป็นนายทหารสายตรงของ “บิ๊กแดง-บิ๊กบี้” “ทหารคอแดง” ครั้งนี้จะถูกโยกกลับมา “แม่ทัพภาคที่ 1 เพื่อรอก้าวขึ้นไลน์ ผบ.ทบ.ในอนาคตหรือไม่ หากไม่ขยับ รับประกันจะก้าวไปเป็น ผบ.สส.(เกษียณ 2568) แต่หากขยับขึ้นมาในไลน์รับรองเสาค้ำยันสั่นคลอน เพราะบิ๊กอ๊อบนั้นสายตรงตัวจริง…


3.พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ รองเสนาธิการทหารบก (ตท.22) อดีตเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก จะขึ้นเป็น เสนาธิการทหารบก และเลขาธิการ กอ.รมน.หรือไม่ ถ้าขึ้นรอบนี้บอกได้คำเดียวว่า “สายตรงบิ๊กบี้-บิ๊กแดง” ขึ้นพรึ่บ
 

4.พล.ต.ธราพงษ์ มะละคำ รองแม่ทัพภาคที่ 1 จะขึ้นเป็นแม่ทัพน้อยที่ 1 ได้หรือไม่ ถ้าใช่ก็เป็นอันเข้าไลน์ชิงเก้าอี้ ผบ.ทบ.ในอนาคต เพราะอายุราชการถึง 2569


การวางตัวผู้นำเหล่าทัพที่เป็นเสาค้ำยันรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จึงสำคัญอย่างยิ่ง...โปรดจับตาด้วยความระทึกฤทัย...ใครขาลอย...