10 กันยายน 2564 จะเป็นวันชี้ชะตาสำคัญ ของ “ความยุติธรรม-ความอยุติธรรม” สำหรับประชาชนในประเทศสาระขันธ์แห่งนี้
เนื่องจากเป็นการนัดประชุมคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) 15 คน เป็น ก.อ.ชุดใหม่ที่มี นายพชร ยุติธรรมดำรง อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน
“วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์” อัยการสูงสุด เป็นรองประธาน
กรรมการ ก.อ.ส่วนที่เหลือประกอบด้วย รองอัยการสูงสุดตามลำดับอาวุโส 5 คน กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน ที่มาจากการเลือกของอัยการ (อัยการชั้น 5 ขึ้นไป 4 คน+อัยการที่ 2 คน)
กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน (ไม่เป็นหรือเคยเป็นอัยการมาก่อน และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการงบประมาณ การพัฒนาองค์กร หรือการบริหารจัดการ) โดยมี “อธิบดีอัยการ” สำนักงานคณะกรรมการอัยการ เป็นเลขานุการ
นี่คือ 15 อรหันต์ของ ก.อ. หน้าที่ของ 15 อรหันต์จะเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาความเหมาะสม แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการอัยการ มีหน้าที่ในการพิจารณาดำเนินการทางวินัย และการสั่งลงโทษทางวินัยข้าราชการอัยการที่กระทำผิดกฎหมาย รวมทั้งการพิจารณาออกระเบียบบริหารงานบุคคลอัตรากำลังข้าราชการฝ่ายอัยการ
วันที่ 10 กันยายนนี้จะเป็นวันที่ คณะกรรมการ ก.อ.15 อรหันต์จะพิจารณาและลงมติสรุปสำนวนการสอบสวน นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด (รอง อสส.) กรณีมีคำสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส อยู่วิทยา” บุตรชายนักธุรกิจเจ้าของเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง ผู้ต้องหาคดีขับรถยนต์ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ สังกัด สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เมื่อเช้ามืดวันที่ 3 ก.ย. 2555
ข้อมูลที่ออกมาเปิดเผยต่อสังคมในขณะนี้คือ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดของ นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ กรรมการอัยการ (ก.อ.) ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธาน นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิ นายสนทรรศ สิงหพัศ รองอัยการสูงสุด นายชัชชม อรรฆภิญญ์ รองอัยการสูงสุด นายมั่นเกียรติ ธนวิจิตรพันธ์ ผู้ตรวจการอัยการ เป็นกรรมการและเลขานุการ และ นายยุทธพงษ์ อภิรัตน์รังษี รองอธิบดีอัยการสำนักงาน ก.อ. เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ได้สรุปผลสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว และมีความเห็นว่า นายเนตร นาคสุข “มีความผิดวินัยไม่ร้ายแรง” เพราะไม่พบการทุจริต แต่ “เป็นความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่”
ถ้าคณะกรรมการ ก.อ. 15 อรหันต์ลงมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับคณะกรรมการสอบสวนที่สรุปผลว่า “มีความผิดไม่ร้ายแรง” อาจพิจารณางดบำเหน็จ หรือไม่เลื่อนขั้นเป็นระยะเวลา 2 ปี และไม่เสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอัยการอาวุโส ที่จะมีอายุราชการยาวจนถึง 70 ปี และเป็นความประสงค์ของนายเนตร ที่เคยยื่นหนังสือแสดงความจำนงไม่ขอรับตำแหน่งไว้ก่อนหน้านี้
และถ้าลงมติเห็นด้วยว่า “มีความผิดไม่ร้ายแรง” จะทำให้การงดบำเหน็จ หรือ การไม่เลื่อนขั้นนายเนตร จะไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะตำแหน่งของ นายเนตร ในปัจจุบันเทียบเท่าอัยการอาวุโส ไม่มีขั้นให้เลื่อนขึ้นอีกต่อไปในตำแหน่งหน้าที่ราชการอีกแล้ว เพียงแต่จะเป็นมลทินในประวัติการรับราชการเท่านั้น
จุดยืนในการพิจารณาตัดสินของ 15 อรหันต์ ก.อ.จึงสำคัญมากที่จะสะท้อนการทำหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่แตกหน่อมาจากกรมอัยการ และถูกยกศักดิ์ศรีให้มีอิสระในการทำงานเพื่อเป็น “ทนายความของแผ่นดิน”
ในคดีอาญา “พนักงานอัยการ” มีอำนาจและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและตามกฎหมายอื่น ซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการ
ในคดีแพ่ง หรือคดีปกครอง “พนักงานอัยการ” มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีแทนรัฐบาล หน่วยงานของรัฐที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ราชการส่วนกลาง หรือราชการส่วนภูมิภาคในศาล หรือในกระบวนการทางอนุญาโตตุลากรทั้งปวง กับมีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายอื่นซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการ
ในคดีแพ่ง คดีปกครอง หรือคดีอาญา ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกฟ้องในเรื่องการที่ได้กระทำไปตามหน้าที่ก็ดี หรือในคดีแพ่ง หรือ คดีอาญาที่ราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดถูกฟ้องในเรื่องการที่ได้กระทำตามคำสั่งของเจ้าที่ของรัฐ ซึ่งได้สั่งการโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือเข้าร่วมหรือช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งกระทำการในหน้าที่ราชการก็ดี เมื่อเห็นสมควร “พนักงานอัยการ” จะรับแก้ต่างให้ก็ได้
การตัดสินใจของ 15 อรหันต์ของก.อ.จึงสำคัญอย่างยิ่งต่อศักดิ์ศรีขององค์กรและความเป็นมืออาชีพในกระบวนยุติธรรมของประเทศไทย
อย่าลืมว่าคดีสั่งไม่ฟ้องนายบอส-วรยุทธนั้น ได้สร้างความเสียหายแรงกับองค์กรอัยการมาแล้วจากความไม่ไว้วางใจของประชาชน ทั้งในมิติของการไม่ยอมตรวจพยานหลักฐานให้รอบคอบ การพิจารณาตัดสินใจกลับคำสั่งไม่ฟ้องในคดีนี้ ก็ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อที่ร้ายแรงมาก
ไม่เชื่อผมไปดูหนังสือบันทึก “อรรถพล ใหญ่สว่าง” ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) อดีตอัยการสูงสุด เมื่อปี 2556 ทำหนังสือคัดค้านถึง นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุดและระบุว่าคำสั่งเสร็จเด็ดขาดสั่งไม่ฟ้อง “บอส กระทิงแดง” ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สรุปความได้ว่า...
ข้าพเจ้าได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ยังมีประเด็นอันควรพิจารณาเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดําเนินคดีอาญาของพนักงาน อัยการ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอํานาจหน้าที่ในการสั่งสําานวนของพนักงานอัยการ กรณีมีค่าสั่งไม่ฟ้องและผลของการมีคําสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องเพิ่มเติมอีก ดังนี้
1. กรณีพนักงานอัยการมีคําสั่งที่ไม่ฟ้อง และคําสั่งนั้นไม่ใช่คําสั่งของอัยการสูงสุด เมื่อผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติไม่แย้งคําสั่งไม่ฟ้อง จึงเป็นคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง หากมีการแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ส่งสํานวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด เมื่ออัยการสูงสุดชี้ขาดไม่ฟ้อง จึงเป็นคําสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง คําสั่งในขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ต้องเป็นคําสั่งโดยถูกต้องตามอํานาจหน้าที่ของผู้ดํารงตําแหน่งต่างๆ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและระเบียบฯที่เกี่ยวข้องด้วยจึงจะสมบูรณ์ตามกฎหมาย
ในกรณีที่เดิมพนักงานอัยการ มีคําสั่งไม่ฟ้องไว้แล้ว แต่มีการกลับคำสั่งเป็นคำสั่งไม่ฟ้องตามระเบียบฯ ข้อ 6 กำหนดว่า “ในกรณีที่เห็นควรกลับความเห็นหรือกลับคําสั่งเดิม ให้เสนอตามลําดับชั้นจนถึงอธิบดีเพื่อพิจารณาสั่ง เว้นแต่ความเห็น หรือคำสั่งเดิมนั้น เป็นของอธิบดี ให้เสนออัยการสูงสุด หรือรองอัยการสูงสุดผู้ได้รับมอบหมายเพื่อพิจารณาสั่ง”
2. กรณีคดีมีการร้องขอความเป็นธรรมระเบียบฯ ข้อ 48 (การสั่งคดีกรณีร้องขอความเป็นธรรม) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดําเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2554 กําหนดว่า คดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรมในกรณีที่จะมีคําสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทุกข้อหา หรือบางข้อหา ให้เสนอสํานวนพร้อมความเห็นตามลำดับชั้นถึงอธิบดี เพื่อพิจารณาสั่ง
กรณีที่มีคำสั่งฟ้อง ให้ดําเนินการให้ได้ตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาล และให้รีบทําบันทึกส่งคําร้องขอความเป็นธรรม สําเนาความเห็นและคำสั่ง พร้อมทั้งสําเนารายงานการสอบสวนเสนออธิบดีเพื่อทราบ
กรณีดังกล่าวในวรรคก่อน หากเป็นกรณีที่ต้องกลับความเห็น หรือกลับคําสั่งเดิม หรือต้องถอนฟ้อง ให้นำความในข้อ 6 วรรคท้าย หรือข้อ 128 มาใช้บังคับแล้วแต่กรณี
3. กรณีตามคดีนี้ ได้ความว่าในการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งของ นายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหา การร้องขอความเป็นธรรมในชั้นหลังที่มีประเด็นพิจารณาถึงคําให้การรองศาสตราจารย์ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม และรายงานพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตํารวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ด้วยอัยการสูงสุด (ร.ต.ต.พงษ์นิวัติ ยุทธภัณฑ์บริภาร) ได้สั่งให้ยุติการพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาที่ 1 แล้ว ดังนั้นต้องถือว่า คําสั่งฟ้องที่สั่งไว้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย....
4. หลังจากนั้น หากมีกรณีร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาสู่การพิจารณาของพนักงานอัยการอีก การที่พนักงานอัยการคนใด จะหยิบยกเพื่อพิจารณาให้ความเป็นธรรม โดยสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมและมีคําสั่งใดๆ ใหม่ ต้องมีคําสั่งจากอัยการสูงสุดก่อน จึงจะดําเนินการได้ เพราะอัยการสูงสุดได้วินิจฉัยไว้แล้วให้ยุติการพิจารณากรณีร้องขอความเป็นธรรม
หากพนักงานอัยการผู้ใด มีการหยิบยกการร้องขอความเป็นธรรมขึ้นพิจารณาอีก และมีคําสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม โดยมิได้ขอความเห็นชอบจากอัยการสูงสุดก่อน ไม่น่าจะกระทําได้ และจะมีผลการดําเนินการในขั้นตอนต่อๆ มาทั้งหลายไม่ชอบด้วยกฎหมาย และระเบียบฯ ทําให้คําสั่งต่างๆ ที่มีตามมา รวมทั้งคำสั่งไม่ฟ้อง ไม่อาจมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายได้
5. กรณีที่รองอัยการสูงสุด หยิบยกการร้องขอความเป็นธรรมขึ้นพิจารณาอีกครั้ง ทั้งที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ยุติไปแล้ว จึงมีนัยสําคัญที่ควรพิจารณาว่า เกิดผลตามที่กล่าวมาตามข้อ 4 หรือไม่ หากเป็นผล ต้องถือว่าคําสั่งไม่ฟ้องยังไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบฯ การส่งสำนวนพร้อมความเห็นไปให้ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ พิจารณาแล้วไม่แย้งคําสั่ง ก็หาเป็นผลให้เกิดเป็นคําสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องที่ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมายไม่
และคำสั่งฟ้องเดิมของอธิบดีอัยการ สํานักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ต้องถือว่า ยังมิได้ถูกกลับ และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายอยู่
6. ในการพิจารณากรณีการร้องความเป็นธรรมครั้งหลังจากที่อัยการสูงสุดท่านเดิม (ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร) มีคําสั่งให้ยุติการพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมก่อนหน้านั้นไปแล้ว
ดังนั้น พนักงานอัยการผู้มีอำนาจ พิจารณาดําเนินการสังคดีดังกล่าวได้อีก ก็แต่เฉพาะอัยการสูงสุดเท่านั้น รองอัยการสูงสุดที่ได้รับมอบหมายหรือปฏิบัติราชการแทน ไม่มีอํานาจสั่งคดีดังกล่าว หากอัยการสูงสุดไม่ได้มีคําสั่งใด คําสั่งฟ้องของอธิบดีอัยการ สํานักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ก็ยังคงใช้บังคับอยู่เช่นเดิม
แต่ถ้าอัยการสูงสุดสั่งให้พิจารณาคําร้องขอความเป็นธรรมอีกครั้งหนึ่ง อัยการสูงสุดก็มีอํานาจสั่งยุติการพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมหรือ สั่งสอบสวนเพิ่มเติม หรือกลับคําสั่งฟ้องตามความเห็นเดิม เป็นสั่งไม่ฟ้องก็ได้ ตามดุลพินิจที่เห็นว่า ถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้องกับพยานหลักฐานในสํานวน...จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจาณา
ดังนั้นถ้า 15 อรหันต์ ตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างหนึ่งอย่างใด จะมีผลโดยตรงต่อความยุติธรรมของประเทศทันที
เพราะกระบวนการยุติธรรมในคดีสั่งไม่ฟ้อง-บอสกระทิงแดง ของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่สะท้อนภาพไปยังกระบวนการพิจาณณาคดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐตัดตอน-อำพรางคดี ตัดสาระสำคัญทั้งพยานวัตถุ พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ออกไป ด้วยอำนาจแห่ง “เงินตรา”
ปวงประชาจะมีความรู้สึกทั้งบ้านทั้งเมืองแน่นอนว่า คุกจะมีไว้ขังคนจนอย่างเดียว..สาธุ..อย่าให้เป็นเช่นนั้นเลย