พลิกโฉมประเทศกับแผน 13

26 ก.ย. 2564 | 06:16 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ย. 2564 | 13:19 น.

บทบรรณาธิการ

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำลังยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 พลิกโฉมประเทศไทย สู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน กำหนดเป้าหมายหลัก การปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม โดยยกระดับผ่านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตอบโจทย์พัฒนาการของเทคโนโลยีและสังคมยุคใหม่และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ โดยพัฒนาให้คนไทยมีทักษะและคุณลักษณะที่เหมาะสมกับโลกยุคใหม่
 

การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม โดยลดความเหลื่อมล้ำทั้งในเชิงพื้นที่และโอกาสในการแข่งขันของภาคธุรกิจ รวมถึงสนับสนุนช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาสให้มีโอกาสในการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคม การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน โดยปรับปรุงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตและบริโภคให้มีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหามลพิษสำคัญด้วยวิธีการที่ยั่งยืน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ระยะยาว เสริมสร้างความสามารถของไทยในการรับมือการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงภายใต้บริบทโลกใหม่ โดยการสร้างความพร้อมในการรับมือกับการเป็นสังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยโรคระบาด

นอกจากเป้าหมายของแผนแล้ว ยังกำหนด 13 หมุดหมาย เป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน สนับสนุนในการพลิกโฉมประเทศ โดยมีหมุดหมาย เป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง การท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน โดยยกระดับการท่องเที่ยวให้เป็นการท่องเที่ยวคุณภาพสูง เป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง เป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค เป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของอาเซียน
 

หมุดหมายมีเอสเอ็มอีที่เข้มแข็งมีศักยภาพสูงและแข่งขันได้ มีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ มีความยากจนข้ามรุ่นลดลงและคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคม มีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ ลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีภาครัฐที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ประชาชน

ทั้งเป้าหมายและหมุดหมายของแผน 13 นั้นครอบคลุมและตอบโจทย์ได้ระดับหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศหลังโควิด-19 ที่มีผลทำให้สภาพแวดล้อมทุกด้านเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้นแผนต้องให้ความสำคัญพิเศษประเด็นใดประเด็นหนึ่ง หรือไม่ควรเกิน 2-3 ประเด็น เพื่อนำประเทศออกจากหลุมดำ อาทิ การมุ่งไปสู่การแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง ทุกภาคส่วน บุคลากร งานวิจัย กฎหมาย ระเบียบจะต้องเอื้อไปสู่เป้าหมายและหมุดหมายนั้น หรือกระทั่งการมุ่งไปสู่เศรษฐกิจเทคโนโลยี ก็ต้องวางแนวทางให้บรรลุเป้าหมาย รองรับการขับเคลื่อนของสังคม ตอบโจทย์ถมช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ที่แนวโน้มระยะ 5 ปีข้างหน้าจะห่างกันมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะภายหลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19