Deep Questions ของธุรกิจครอบครัว

04 ต.ค. 2564 | 22:40 น.

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

การบริหารธุรกิจครอบครัวเป็นหนึ่งในงานที่ยากที่สุดในโลก หากสมาชิกในครอบครัวต้องการรักษาธุรกิจครอบครัวเอาไว้และ “เป็นเจ้าของอย่างแท้จริง” สมาชิกครอบครัวสามารถร่วมกันสร้างได้หลายวิธี หนึ่งในนั้นคือการใช้เทคนิคอย่างนึงที่เรียกว่าการสอบสวนหรือ “ probes ” เป็นการตั้งคำถามแบบ “deep questions” เพื่อให้ปรึกษาหารือ ทดสอบแนวคิดใหม่ และสมมติสถานการณ์ให้พิจารณาด้วยความซื่อสัตย์และเห็นอกเห็นใจ เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวสามารถหาจุดร่วมได้ โดยทั้ง 5 Deep Questions มีดังนี้

 

1st Question “พวกเราอย่างน้อยหนึ่งคนยังคงต้องการที่จะดำเนินธุรกิจครอบครัวร่วมกันใช่หรือไม่” ถ้าทุกคนปฏิเสธ ให้ถามว่า “เราต้องการทำอะไร” เพื่อค้นหาวิธีจะจัดการสิ่งที่เป็นทรัพย์สินร่วมกัน ถ้าตั้งแต่สองคนขึ้นไปตอบว่า “ใช่” ให้ถามพวกเขาว่า “ประโยชน์และความท้าทายของการเป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกันคืออะไร” จากนั้นอาจถามคำถามติดตามต่อไปนี้ เช่น “เราจะสามัคคี ร่วมกันรักษาค่านิยมและวัฒนธรรมร่วมที่เราตั้งใจจะนำมาใช้ และส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปผ่านเรื่องราวและธรรมเนียมปฎิบัติได้หรือไม่”

 

2nd Question  “พวกเราตั้งแต่สองคนขึ้นไปอยากทำงานร่วมกันไหม” หากคำตอบคือ “ใช่” คำถามต่อไปก็คือ “การทำงานร่วมกันจะมีประโยชน์และความท้าทายอย่างไร” จากนั้นอาจตามด้วยคำถามติดตาม เช่น “การทำงานร่วมกันหมายความว่าอย่างไร” หรือ “ถ้าพวกเราคนใดคนหนึ่งไม่ต้องการทำงานกับสมาชิกในครอบครัวคนอื่น แต่ต้องการยังคงเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจครอบครัว เราจะจัดการกับสถานการณ์นั้นอย่างไร”

 

3rd Question “เราต้องการสร้างความมั่งคั่งทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม (Socioemotional wealth :SEW) ด้วยการทำงานร่วมกันหรือไม่” ถ้า “ใช่” ควรจะถามหาเหตุผล “ทำไมเราถึงต้องสร้างร่วมกัน” และ “สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร” จากนั้นอาจใช้คำถามเพิ่มเติม เช่น “เราจะตัดสินใจเกี่ยวกับประเด็นสำคัญๆ

 

เช่น ความเป็นผู้นำ การกำกับดูแล โครงสร้าง นโยบาย แนวทางปฏิบัติ และการวางแผนสืบทอดกิจการได้อย่างไร” /“เราจะจัดการกับปัญหาที่อาจละเอียดอ่อน เช่น ความคาดหวังในการปฏิบัติงาน ทักษะและความสามารถที่จำเป็น ค่าตอบแทนและรางวัล ลำดับชั้นในที่ทำงาน และคำจำกัดความของบทบาท สิทธิ ความรับผิดชอบ และหน้าที่รับผิดชอบได้อย่างไร”

 

4th Question “เพื่อสร้างความมั่งคั่งทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เราจะร่วมกันทำอะไร” และถกกันเพื่อหาเป้าหมายร่วมกันและวิธีการที่ทุกคนยอมรับ จากนั้นคำถามติดตามที่อาจต้องถาม เช่น “สมาชิกครอบครัวแต่ละคนมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่บริษัทของเราดำเนินการอยู่” / “ใครในครอบครัวจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนหรือออกจากธุรกิจ”

 

“ข้อดีและข้อเสียของการเป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกันคืออะไร” นอกจากนี้ยังมีคำถามอื่นๆ เช่น “เราควรจะร่วมลงทุนเพื่อส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการในรุ่นต่อไปหรือไม่”/ “เราจะจัดการกับปัญหาที่ละเอียดอ่อน เช่น ความไม่ไว้วางใจ ที่อาจกระตุ้นให้สมาชิกในครอบครัวหาทางออกจากการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจได้อย่างไร”

 

5th Question “สมาชิกในครอบครัวทุกคนรู้สึกว่าได้รับส่วนแบ่งที่เป็นธรรมจากความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัวหรือไม่” หากคำตอบคือ “ไม่” ให้กลับไปทบทวน Question 1 ถึง 4 และวนรอบการซักถามต่อไปจนกว่าสมาชิกทุกคนในครอบครัวจะรู้สึกว่าสามารถตอบคำถามสำคัญนี้ได้ว่า “ใช่” อย่างตรงไปตรงมา จากนั้นอาจใช้คำถามติดตามต่อไปนี้

 

เช่น “จะทำอย่างไรถ้าเรามีธุรกิจที่ผลการดำเนินงานไม่ดีซึ่งอนาคตไม่แน่นอน”/ “มีทางเลือกอะไรบ้างให้กับสมาชิกในครอบครัวที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม” หรือ “ถ้าพวกเราอย่างน้อยหนึ่งคนไม่ได้รับผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เพียงพอในแง่ของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจหรือสังคม ทำไมเราถึงควรเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจต่อไป”

 

บางครอบครัวอาจต้องใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี ในการเพื่อค้นหาคำตอบนี้เพื่อไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการ เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวต้องเรียนรู้ที่จะสื่อสารอย่างเปิดเผยและให้เกียรติซึ่งกันและกัน

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,719 วันที่ 3 - 6 ตุลาคม พ.ศ. 2564