***หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3722 ระหว่างวันที่ 14-16 ตุลาคม 2564 โดย...กาแฟขม
*** สถานการณ์โควิดในประเทศผู้ติดเชื้อรายวันยังแตะหลักหมื่นต่อวัน แต่หนีไม่ได้กับการเมือง เปิดเศรษฐกิจ สถานการณ์ไปหนักหน่วงใน 4 จังหวัดภาคใต้ ที่ต้องดูแลดันให้เต็มที่ ทั้งในแง่วัคซีนและการควบคุมโรคระบาด จังหวัดทางภาคใต้อื่นๆ ก็มีสถิติผู้ติดเชื้อที่น่ากังวล กรณีจ.กระบี่ ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
*** รัฐบาลปรับยุทธศาสตร์บริหารโควิด-19 เดินสู่โหมดการเปิดเมือง เปิดประเทศ ให้ทุกคนได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด โดยเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ตามแผน เพื่อป้องกันการเสียชีวิตให้ได้ ไม่เปิดไม่ได้แล้ว สิงคโปร์ก็เปิดแล้วล่าสุดเพิ่มให้อีก 8 ประเทศ ประกอบไปด้วย แคนาดา, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, สเปน, สหรัฐฯ และ สหราชอาณาจักร เข้าโดยไม่ต้องกักตัว หลังจากต้อนรับ บรูไน และ เยอรมนี ไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ต้องมีเงื่อนไขวัคซีนครบโดส หลายๆ ประเทศในยุโรปก็เปิดประเทศไปก่อนหน้านี้เช่นเดียวกัน ล่าสุดอังกฤษเปิดให้คนไทยเข้าได้แล้วโดยไม่กักตัว แต่ต้องมีฉีดวัคซีนที่อังกฤษรับรองครบโดสเช่นเดียวกัน
*** เรื่องเปิดประเทศ เรียนรู้อยู่กับโควิดมิใช่ปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่การบริหารจัดการโควิดและวัคซีนของรัฐบาลทำได้ไหม โดยเฉพาะการบริหารจัดการข้อมูล หรือ บิ้กดาต้า ให้เป็นประโยชน์สูงสุด ขั้นแรกกระทรวงสาธารณสุขต้องยอมให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลวัคซีน หรือ เปิดทางปลั๊กระบบให้ศูนย์ข้อมูลสื่อสารโควิด-19 เห็น เข้าถึงได้ เพื่อนำมาใช้วางแผนร่วม กรณีจะเปิดจังหวัด หรือ เปลี่ยนสีจังหวัด ผ่อนคลายกิจกรรมต่างๆ ต้องบอกได้ทันทีลงระดับพื้นที่ระดับ ตำบล หมู่บ้าน ฉีดวัคซีนครบหรือไม่ ก่อนนำข้อมูลแบบนี้ไปเผยแพร่ที่สามารถใช้ปลายนิ้วจิ้มรู้ได้ทันทีว่า พื้นที่นี้ฉีดวัคซีนไปเกินมาตรฐาน 70 % ของจำนวนประชากรแล้วหรือไม่ หรือความหนาแน่นของผู้ป่วยในหมู่บ้าน ตำบลนั้น เป็นอย่างไร เพื่อผู้เดินทางจะได้ตรวจสอบและปฏิบัติตัวได้ถูกต้องในการควบคุมและป้องกันโรค นอกจาข้อปฏิบัติพื้นฐาน ใส่หน้ากาก รักษาระยะห่างแล้ว ข้อมูลแบบนี้มีอยู่แล้วเพียงแต่รวบรวมและบริหาร เผยแพร่ให้ตรงเป้าหมาย ที่สำคัญที่สุดหน่วยงานต้นทางอย่างกระทรวงสาธารณสุขต้องพร้อมตอบสนองเป็นเบื้องต้นเสียก่อน ไม่ใช่มาเอาไปได้ แต่ต้องส่งคนเข้าไปคีย์ข้อมูลกันทีละเคส อันนี้ต้องปรับแนวคิดให้ได้
***หลังรัฐบาลตั้ง ดร.เสรี วงษ์มณฑา กับ ดร.เกษมสันต์ วีระกุล เป็นบรรณาธิการบริหาร ศูนย์บริหารการสื่อสารในภาวะวิกฤติ ใน ศบค. ก็ได้ไปรวมรวมข้อมูลที่จะมาดำเนินการ โดยเฉพาะเรื่องโควิด-19 ขณะนี้ได้เปิดเวบไซด์ https://thailand-covid19.prd.go.th/th/home ขึ้นมาแล้ว ในนั้นบอกอะไรบ้าง โรดแมปการจัดการโควิดด้วยอินโฟกราฟฟิกที่ดูง่าย จัดหาวัคซีน ฉีดวัคซีน ไปแล้วเท่าไร แยกเป็นรายเดือน งบประมาณและรายได้ที่จะเกิดขึ้น ตามด้วยสถานการณ์โควิดรายวัน การฉีดวัคซีน และยังมีลิงค์ไปที่มาตรการช่วยเหลือโควิดต่างๆ ทั้ง ม.33 เราชนะ คนละครึ่ง ก็ลองเข้าไปคลิ๊กกันดู
*** มาด้านภาคธุรกิจตอนนี้เริ่มมีเสียงแว่วๆ มาจากสมาชิกบางรายในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ให้จับตาดูต้นปีหน้า (มีนาคม2565) ประธานส.อ.ท. สุพันธุ์ มงคลสุธี จะครบวาระ ต้องสรรหาประธานส.อ.ท.คนใหม่ งานนี้ที่เห็นๆ มีแน่ๆ 2 ตัวเต็ง หลายคนหวังว่าคงไม่มีศึกชิงเก้าอี้เกิดขึ้นแบบร้อนแรงชนิดไม่เผาผีเกิดขึ้นอีก หรือหากฝ่ายใดพ่ายแพ้ก็หายสาญสูญกันไปเลย ความจริงหลายคนถึงไม่ได้นั่งเก้าอี้นี้ก็สามารถช่วยงานได้หลายด้านอย่างมีคุณภาพ
*** กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ขยับล่าสุดหลังเห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ค่อนข้างรุนแรง จึงได้ตัดสินใจนำเอาสถานที่ “คัยโกเฮาส์”ที่เขตหนองจอก กทม.ที่ก่อนหน้านี้ ตั้งใจจะทำเป็นบ้านพักคนชราเพื่อรองรับผู้สูงอายุในยุคของสังคมผู้สูงอายุ แต่ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันนี้เกิดการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว การหาที่เข้าทำการรักษาค่อนข้างจะยากลำบาก ล่าสุดจึงตัดสินใจยื่นขออนุญาตจัดทำเป็น Hospitel ร่วมกับโรงพยาบาลปิยะเวช ท่านใด มีญาติหรือคนใกล้ชิด หรือองกรค์ใด มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการกักกันตัวเพื่อรักษา หรือต้องการตรวจหาเชื้อฯ ก็สามารถติดต่อได้ที่คุณชัชวาล โทร 081-441-4899
***เร็วๆ นี้ครอบครัวของ สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) นำเงินที่ทุกท่านร่วมบริจาคทำบุญในงานของคุณแม่ จำนวน 4,907,671 บาท และทางครอบครัวได้บริจาคสมทบเพิ่ม รวมยอดเงินบริจาคทั้งสิ้น 8 ล้านบาท ส่งมอบให้แก่ มูลนิธิรามาธิบดี เพื่อเป็นเงินทุนสนับสนุนซื้อเครื่องมือแพทย์สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ โดยได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี เป็นผู้รับมอบ