Move On ของธุรกิจครอบครัว

06 ธ.ค. 2564 | 13:31 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ธ.ค. 2564 | 20:36 น.

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

จากรายงาน The “Asian Family Businesses: Challenges and Opportunities for the Next Generation” ของบริษัทที่ปรึกษาและค้นหาภาวะผู้นำระดับโลก Russell Reynolds Associates พบว่าธุรกิจครอบครัวในเอเชียกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยธุรกิจครอบครัวในเอเชียให้ความสนใจกับการสืบทอดตำแหน่งผู้นำจำนวนมากขึ้น ไม่ใช่แค่การสืบทอดความมั่งคั่งเท่านั้น

 

ทั้งนี้ 85% ของบริษัทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีกลุ่มครอบครัวเป็นเจ้าของ และจากธุรกิจครอบครัวระดับโลก 750 อันดับแรกที่จัดอันดับตามรายได้ ยังพบว่ามากกว่า 20% อยู่ในภูมิภาคเอเชีย โดยมีรายได้รวมกันเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์เลยทีเดียว ทั้งนี้เนื่องด้วยจากการศึกษาในปีค.ศ. 2017 ของ INSEAD

 

รายงานว่าธุรกิจครอบครัวในเอเชียกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ และคาดว่ามากกว่า 30% จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนรุ่นในอีก 5 ปีข้างหน้า และธุรกิจจำนวนไม่น้อยก็อยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้ว ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจถึงแนวโน้มที่ส่งผลต่อภาวะผู้นำครอบครัวในเอเชียมากขึ้น Russell Reynolds Associates จึงได้ทำการวิเคราะห์ธุรกิจครอบครัวมากกว่า 30 รายในอินเดีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ และสัมภาษณ์ที่ปรึกษาด้านธุรกิจครอบครัวเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น ซึ่งพบข้อมูลที่น่าสนใจมากมาย

 

แม้จากการศึกษาของ The Family Business Institute ระบุว่ามีเพียง 30% ของธุรกิจครอบครัวที่สามารถส่งต่อไปยังรุ่นที่ 2 ได้ ขณะที่ 12% สามารถดำเนินต่อไปถึงรุ่นที่ 3 และมีเพียง 3% เท่านั้นที่พัฒนาไปถึงรุ่นที่ 4 ขึ้นไป แต่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ธุรกิจครอบครัวมักมีอายุกิจการน้อยกว่าธุรกิจในยุโรปมาก และธุรกิจครอบครัวจำนวนมากอยู่ภายใต้การนำของผู้นำครอบครัวรุ่นที่ 2 หรือ 3 โดยแต่ละรุ่นมีความท้าทายในการจัดการที่แตกต่างกันออกไป

ธุรกิจครอบครัว

นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในวงกว้างและการเกิดขึ้นของรูปแบบธุรกิจดิจิทัล ดังนั้นแผนพัฒนาอย่างเป็นทางการสำหรับผู้นำครอบครัวรุ่นต่อไปจึงมีความสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจเป็นอย่างมาก หลายครอบครัวพัฒนาคนรุ่นต่อไปโดยปล่อยให้พวกเขาเป็นผู้นำในการจัดตั้งหน่วยธุรกิจใหม่ พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ขับเคลื่อนความคิดริเริ่มด้านดิจิทัล หรือขยายธุรกิจไปสู่ภูมิภาคใหม่ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังพบว่าธุรกิจครอบครัวในเอเชียอยู่ในตำแหน่งที่ดีสำหรับการเป็นผู้นำในเรื่อง ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล) และความยั่งยืน จากการศึกษาของ Credit Suisse พบว่าธุรกิจครอบครัวมีแนวโน้มที่จะมีคะแนน ESG ที่ดีกว่าบริษัททั่วไปที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ผู้นำครอบครัวรุ่นต่อไปชื่นชมแนวคิดและประโยชน์ของการดูแลการกำกับกิจการที่ดีและให้ความสำคัญกับความยั่งยืนอย่างจริงจังมากขึ้น

 

ขณะที่ Russell Reynolds Associates ระบุว่าธุรกิจครอบครัวกำลังก้าวไปข้างหน้าด้วยการใช้มาตรการ ESG และจะมีประโยชน์อย่างมากหากทำให้ถูกต้อง เช่น การส่งเสริมชื่อเสียงขององค์กร การกำหนดเป้าหมายในระยะยาวและสิ่งที่เกี่ยวข้อง และเป็นเข็มทิศนำทางให้กับครอบครัว พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้างขึ้น เป็นต้น

 

แนวโน้มอีกประการหนึ่งที่พบในธุรกิจครอบครัวในเอเชียคือคนรุ่นใหม่ไม่ต้องการเข้าสู่ธุรกิจแบบดั้งเดิม หลายคนหาทางหลีกเลี่ยงและทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป นั่นจึงทำให้เกิดความต้องการในการนำมืออาชีพเข้ามาบริหารธุรกิจมากขึ้น รวมถึงการมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีและกลยุทธ์ดิจิทัลมากขึ้นด้วยเช่นกัน            

 

ที่มา: The Economic Times News. 19 November, 2021. More family businesses in Asia now paying attention to leadership succession: Report. Available: https://economictimes.indiatimes.com/news/company/corporate-trends/more-family-businesses-in-asia-now-paying-attention-to-leadership-succession-report/articleshow/87624130.cms

 

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,737 วันที่ 5 - 8 ธันวาคม พ.ศ. 2564