เมื่อเจ้าของธุรกิจครอบครัว Pull The Plug

07 พ.ย. 2564 | 22:52 น.

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

ในเรื่องการสืบทอดกิจการของธุรกิจครอบครัวนั้นกล่าวกันว่ามีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่สามารถเอาตัวรอดก้าวไปสู่รุ่นที่ 2 ได้หลังจากยุคผู้ก่อตั้ง จากการศึกษาดั้งเดิมบอกว่าบริษัทเหล่านี้ต้องสะดุดลงเพราะเจ้าของไม่มีการวางแผนการสืบทอดกิจการ หรือคนรุ่นใหม่ไม่พร้อมที่จะเข้ามารับตำแหน่งผู้นำ แต่ก็พบว่าบางครั้งเจ้าของก็เป็นผู้ตัดสินใจหยุดดำเนินกิจการนั้นเสียเอง

 

อันทำให้มีผลกระทบต่อธุรกิจครอบครัวของตนเป็นอย่างมาก แท้จริงแล้วผู้บริหารที่เป็นเจ้าของต้องเป็นผู้สร้างและรักษาคุณค่าของผู้ประกอบการและมีผลกระทบต่อทั้งความทุ่มเทและผลการปฏิบัติงานในบริษัท และช่วยบริษัทจัดการความขัดแย้งได้ แต่หากพวกเขาออกไปก่อนที่ผู้นำคนต่อไปจะพร้อมเข้ามารับช่วงต่อก็อาจทำให้บริษัทล่มสลายตามไปด้วย

 

มีงานวิจัยที่ศึกษาถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจในงานและความตั้งใจที่จะอยู่กับธุรกิจต่อไปของผู้บริหารที่เป็นเจ้าของ โดยเก็บข้อมูลในกลุ่มผู้บริหารที่เป็นเจ้าของธุรกิจครอบครัวจำนวน 155 รายที่ดำเนินธุรกิจระหว่างปีค.ศ1997-2002 ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์และสำรวจด้วยแบบสอบถามที่พิจารณาถึงอิทธิพลของตัวแปร 7 ตัว

ธุรกิจครอบครัว

ที่ส่งผล 2 ด้าน ได้แก่ ความพึงพอใจของเจ้าของ และความตั้งใจของเจ้าของที่จะอยู่หรือออกจากบริษัท ซึ่ง 3 ใน 7 ตัวแปร พิจารณาที่ตัวเจ้าของเอง ได้แก่ อายุ ประสบการณ์ที่ผ่านมากับธุรกิจอื่นๆ และเจ้าของเป็นผู้ก่อตั้ง/ไม่ได้ก่อตั้ง

 

ขณะที่อีก 4 ตัวแปรพิจารณาคุณลักษณะของบริษัท ได้แก่ มีแผนสืบทอดกิจการหรือไม่ ระดับของความขัดแย้ง ความสามารถในการทำกำไรและขนาดบริษัท โดยพิจารณาผลกระทบของปัจจัยทั้ง 7 ที่มีต่อ “ความพึงพอใจ” และ “ความตั้งใจที่จะอยู่หรือออกจากบริษัท” ของเจ้าของ ผลการศึกษาพบว่าบริษัทที่มีความสามารถทำกำไรและมีขนาดใหญ่มากขึ้นทำให้เจ้าของมีแนวโน้มที่จะอยู่ต่อ ขณะที่ความขัดแย้งอาจผลักไสพวกเขาออกไปจากบริษัท

 

โดยข้อค้นพบจากการศึกษาสามารถสรุปได้ดังนี้

 

  • ในเรื่อง “ความพึงพอใจในงาน” พบว่าอายุของเจ้าของและประสบการณ์ที่ผ่านมาไม่มีผลกระทบ อย่างไรก็ตามการเป็นผู้ก่อตั้งหรือผู้ร่วมก่อตั้งทำให้เจ้าของพึงพอใจในงานมากกว่า

 

- บริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรจะทำให้เจ้าของพึงพอใจในงานมากกว่า และความขัดแย้งทำให้เจ้าของไม่พึงพอใจในงาน

 

- ขนาดบริษัทและการวางแผนสืบทอดกิจการไม่มีผลกระทบต่อความพึงพอใจในงานของเจ้าของ

 

  • ในหมวด “ความตั้งใจที่จะออก” พบว่ามีเพียงปัจจัยด้านอายุของเจ้าของที่มีผลกระทบ ขณะที่ประสบการณ์ที่ผ่านมาและการเป็นผู้ก่อตั้งหรือผู้ร่วมก่อตั้งไม่มีผลกระทบ

 

- คุณลักษณะของบริษัทมีผลกระทบต่อการตั้งใจจะอยู่หรือออกไปจากบริษัท โดยบริษัทที่ใหญ่และมีกำไรมากกว่าทำให้เจ้าของมีแนวโน้มที่จะอยู่ต่อ และความขัดแย้งทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะลาออกมากขึ้น ขณะที่การวางแผนสืบทอดกิจการไม่มีผลกระทบต่อการที่พวกเขาอยู่หรือจากไป

 

นัยสำคัญสำหรับเจ้าของกิจการจากการศึกษานี้คือลักษณะของบริษัทมีผลกระทบมากกว่าลักษณะของเจ้าของไม่ว่าธุรกิจครอบครัวจะส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไปหรือไม่ และในขณะที่การวิจัยจำนวนมากมุ่งเน้นไปที่การวางแผนสืบทอดกิจการเพื่อให้แน่ใจว่าการส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ประสบความสำเร็จ แต่การศึกษานี้กลับชี้ว่าควรพิจารณากลยุทธ์อื่นๆ

 

ตัวอย่างเช่น  พบว่าการทำกำไรที่ต่ำและความขัดแย้งสูงทำให้เจ้าของพึงพอใจน้อยลงและมีแนวโน้มที่จะออกไปจากบริษัทมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าเจ้าของ นักวิจัย และที่ปรึกษาควรมุ่งเน้นที่การช่วยเหลือธุรกิจครอบครัวให้มีผลกำไรมากขึ้น สร้างความมั่นใจว่าเจ้าของจะมีความสุขและไม่วางมือออกไปก่อนที่ผู้นำคนใหม่จะพร้อม โดยอาจมุ่งเน้นไปที่การช่วยให้บริษัทเติบโต

 

ซึ่งพบว่าสามารถเพิ่มความเต็มใจของเจ้าของที่จะอยู่ต่อไป และในการส่งเสริมแนวทางการจัดการ เช่น การทำงานร่วมกันเพื่อลดความขัดแย้ง นอกจากนี้ผู้บริหารที่เป็นเจ้าของกิจการที่ให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดีอาจช่วยลดผลกระทบจากการแก่ชราและช่วยให้การถ่ายโอนกิจการราบรื่นขึ้นอีกด้วย

 

ที่มา: Hoffman, J., Sorenson, R., & Brigham, K. (2020, January 15). Surprising reasons owners exit family businesses. Entrepreneur & Innovation Exchange. Retrieved October 24, 2021, from https://familybusiness.org/content/surprising-reasons-owners-exit-family-businesses

 

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,729 วันที่ 7 - 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564