จำนำข้าว&ประกันรายได้ “รูโหว่-ช่องทางทุจริต”

11 ธ.ค. 2564 | 01:00 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ธ.ค. 2564 | 13:24 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย... บากบั่น บุญเลิศ

ประเด็นนโยบายประกันรายได้-จำนำข้าว ที่ล้วนมีเป้าหมายในการดูแลสินค้าเกษตรให้กับกลุ่มชาวนาที่มีอยู่ราว 8 ล้านครัวเรือน กลายเป็นปมถกเกียงกันอีกครั้ง เมื่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่า “…โครงการประกันรายได้ ไม่ส่งเสริมการลดต้นทุน ไม่ส่งเสริมการผลิต และไม่ส่งเสริมการตลาด เป็นเพียงการชดเชยส่วนต่าง ซึ่งแตกต่างกับโครงการรับจำนำข้าว ที่เป็นการเข้าจัดการกลไกราคาตลาด ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น ชาวนาขายข้าวได้มากขึ้น…” เสมือนเป็นการปลุกผีนโยบายจำนำขึ้นมาอีกครั้ง
 

เป็นการโยนระเบิดท่ามกลางปัญหาเดิมที่ยังไม่มีการสะสาง กล่าวเฉพาะโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปี และนาปรัง ปีการผลิต 2554-2557 อคส.ฟ้องร้องดำเนินคดีไปแล้วในช่วงรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 1,143 คดี มูลค่าความเสียหายราว 500,000 ล้านบาท เป็นคดีแพ่ง 246 คดี คดีอาญา 897 คดี กลุ่มที่ดำเนินคดีอยู่ในกลุ่ม เช่น เซอร์เวเยอร์ เจ้าของคลัง

อคส.ยังระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี และข้าวเปลือกนาปรังยังไม่หมดยังเหลืออยู่อีกราว 220,000 ตัน ที่ต้องหาทางให้หมดภายในเดือน ก.ย. 2565 เพื่อปิดบัญชีโครงการจำนำให้เสร็จ
 

ขณะที่นโยบายประกันรายได้ที่รัฐบาลใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น ในวันที่ 9 ธันวาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ไปเป็นสักขีพยานในโอกาสที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รมว.คลัง มอบเงินตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และมาตรการคู่ขนานปีการผลิต 2564 - 2565 ทั่วประเทศ ผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ จ.สุพรรณบุรี

สำหรับการโอนเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และมาตรการคู่ขนาน ปีการผลิต 2564/65 ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ได้มีการโอนเงินให้เกษตรกรแล้ว 631,963 ราย เป็นเงิน 12,653  ล้านบาท โดยในวันที่ 9 - 13 ธันวาคม 2564 นี้ จะมีแผนการโอนเงินให้เกษตรกรอีก 3.58 ล้านราย เป็นเงิน 64,823.51 ล้านบาท โดยจ่ายเฉพาะส่วนต่างของราคาที่ขายได้กับราคาประกันจากรัฐบาล
 

“โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและมาตรการคู่ขนานครั้งนี้ ถือเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ ส่วนตัวมีความห่วงใยเกษตรกรที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ และรู้ดีถึงความยากลำบากในการได้ผลผลิตมาแต่ละครั้ง รัฐบาลให้ความสำคัญในด้านภาคการเกษตรเป็นภาคการผลิตที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยเจริญเติบโตมาโดยตลอด เจตนารมณ์ของรัฐบาลต้องการให้ประชาชนมีวิธีการผลิตที่เหมาะสม มีรายได้ที่ดี” นายกฯ กล่าวยืนยันแนวทางประกันรายได้ที่ จ.สุพรรณบุรี
 

การจ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้ข้าวนั้น มีการจ่ายก่อนหน้านี้แล้ว 3 งวด เป็นเงินราว 12,000 ล้านบาท โดยงวดที่ 1 งวดที่ 2 เต็มงวด และงวดที่ 3 จ่ายไปครึ่งงวด งวดที่จะจ่ายจากนี้ไปจะเป็นงวดที่ 3 ส่วนที่เหลือ และงวดที่ 4-7 รวม 5 งวด เป็นเงินราว 64,000 ล้านบาท กำหนดจ่ายวันที่ 9-13 ธ.ค.2564
 

งวดที่เหลือตั้งแต่งวดที่ 8 เป็นเงินราว 3,720 ล้านบาท และสุดท้ายงวดที่ 9-33 ซึ่งข้าวจะออกน้อย จ่ายรวมทั้งหมด 3,200 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 87,000 ล้านบาท.....นี่คือเงินจ่ายรอบนี้ 
 

แต่หากคิดรวมทั้งหมดนับตั้งแต่ รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินหน้าโครงการ ‘จำนำข้าวเปลือก’ และสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น ยางพารา และมันสำปะหลัง ในปี 2554 จนกระทั่งผ่านยุครัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีโครงการ ‘ประกันรายได้เกษตรกร’ ในปัจจุบันแหล่งเงินทุนหลักที่รัฐบาลล้วน “กู้มาใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจำนำสินค้าเกษตร และโครงการประกันรายได้เกษตรกร” แทบทั้งสิ้น และกู้มาจาก ธกส. ทั้งหมด
 

ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2564 พบว่า ธ.ก.ส.ให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ตามธุรกรรมนโยบายรัฐทั้งสิ้น 546,889 ล้านบาท เป็นลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาลตามธุรกรรมนโยบายรัฐ 433,749 ล้านบาท
 

จะเห็นได้ว่า โครงการรับจำนำข้าวและประกันรายได้ล้วนแล้วแต่มีข้อดีและข้อเสียแทบทั้งสิ้น!

เฉพาะโครงการรับจำนำข้าวนั้นจากผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอพบว่า การทุจริตในโครงการรับจํานําข้าวออกเป็น 3 ระดับตามขั้นตอนของการรับจํานําข้าวเหมือนกับในหนังสือเรื่องมหากาพย์โกงข้าว ของ ส.ส.วรงค์ เดชกิจวิกรม (2557) คือ ระดับ ต้นน้ำ ซึ่งเริ่มตั้งแต่การจดทะเบียนเกษตรกรจนถึงการที่เกษตรกรนําข้าวเปลือกไปส่งมอบให้โรงสีใน โครงการรับจํานําข้าว และรับเงินจาก ธ.ก.ส. ระดับกลางน้ำ คือ ช่วงที่โรงสีต้องสีข้าวเปลือกแล้วนําข้าวสารไปส่งมอบให้โกดังกลาง โดยมีเซอร์เวย์เยอร์เป็นผู้ตรวจปริมาณประเภทและลักษณะของข้าว ระดับปลายน้ำ คือ การระบายข้าวของรัฐ 
 

ระดับต้นน้ำ ปัญหาการทุจริตที่สําคัญที่สุดในระดับเกษตรกร คือ การจดทะเบียนเกินความเป็นจริง เกษตรกรบางคนนําที่ดินที่ไม่ได้ใช้ปลูกข้าวมาจดทะเบียน แล้วขายสิทธิ์ดังกล่าวให้แก่เพื่อนบ้านที่เป็น นายหน้าของโรงสี หรือขายให้โรงสีโดยตรง ในราคาตันละ 500-2,000 บาท อนึ่งเกษตรกรบางคนใน จังหวัดเชียงรายให้สัมภาษณ์ผู้วิจัยว่ามีพ่อค้าลักลอบนําเข้าข้าวเปลือกจากพม่าเข้ามาขายให้เกษตรกร บางคนที่จดทะเบียนไว้เกินกว่าปริมาณผลผลิตข้าวของตน 
 

การสัมภาษณ์ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตําบลหลายแห่งพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เงินไม่ใช่ ของเอ็ง ถ้าจดทะเบียนให้ เอ็งก็จะได้รับเลือกตั้งในครั้งต่อไป” นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริม การเกษตรและเจ้าพนักงานที่เข้าร่วมการจดทะเบียนในขั้นตอนของเวทีประชาคม ยังเกรงใจ นักการเมืองท้องถิ่น ทําให้จําเป็นต้องจดทะเบียนเกินกว่าพื้นที่ปลูกข้าวของเกษตรกร ปัญหานี้จะแก้ไข ได้หากมีการจัดทําแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม 
 

ผลของการจดทะเบียนเกินทําให้มีข้าวนาปรังเข้าโครงการรับจํานํามากกว่าปริมาณผลผลิต ข้าวที่กระทรวงเกษตรคาดการณ์ไว้ เช่น ในฤดูนาปรังปี 2555 มีข้าวในโครงการจํานํา 14.7 ล้านตัน จากประมาณการผลผลิต 11 ล้านตัน (แต่ข้าวส่วนเกินบางส่วนมาจากพื้นที่น้ำท่วมในปี 2554 เมื่อน้ำ ลดชาวนาก็ลงมือเพาะปลูก แต่ไม่อาจเข้าโครงการจํานํานาปี 2554/55 ทัน รัฐบาลจึงยอมให้นํามาจํานําเป็นข้าวนาปรังปี 2555 
 

การทุจริตอีกแบบหนึ่ง เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลเริ่มจํากัดมูลค่าการรับจํานําข้าวต่อเกษตรกร แต่ละครัวเรือนไม่เกิน 500,000 บาท ในปีการผลิต 2555/56 และ 350,000 บาท ในปี 2556/57 ปรากฏว่าเกษตรกรบางรายที่มีที่ดินจํานวนมากเริ่มแตกครัวเรือน โดยแบ่งที่ดินบางส่วนให้ลูกหลาน ญาติ พี่น้อง อย่างไรก็ตามโครงการจดทะเบียนครั้งที่ 4-5 ข้าราชการเริ่มเข้มงวดกับการจดทะเบียน เพราะรัฐบาลเริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง ทําให้เกษตรกรที่ได้ใบรับรอง มีจํานวนลดลง 
 

ปัญหาอีกประการหนึ่ง คือ เกษตรกรบางรายนําข้าวมาขายให้รัฐบาลเกินกว่าปริมาณที่จด ทะเบียน แต่ในการจํานํา 3 รอบแรก รัฐบาลอะลุ้มอล่วยยอมให้เกษตรกรขายข้าวส่วนเกินได้ไม่เกิน 20% ของปริมาณ 


อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัฐบาลเริ่มมีปัญหาสภาพคล่องไม่เพียงพอต่อการจ่ายเงินให้ เกษตรกร รัฐบาลจึงเริ่มจํากัดวงเงินการรับจํานํา และไม่ยินยอมให้ชาวนาขายข้าวเกินกว่าปริมาณที่จดทะเบียนไว้ แต่ก็ยังปรากฏว่ามีชาวนาบางคนขายข้าวเกินจํานวนให้แก่องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) โดยวิธีนําข้าวเปลือกไปส่งให้โรงสีมากกว่า 1 แห่ง 


ทําให้ เจ้าหน้าที่ อ.ต.ก./อคส.ที่มิได้ตรวจสอบปริมาณข้าวทั้งหมดของเกษตรกรแต่ละราย ออกใบประทวน เกินปริมาณการจดทะเบียนให้แก่เกษตรกรบางราย ในโครงการรับจํานําครั้งสุดท้าย (นาปี 2556/57) มีเกษตรกรที่ได้รับใบประทวนเกินกว่าปริมาณการจดทะเบียนกว่า 20,000 ตัน 


แต่โชคดีที่ ธ.ก.ส. ตรวจพบจากระบบคอมพิวเตอร์ของตน จึงปฏิเสธการจ่ายเงินให้เกษตรกร ปัญหานี้สะท้อน ความหละหลวมของการทํางานของเจ้าหน้าที่ อ.ต.ก./อคส. ไม่มีการจัดทําบัญชีเชื่อมโยงข้อมูลของ โรงสีและโกดัง 
 

ทั้งๆ ที่รัฐบาลได้จัดหางบประมาณซื้อคอมพิวเตอร์และเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์ที่ ติดตั้งตามโรงสีในโครงการไปแล้ว นอกจากนี้ปัญหานี้ยังสะท้อนว่ารัฐบาลมุ่งแต่การหาเสียงกับชาวนา โดยไม่สนใจกับภาระการคลัง จึงปล่อยให้ชาวนาผลิตและขายข้าวไม่จํากัดจํานวนให้รัฐบาล ขณะที่ใน ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาที่ร่ำรวยซึ่งมีนโยบายอุดหนุนเกษตรกรยังพยายามจํากัด ปริมาณการผลิตของเกษตรกร และมีบทลงโทษเกษตรกรที่บิดพลิ้วข้อตกลงกับรัฐบาล 
  

นอกจากนี้ มีข้อกล่าวหาว่าโรงสีโกงชาวนาที่นําข้าวมาขายในโครงการรับจํานํา โดยการโกงน้ำหนัก ความชื้นและสิ่งเจือปน ทําให้ชาวนาขายข้าวได้ราคาต่ำกว่าราคารับจํานําค่อนข้างมาก เช่น ข้าวเปลือกเจ้า มีราคาจํานํา 15,000 บาท ชาวนาขายได้เงินเพียง 12,500-13,000 บาทต่อตัน ข้าว หอมมะลิขายได้ ราคา 15,000-17,000 บาทจากราคาจํานํา 20,000 บาทต่อตัน   
  

การทุจริต ประการสุดท้าย คือ โรงสีบางแห่งออกใบประทวนให้เกษตรกรล่าช้าเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ปัญหานี้เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโรงสีจํานวนน้อย เหตุผลที่โรงสีส่วนใหญ่ออกใบประทวนล่าช้า เพราะปริมาณการรับจํานํา อาจเต็มโควตากําลังการผลิตของตน ทําให้โรงสีไม่อาจสีแปรสภาพเพื่อนําข้าวสารส่งโกดังกลางได้ตาม กําหนดเวลาของกระทรวงพาณิชย์ 


แต่การสัมภาษณ์เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. บางแห่งพบว่า โรงสีบางแห่งต้องการบีบให้เกษตรกรที่ร้อนเงินต้องขายข้าวเปลือกให้ตนในราคาตลาดเพื่อโรงสีจะได้นําไปสวมสิทธิ์ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ 


เหตุผลสําคัญอีกข้อหนึ่งที่มีการจ่ายเงินล่าช้า คือ รัฐบาลมีปัญหาขาดสภาพคล่อง หรือ อนุมัติเงินล่าช้า ธกส.ไม่สามารถจ่ายเงินให้เกษตรกรได้ก่อนการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี 
 

ที่น่าประหลาดใจมาก คือ มีโรงสีหลายราย (โดยเฉพาะโรงสีนอกโครงการ) และ เกษตรกรบางรายที่ระบุว่า มีโรงสีบางแห่งออกใบประทวนปลอม
 

เห็นรูโหว่ของนโยบายกันหรือยัง!