ทรัพยากรบุคคลของไทยเรา

25 ธ.ค. 2564 | 06:15 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ธ.ค. 2564 | 13:29 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลายคนพูดว่า “การสร้างคนนั้นยากกว่าการสร้างบ้าน” ซึ่งก็น่าจะใช่นะครับ เพราะการสร้างบ้านนั้นสามารถใช้เงินสร้างได้ แต่การสร้างคน เงินเป็นเพียงแค่ปัจจัยรอง ที่ยังมีปัจจัยหลักอีกหลายอย่าง มนุษย์นั้นอาจจะต้องสร้างด้วยหลายๆ ปัจจัย เช่น จะต้องเป็นคนที่มีจิตใจอยากจะเรียนรู้ ต้องมีความมานะอดทนในการเรียนรู้ ต้องใช้เวลานานกว่าจะเรียนรู้ให้สำเร็จได้ ต้องมีผู้คนที่มาสนับสนุนคอยชี้แนะ ต้องมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน และต้องมีสถานะทางการเงินในการสนับสนุนให้เรียนรู้ ฯลฯ จึงทำให้การสร้างบุคลากรขึ้นมาสักคน หาใช่เรื่องง่ายๆไม่ ทุกๆ ปัจจัยจะต้องส่งเสริมกันและสอดคล้องกันด้วย จึงจะได้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพจริงๆ
 

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ด้วยเหตุที่ผมได้ไปเห็นภาพการโฆษณาจากทางหน้าเวบไซต์บางแห่ง ถึงการรับสมัครบุคคลที่ต้องการไปทำงานที่ต่างประเทศ ทำให้ผมฉุกคิดถึงเรื่องนี้ขึ้นมา ด้วยความเคารพในสิทธิ์ที่ท่านสามารถจะทำได้ และผมก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์ใครได้ เพียงแต่ในความคิดของคนแก่อย่างผมคนหนึ่ง ที่เห็นโลกนี้มานานหกสิบกว่าปี ทำให้เกิดคันมืออยากจะเขียนมาเล่าสู่กันฟังแค่นั้นเองครับ

 

ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา เราจะเห็นการเดินทางไปทำงานที่สหรัฐอเมริกา ของบุคคลากรทางการแพทย์ของประเทศฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพยาบาล เนื่องจากภาษาทางการที่ประเทศนี้ จะมีสองภาษา คือภาษาฟิลิปิโนและภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่คนที่ได้รับการศึกษาของเขา เขาสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก นั่นจึงเป็นประโยชน์และไม่เป็นอุปสรรคใดๆ ที่ทำให้เขายังสามารถในการเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศได้ง่ายมาก  
 

เราจะเห็นว่านอกจากพยาบาลแล้ว สาวใช้ในบ้านทั่วไป ยังมีการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศได้เช่นกัน เช่น ในฮ่องกง ไต้หวัน แรงงานฟิลิปปินส์มีกันอย่างมากมาย ฮ่องกงในอดีตประมาณยี่สิบปีก่อน ในช่วงที่ผมไปเปิดร้านอาหารอยู่ที่คอสเวย์เบย์ ทุกๆ วันอาทิตย์บนถนนหน้าห้างสรรพสินค้าโซโก้และไทม์สแควร์จะมีแรงงานฟิลิปปินส์มาร่วมตัวกันตั้งแต่เช้ายันค่ำ ฝูงชนล้นหลามเหมือนมีมหกรรมเลยครับ 
 

เผอิญผมเป็นคนชอบยุ่งเรื่องของชาวบ้าน เลยชอบไปเสวนากับแรงงานเหล่านั้น จึงทราบว่าสาวๆ ที่ทำงานที่ฮ่องกงนั้น นอกจากงานแม่บ้านก็มีงานดูแลผู้สูงอายุตามบ้าน ซึ่งก็มีจำนวนไม่น้อยเลยครับ ในขณะที่แรงงานทางด้านผู้บริบาลผู้สูงอายุ ที่เดินทางมาทำงานต่างประเทศ แต่ภายในประเทศฟิลิปปินส์เอง กลับมีคุณภาพชีวิตของประชาชนไม่ค่อยจะทัดเทียมกับประเทศอื่นเลย ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนแตกต่างกันมาก ด้านสาธารณสุขพื้นฐานก็ไม่ค่อยจะดีเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ประเทศเขามีการส่งออกแรงานด้านบุคลากรทางการแพทย์เยอะมาก ในประเทศกลับเว้งว้างยังไงไม่รู้ นี่คือเรื่องที่น่าสนใจนำมาศึกษานะครับ

บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาล ผู้บริบาลผู้สูงวัย ผมเชื่อว่ารัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณ ในการส่งเสริมการศึกษาไปมิใช่น้อย แต่พอสร้างทรัพยากรมนุษย์เหล่านั้นเสร็จ เขากลับไม่ได้ตอบแทนบุญคุณให้แก่ประเทศของตนเอง แต่กลับไปรับใช้ชาวต่างชาติที่เราไม่รู้จัก หรือไม่ใช่เป็นญาติโกโหติกากับตนเองเลย เพียงแค่ “เพื่อเงิน”ตัวเดียว จึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดายมากๆ
 

บางคนอาจจะแย้งผมว่า “สถานะทางการเงินแตกต่างกันออกไป บางคนก็มีความต้องการเงินไม่เท่ากัน คุณมีเงินแล้วนี่ จึงพูดได้อย่างนั้น” ผมไม่เถียงครับ แต่คนบางคนอาจจะไม่ใช่แค่เป็นเพราะปัจจัยทางสถานะทางการเงินเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะเด็กๆ ที่กำลังเข้าสู่วัยสาว บางคนก็อาจจะอยากไปเปิดหูเปิดตา หรือท่องเที่ยวต่างประเทศ หรือบางคนอาจจะแห่ตามเพื่อนไปก็เป็นไปได้ แต่ถ้าทางการเขาฉุกคิดสักนิด แล้วหาทางแก้ไขปัญหา “ความอยาก” ดังกล่าวมา ก็อาจจะมีการส่งเสริมให้เขาเหล่านั้น คงอยู่อาศัยและร่วมแรงร่วมใจกันช่วยเหลือรักษาคนที่อยู่ในประเทศได้ครับ
 

วิธีหนึ่งที่ปัญญาอ่อนๆอย่างผมคิด คือแทนที่เราจะส่งออกคนไปช่วยดูแลคนในต่างประเทศ ทำไมเราไม่นำเข้าคนที่ต้องการการดูแลรักษามาอยู่ในประเทศเสียเองละ แล้วใช้การสร้างงานให้แก่บุคลากรที่อยากจะหาเงินเหล่านั้น ให้เข้ามาสู่วงจรการสร้างเม็ดเงิน ที่ติดตัวคนสูงวัยชาวต่างชาติมาด้วย ซึ่งผู้สูงวัยเหล่านั้น เม็ดเงินที่ติดตัวมากับตัวเขา อาจจะมากกว่าการที่คนของเราออกไปเรียกเก็บจากเขาที่ต่างประเทศมากมายกว่าเยอะครับ
 

นอกจากนี้ยังช่วยให้คนท้องถิ่นอื่นๆ ในประเทศ ได้รับอานิสงส์ไปด้วย เช่น เริ่มตั้งแต่อาหารการกิน ยูกยาที่ต้องใช้ รถยนต์หรือพาหนะที่จะต้องให้บริการ การท่องเที่ยวที่จะตามมากับบุตรหลาน ญาติพี่น้องของผู้สูงวัยต่างชาติที่จะมาเยี่ยมเยือน อื่นๆ อีกมากมายครับ 
 

การสร้างเม็ดเงินด้วยการส่งแรงงานหรือบุคคล ที่ออกไปหาเงินจากต่างประเทศ ก็ไม่ต่างกับการสูญเสียทรัพยากรบุคลากรที่มีคุณค่าไปให้แก่ชาวต่างชาติ ทั้งๆที่กว่าประคบประหงมเลี้ยงดูเขามายี่สิบกว่าปี จู่ๆ ก็มีใครไม่รู้จัก มาฉกฉวยเอาทรัพยากรที่มีคุณค่านี้ไปใช้ ผมคิดว่าน่าเสียดายมากเลยครับ