ศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันของประเทศไทย วันที่ 6 ม.ค.2565 มีจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อ 5,775 ราย มีผู้เสียชีวิต 11 ราย จากก่อนหน้านี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ที่ประมาณระดับ 2-3 พันรายต่อเนื่องตั้งแต่เดือนธ.ค.2564 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนการติดเชื้อโควิดที่ลดลง สถานการณ์ดูแลผู้ป่วยผ่อนคลายลงในลักษณะกราฟขาลงอย่างชัดเจน ในช่วงก่อนหยุดเทศกาลปีใหม่
อย่างไรก็ดีโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ที่กลายพันธุ์ได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว มีการคาดการณ์จะขึ้นมาแทนสายพันธุ์เดลต้าในทั่วโลก โดยคาดการณ์จะพุ่งสูงในไทยในเดือนก.พ.แต่ปรากฏว่าจากตัวเลขที่รายงานล่าสุดตัวเลขผู้ติดเชื้อก้าวกระโดดสูงขึ้นมาอีกครั้ง ที่ในบรรดาผู้ติดเชื้อมีการแยกสายพันธุ์ออกมาปรากฎว่าสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วและกระจายตัวในพื้นที่เกือบครบทุกจังหวัดทั่วประเทศในสัปดาห์แรกของปีใหม่ 2565
แม้ผู้ติดเชื้อโควิด จะมีผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตลดลง แต่ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากปัจจัยเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ที่มาจากการใช้บริการเวลานานในสถานที่ระบบปิด ร้านอาหารกึ่งผับ รวมถึงกิจกรรมงานเลี้ยง งานบุญ พิธีกรรมทางศาสนา และมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา โดยพบสัญญาณของการติดเชื้อมากขึ้นและมีการสัมผัสใกล้ชิดกันในครอบครัวและที่ทำงานเพิ่มขึ้น
กระทรวงสาธารณสุขประเมินสถานการณ์ล่าสุดและออกประกาศแจ้งการเตือนภัยด้านสาธารณสุขเป็นระดับ 4 เน้นการจำกัดการเดินทางไปยังสถานที่เสี่ยงต่างๆ รวมถึงอาจจะมีการปิดสถานที่เสี่ยงที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาด หรือมีการเพิ่มมาตรการต่างๆ ให้เกิดความปลอดภัยในสถานที่นั้นๆ และการชะลอการเดินทางทั้งการเดินทางไปทำงาน การจำกัดการรวมกลุ่มต่างๆ ที่จะต้องมีข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อชะลอการแพร่ระบาด
เราเห็นว่านอกจากยกระดับมาตรการเตือนภัยทางสาธารณสุขแล้ว รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องเตรียมการด้าน ยา วัคซีน บุคลากรการแพทย์ ให้พร้อมรับมือวิกฤติโควิดระลอก 5 โดยใช้บทเรียนจากระลอก 3-4 ที่ผ่านมาใหมากที่สุด ไม่ให้เกิดเหตุเตียงพยาบาลเต็มกระทบกับการดูแลรักษาโรคอื่นเหมือนที่ผ่านมา หรือหากใช้ระบบการดูแลรักษาที่บ้าน ก็ต้องพร้อมดำเนินการให้ถึงมือแพทย์ทันที หากอาการหนักขึ้น
รัฐบาลต้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารข้อปฏิบัติให้ประชาชนรับทราบอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มองเห็นสถานการณ์ข้างหน้า โดยไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกมากจนเกินไป ขณะที่ประชาชนเองต้องไม่ประมาทในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพหรือการทำกิจกรรมต่างๆ ลดความเสี่ยงให้มากที่สุดเพื่อให้ผ่านวิกฤติโควิดระลอก 5 ไปด้วยกันอย่างปลอดภัย