สังคมในสมัยหนี่ง มักยกคำ “ยศช้าง ขุนนางพระ” มาใช้โดยให้ความรู้สึกเหมือนว่าเลี่ยงจะรับรู้ที่มาที่ไปใช้เปนของพูดทำนองว่าช้างมันเปนสัตว์จะไปรู้สึกรู้สาอย่างไรกับยศฐา พอๆกับพระมีตำแหน่งเข้าจะขวางขัดเส้นทางเกลากิเลสให้พินาศลง ทั้งนี้ก็อาจจะด้วยคร้านจะใส่ใจถึงความลึกซึ้งในที่มาที่ไปของกิจการสองอย่างทั้งงานช้างและงานพระ ก็เปนได้
ข้างช้าง เกริ่นแค่คร่าวๆว่าในอดีตก็คือยุทโธปกรณ์ทรงประสิทธิภาพที่มีชีวิต ในการสงบัติสงคราม
ลงว่าสิ่งไรมีชีวิตก็ย่อมมีจิตใจ ความจริงจังในการอยู่เปนหมู่พวก ตามสังคมสัตว์ ก็เรียกว่าสัตว์สังคมมีหัวหน้า มีผู้นำ อย่าว่าแต่ช้างมียศเลย ม้าก็มียศโดยธรรมชาติ ลิงก็มียศโดยธรรมชาติ สุนัขป่าก็มียศโดยธรรมชาติ
ยศอะไร? ยศจ่าน่ะสิ _
_จ่าอะไร? _ตอบ_จ่าฝูง !
การปฏิบัติของสมาชิกหมู่สัตว์ต่อจ่าของฝูงตัวก็มีการเคารพนบนอบกันตามหลังการ followers to leader โดยปกติธรรมดา อันเปนเรื่องธรรมชาติจัดสรร
อีทีนี้พอช้างเข้ามาทำงานราชการ bureaucracy คนตั้งยศให้ ก็เพื่อบอกคนด้วยกันเองว่าช้างเชือกไหน ช้างไหนตัวไหน เปนใครทำหน้าที่อะไรเพราะหน้าตาช้างก็เปนช้างเหมือนกันหมด จะเรียกตามงา ตามพีก็สับสน
นี่เปนกระบวนการบุคคลาธิษฐาน (personaltofication กำหนดสิ่งไม่ใช่คนให้เปนบุคคล) ประเภทหนึ่ง เช่น พลายภูเขาทอง ออกรบในราชการสมเด็จพระนเรศวรเปน(เจ้า)พระยาไชยานุภาพ
ครั้นเสร็จการพระราชสงครามได้ชัยชนะ โปรดให้เลื่อนเปนที่เจ้าพระยาปราบหงสา บอกความสามารถในการปราบพม่าหงสาวดีมีชัยได้
หากมิได้ใกล้ชิดกับช้างจะไปรู้ได้อย่างไรว่าช้างรู้สึกรู้สากับยศตำแหน่งของช้างหรือไม่ ?
พอไม่รู้ก็ปรามาสช้างกันเข้าไป 55
อันว่าช้างมียศพอเปนช้างเผือกเข้า เปนพระยาช้างเข้า คนก็ปฏิบัติต่อช้างนั้นโดยสำรวมนบน้อมค่าที่เปนผู้มีคุณ บุกไปช่วยรบชนะศึกพอช้างเช่นว่าเข้าไปอยู่ในหมู่ช้างทั่วไปคนปฏิบัติต่อช้างนั้นเปนพิเศษ ช้างอื่นมีสมองมีจิตใจก็เข้าใจถึงตำแหน่งแห่งที่ที่เจียมของตนเท่านั้นเอง ข้างช้างยศเมื่อเห็นเหล่าช้างทั้งนั้นได้รับการปฏิบัติด้อยกว่าตน ก็เข้าใจในฐานะของตนได้ว่าเต้ยกว่า สำคัญกว่าเปนธรรมชาติอย่างนั้น
นักจิตศาสตร์ท่านว่าคนเราลงถ้าละเอียดแยบคายกับตนเองและธรรมชาติมากพอ มีใจโล่งๆไม่อิงค่าความเปนคนว่าสูงกว่าสัตว์และเอามาตรฐานของตนไปยัดเยียดตัดสินสัตว์ ก็อาจจะตัดความบิดเบือน (distortion) ในกระบวนทรรศน์มองโลกออกไปเสียได้
ข้อสรุปบางอย่างว่าช้างนั้นรู้สึกรู้สากับยศฐานฯ นั้นมีอย่างน้อยที่ท่าน้ำ เช่น พญาช้างเผือกที่ขึ้นระวางเปน “คุณพระ” นั้น(ท่าน)ช้างจะไม่ยอมลงอาบน้ำหากว่าเผอิญพวกช้างดำลงไปอาบเสียก่อน
นี่เปนตัวอย่างจากปากคำของจมื่นสิริวังรัตน์ (เฉลิม คชาชีวะ) พวกเด็กเยาวชนเรียกท่านลำลองคะนองปากตามที่เห็นงานการของท่านว่า คุณพระนายเจ้ากรมช้างต้น ส่วนอย่างมากเปนอย่างไรผู้สนใจสามารถศึกษาต่อเองได้
อนึ่งเรื่องช้างนี้มีแปลกๆมาก และจะขอบันทึกไว้ ณ ที่นี้ว่า ช้างเผือกนั้นเปนยศ ไม่ใช่สี แบ่งออกตามศักดิ์สูงที่สุดคือยศช้างเผือกเอกรองมาช้างเผือกโท ต่อมาคือช้างเผือกตรี บางคนว่าไหงช้างเผือก ไม่เห็นจะขาว55 ก็บอกเเล้วว่าเปนยศ
ช้างเผือกในรัชกาลก่อนที่ขึ้นระวางแลสมโภชน์ให้เข้ารับราชทาน มียศเปนที่ช้างเผือกโท พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ
นอกนี้แล้ว ท่านจมื่นสิริวังรัตน์ยังได้เล่าเรื่องการมาปรากฏของช้างเผือก ช้างสำคัญต่างๆไว้อีกมากมาย อาทิ ช้างป่าบางตัว แม่รู้ว่าลูกตนเผือก ก็หาทางเอาฝุ่นผงดินแดงต่างๆพ่นตัวลูกไว้_พราง บางราย แม่รู้ว่าลูกตนเผือก ก็จูงลูกมาบ้านกำนันกลางดึก ส่งเสียงร้องทำนองฝากฝัง และปลุกปลอบช้างเด็ก ก่อนจะลาลูกเข้าป่าไป กำนันผู้อกสั่นขวัญแขวญ ก็ได้ลาภ รอจนฟ้าสางลงมาดูช้างเด็ก พบว่ามีแววเผือก จึงดำเนินการแจ้งข่าวทางบ้านเมืองตามกติกา หลายคราวท่านว่า ช้างสำคัญเหล่านี้เหมือนมีทักษะผู้ดีมาก่อนแล้วยามเดินก็หนีบขาสุภาพไม่เทิ่งท่าง สามารถเดินบนคันดินคันนาอันแคบได้ ด้วยไม่อยากเหยียบค้นกล้าของชาวนาปลูกไว้ บางช้างกินกล้วยโดยบีบเฉพาะเนื้อจากผล เปลือกเอาทิ้งไป_ไม่กิน บางช้างเด็กๆลอยมาตามแม่น้ำ ชาวบ้านนึกว่าปลาใหญ่ ทอดแหจับได้ก็มี
อนึ่งพวกผู้ใหญ่ว่า ก่อนการปรากฏของช้างเผือกนั้น มักมีอีกาเผือกมาปรากฏขึ้นก่อน จากนั้นจะมีลิงเผือก มาปรากฎ แล้วจะพบเจอช้างสำคัญในแผ่นดิน
ที่พม่าก็มีช้างเผือก นัยยะว่ามีมากร่วม 10 เชือกช้าง เขาให้ยืนโรงเรือนยอดในที่ต่างๆกัน ในนครย่างกุ้งมีอยู่สามสีเผือกสวยสอง อีกหนึ่งสีเทาๆ
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 18 ฉบับที่ 3,751 วันที่ 23 - 26 มกราคม พ.ศ. 2565