ภาคประชาชนบ่นกันระนาวในเวลานี้ ราคาสินค้าทยอยปรับราคาขึ้นเกือบจะทุกชนิด ถึงขนาดเอ่ยกันว่าถึงยุค “ข้าวยากหมากแพง” กันแล้วเหรอ รัฐบาลแทบไม่ได้ลงมาใส่ใจแก้ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนเลย ปล่อยให้ผู้บริโภครับกรรม เผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวัน
ที่จะทุบซ้ำเพิ่มขึ้นมาอีก หนีไม่พ้นเรื่องปัญหาราคาน้ำมันที่ขยับตัวสูงขึ้น ล่าสุดราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวขึ้นมาสูงสุดในรอบ 3 ปี มาอยู่ที่ระดับเหนือ 86 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และมีท่าทีจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก หลังกลุ่มผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่ 4 แสนบาร์เรลต่อวันได้ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโอมิครอน เริ่มคลี่คลาย ส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของโลกเพิ่มมากขึ้น สวนทางกับการจัดหาน้ำมันดิบที่ตรึงตัว จากความขัดแย้งในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง
รวมถึงสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซีย อาจส่งผลให้การจัดหาน้ำมันดิบในยุโรปตะวันออกต้องหยุดชะงักลง
นักวิเคราะห์ของกลุ่มโอเปค ออกมาแสดงความเห็นว่า ราคาน้ำมันดิบอาจมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากการฟื้นคืนของความต้องการใช้น้ำมัน หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโอมิครอนเริ่มคลี่คลาย และคาดว่ากำลังการผลิตสำรองของกลุ่มโอเปค พลัส จะลดลงสู่ระดับที่ต่ำเป็นประวัติการณ์
เมื่อย้อนกลับไปช่วงกลางปี 2564 ราคาขายน้ำมันแก๊สโซฮล์ อี 20 เคยอยู่ 27.54 บาทต่อลิตร ดีเซลบี 10 อยู่ที่ 25.99 บาทต่อลิตร ปัจจุบันแก๊สโซฮอล์อี 20 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 32.24 บาทต่อลิตร และดีเซลบี10 อยู่ที่ 29.94 บาทต่อลิตร (กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุน 3.09 บาทต่อลิตร ตรึงราคาไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร) เท่ากับว่าราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับขึ้นมา 4-5 บาทต่อลิตรแล้ว ในระยะช่วง 7 เดือน
หลังจากนี้ไปหากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์เป็นจริง นั่นย่อมสะท้อนมายังราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศอีกไม่ช้า
หลายฝ่ายออกมากดดันรัฐบาลให้เตรียมแผนรับมือกับราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นไป โดยเฉพาะการปรับลดภาษีน้ำมันทั้งกลุ่มเบนซินและดีเซลลงมา จากที่เก็บอยู่ราว 5.80-5.99 บาทต่อลิตร ตามลำดับ หลังกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ในฐานะถังแตก ต้องกู้เงินมาอุ้มดีเซลถึง 3 บาทต่อลิตร
อีกทั้งลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่เวลานี้ผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯราว 1 บาทต่อลิตร เพื่อนำไปอุดหนุนราคาให้กับกลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซล หากลดภาษีลงมาได้ ก็เป็นการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินได้ระดับหนึ่ง
ที่สำคัญอีกอย่าง การดูแลค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันอย่างไใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันเบนซิน ที่ค่าการตลาดอยู่ในระดับเกือบ 3 บาทต่อลิตร บางวันอย่างแก๊สโซฮอล์ อี 20 กระโดดขึ้นไปกว่า 4 บาทต่อลิตร ทั้งที่ภาครัฐเองก็ทราบดีอยู่ว่าค่าการตลาดโดยเฉลี่ยไม่น่าจะเกิน 2 บาทต่อลิตร
จากนี้ไปคงต้องเฝ้าจับตาดูว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงได้อย่างไร เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันทุกฝ่าย ไม่ใช่ให้กลุ่มผู้ใช้เบนซินต้องมาแบกรับภาระแทนกลุ่มผู้ใช้ดีเซลอย่างนี้เรื่อยไป ในยามที่ของแพงทั้งแผ่นดิน ก็ต้องสร้างความเป็นธรรมและลดภาระให้เกิดขึ้นบ้าง