เมื่อพูดถึงคำว่าแฟชั่นแน่นอนว่าทุกคนจะต้องนึกถึงการแต่งตัว การเลือกเสื้อผ้ามาสวมใส่ให้ตัวเองดูดี ดูทันสมัยซึ่งเป็นความเข้าใจที่ยังคลาดเคลื่อนอยู่ ทุกวันนี้แฟชั่นถูกใช้เป็นคำทับศัพท์ จริงๆ แล้ว นิยามของคำว่าแฟชั่นแปลเป็นภาษาไทยว่า สมัยนิยม (ภาษาอังกฤษ: fashion) ราชบัณฑิตยสถานให้นิยามว่า “สมัยนิยม, แบบ หรือวิธีการที่นิยมกันทั่วไปในชั่วระยะเวลาหนึ่ง” ซึ่งคำว่า ชั่วระยะเวลาหนึ่งนี่เองมีนัยยะว่าแฟชั่นไม่ใช่สิ่งที่จะอยู่ถาวรไปตลอดกาล แต่มันจะอยู่นานเท่าใด ไม่มีผู้ที่กำหนดปล่อยให้เป็นไปตามกระแสของสังคม
สมัยนิยมของการแต่งกายหรือคำว่าแฟชั่นที่กำลังพูดถึงเป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ นั่นคืออุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯของระบบเศรษฐกิจโลก นำไปสู่การจ้างงานจำนวนมาก จากผลสำรวจพบว่าการจ้างงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอมีมากกว่า 300 ล้านคน โดยกว่าร้อยละ 60 ของอุตสาหกรรมสิ่งทอถูกใช้เพื่อผลิตเสื้อผ้ายิ่งกว่านั้นสัดส่วนนี้ยังถูกคาดว่าจะครองอัตราส่วนที่มากที่สุดและเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
การเติบโตของชนชั้นกลางทั่วโลก กลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่มาช่วยขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมสิ่งทอให้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะการผลิตเสื้อผ้าที่เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา หรือที่เราเริ่มรู้จักกันในชื่อ fast fashion (แฟชั่นด่วน) แค่เห็นชื่อก็พอจะทราบอยู่แล้วว่าเป็นอะไรที่มาไวไปไว
พูดให้เข้าใจกันง่ายๆ fast fashion คือ สินค้าแฟชั่นต่างๆ ที่ถูกผลิตออกมาอย่างรวดเร็วในราคาตํ่า ขณะเดียวกัน ผู้ซื้อก็มีความต้องการซื้อสูงมาก ด้วยเหตุนี้เอง fast fashion จึงกลายมาเป็นตัวขับเคลื่อนรอบอายุของเสื้อผ้าให้สั้นลง หรือการเพิ่มขึ้นของจำนวนคอลเลคชั่นต่อปี จากที่ผู้อ่านอาจจะเคยสังเกตว่าเทรนด์ของเสื้อผ้าที่เคยมาเป็นฤดูกาล ถูกปรับเปลี่ยนให้มาเร็วขึ้น ไม่ขึ้นกับฤดูกาล แต่ขึ้นกับสถานการณ์ตอนนั้น
แฟชั่นแบบใดที่ดูดี น่าสนใจ กำลังเป็นที่น่าจับตามอง จะถูกใช้เวลาอันสั้นในการผลิตออกมา เพราะต้องออกมาให้เร็วตามกระแสที่สุด และเมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน กระแสของแฟชั่นแนวที่ใหม่กว่าก็จะเข้ามาแทนที่ และธุรกิจเสื้อผ้ามีการแข่งขันที่สูง เมื่อยี่ห้อใดออกแบบเสื้อผ้าแบบใหม่มา ยี่ห้ออื่นๆ ก็จะออกแบบเสื้อผ้าแบบใหม่ๆ ตามออกมาแข่งขันเช่นกัน ก่อให้เกิดการผลิตเสื้อผ้าเป็นจำนวนมาก
การผลิตเสื้อผ้าเป็นจำนวนมากนี้เองได้สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้น ตั้งแต่เริ่มการผลิต ถ้าผู้อ่านเคยพลิกอ่านป้ายที่เย็บติดมากับเสื้อตอนที่ซื้อมา จะเคยเห็นป้ายที่เขียนว่า cotton 100% ซึ่งเสื้อยืดที่ทำมาจากฝ้ายเพียงหนึ่งตัว ต้องใช้นํ้ามากถึง 2,700 ลิตร
หรือเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คือ ปริมาณนํ้าที่มากพอสำหรับคนๆ หนึ่งจะบริโภคได้ถึง 3 ปี และยังไม่นับรวมการตกค้างของปุ๋ยและสารเคมีที่ใช้ระหว่างการปลูกฝ้ายในดิน นอกจากนี้ในกระบวนการฟอกย้อมสีผ้าจำเป็นต้องใช้นํ้าและสารเคมีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่สารเคมี กว่า 8,000 ชนิดที่ถูกใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอจะเป็นต้นตอของปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมีในนํ้า
รวมไปถึงการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศอุตสาหกรรมสิ่งทอครองพื้นที่อัตราส่วนของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกไปถึงร้อยละ 10 โดยคาร์บอนไดออกไซด์ 3-4 กิโลกรัม ถูกปล่อยออกมาระหว่างกระบวนการผลิตเสื้อผ้า 1 ตัว ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาภาวะเรือนกระจกและภาวะโลกร้อนนั่นเอง
ภายในหนึ่งปีเสื้อผ้าเก่าและของเสียจากอุตสาหกรรมสิ่งทอกลายเป็นขยะมากกว่า 10 ล้านตันต่อปี โดยมีเพียงอัตราส่วนไม่ถึงร้อยละ 10 ของเสื้อผ้าเก่าและของเสียนี้ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ และเป็นที่น่าสนใจที่ว่า มีเส้นใยชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมและใช้กันมากในวงการ fast fashion นั่นก็คือ โพลีเอสเตอร์(Polyester) ซึ่งเส้นใยสังเคราะห์ชนิดนี้เกิดจากกระบวนการเคมีของ Ethylene Glycol และ กรด Terephthalic
หรือถ้าพูดง่ายๆ ให้เข้าใจก็คือ เส้นใยที่ถูกผลิตมาจากพลาสติกนั่นเอง ข้อดีของเส้นใยชนิดนี้คือมีความเหนียวทนทาน มีความยืดหยุ่น และคงรูปทรงได้อย่างดี ส่วนข้อเสียคือ เมื่อเส้นใยชนิดนี้ถูกนำไปซักผ่านเครื่องซักผ้า ไมโครไฟเบอร์ในเส้นใยจะถูกปล่อยออกมา ปนเปื้อนไปกับนํ้าที่ถูกปล่อยออกจากเครื่องซักผ้า และจะไปเพิ่มระดับพลาสติกลงในแหล่งนํ้า
ถึงแม้ว่า นํ้าจะผ่านการบำบัดนํ้าเสียมาแล้ว แต่ไมโครไฟเบอร์ชนิดนี้ไม่สามารถย่อยสลายได้ โดยสิ่งที่ไม่สามารถย่อยสลายได้นี้เองได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในนํ้า และกลายเป็นที่รู้จักกันในนาม ปัญหาไมโครพลาสติก
เมื่อไมโครไฟเบอร์ถูกปล่อยลงสู่แหล่งนํ้า สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆ อย่างเช่นแพลงก์ตอนจะกินเส้นใยนี้เข้าไป และนี่คือจุดเริ่มต้นของภัยคุกคามในห่วงโซ่อาหาร ไมโครไฟเบอร์ที่อยู่ในแพลงก์ตอนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของปลาและสัตว์นํ้าชนิดอื่นๆ ที่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร และอีกไม่กี่วันต่อจากนั้น สัตว์นํ้าเหล่านี้ก็จะถูกจับขึ้นมาเพื่อนำมาเป็นทำเป็นอาหารของมนุษย์นั่นเอง ซึ่งหมายถึงว่าทุกคนอาจมีสิทธิ์ได้รับสารพิษ และตกค้างอยู่ในร่างกาย
เพราะไมโครพลาสติกที่มีขนาดเล็กจนสามารถผ่านผนังเซลล์ และด้วยขนาดที่เล็กเท่าแบคทีเรีย หรือ ไวรัสอาจปะปนเข้าไปในเส้นเลือด และถูกลำเลียงไปสู่อวัยวะต่างๆ และฝังอยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย และก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
นอกจากนี้ นักวิจัยยังนำเสนอความเป็นไปได้ว่าอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กเหล่านี้อาจโดนลมพัดและล่องลอยอยู่ในอากาศเข้าสู่ปอดของสิ่งมีชีวิตได้ เป็นเหมือนมลภาวะทางอากาศเช่นเดียวกับไอเสียจากรถยนต์
จากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจาก fast fashion ดังที่ได้กล่าวมา ก่อให้เกิดเป็นกระแสแฟชั่นเสื้อผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นที่เรียกว่า แฟชั่นที่ยั่งยืน(Sustainable Fashion) เป็นเทรนด์แฟชั่นรักษ์โลก ที่เน้นการใช้วัสดุอุปกรณ์หรือวัตถุดิบในการผลิตเสื้อผ้าเครื่องประดับแต่ละชิ้น ตลอดจนกระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันแบรนด์เสื้อผ้าหลายแบรนด์เริ่มหันมาตระหนักกับปัญหานี้ แฟชั่นที่ยั่งยืน (Sustainable Fashion) มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
หาวิธีการลดปริมาณการใช้นํ้าที่มากเกินไปในการผลิต
ส่งเสริมปุ๋ยธรรมชาติและลดการใช้สารเคมีในการปลูกพืชเพื่อนำเส้นใยมาทำเสื้อผ้า
ลดการใช้สารเคมีในการผลิตเพราะอาจส่งผลเสียต่อคน สัตว์ หรือแม้แต่สิ่งแวดล้อม หรือถ้าจำเป็นก็ควรหาสารทดแทนที่ปลอดภัยและสามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ส่งผลเสีย
ส่งเสริมการเลือกแหล่งพลังงานหมุนเวียนเพื่อเป็นส่วนช่วยในการผลิต(พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ฯลฯ)
รณรงค์กระแส Sustainable Fashion หรือ Slow Fashion เพื่อให้ทุกคนรับรู้และตระหนักถึงปัญหาที่ ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างของยี่ห้อเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ผู้เขียนขอยกตัวอย่าง เช่น Levi’s ที่มีชื่อเสียงทางด้านกางเกงยีนส์ออกคอลเลคชั่น ที่ชื่อว่า Water<Less เพื่อนำเสนอไอเดียแฟชั่นยีนส์รักษ์โลก โดย Levi’s ประกาศว่า มีการลดปริมาณนํ้าในการผลิตยีนส์คอลเลคชั่นนี้มากถึง 96%
หรือยี่ห้อ Columbia ที่ผลิตเสื้อผ้า กันหนาวและเสื้อผ้าสำหรับการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ได้เปิดตัว OutDry Eco Jacket เป็นเสื้อแจ็คเก็ตที่ผลิตจากขวดนํ้ารีไซเคิลและไม่ผ่านการย้อมสี ปราศ จากสาร Per Fluorinated Chemicals หรือ PFCs ที่เป็นสารอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และกระดุม ซิป ป้ายต่างๆ บนเสื้อแจ็คเก็ตก็ทำ มาจากวัสดุรีไซเคิล 100%
กล่าวโดยสรุป เนื่องจากเสื้อผ้าเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ดังนั้น ทุกคนล้วนมีส่วนในการสร้างผลกระทบของแฟชั่นที่มีต่อสิ่งแวดล้อมด้วยกันทั้งสิ้น การที่ทุกคนสามารถรับรู้และตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากแฟชั่นถือเป็นส่วนสำคัญ ทุกคนสามารถช่วยหยุดวงจรนี้ โดยเริ่มต้นง่ายๆ ไม่ว่า จะเป็นการนำเสื้อผ้ามาใส่ซํ้าเพื่อลดการเกิด Single-Use ชะลอการซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ ตามกระแส การหันมาใช้บริการร้านเช่าชุด หรือแม้แต่การสนับสนุนยี่ห้อเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
หมายเหตุ: ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณชนนิกานต์ ลิ่มปรัชญา สำหรับการค้นคว้าและช่วยรวบรวมข้อมูลสำหรับการเขียนบทความนี้