สถานการณ์สู้รบรัสเซีย-ยูเครน ยังคงยืดเยื้อแบบจำกัดขอบเขต 2 ประเทศ แต่ก็มีแนวโน้มเผชิญหน้ารุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบเศรษฐกิจ การค้าโลกอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ที่ชัดเจนมากที่สุดเห็นจะเป็นราคาพลังงาน ก๊าซธรรมชาติ และระดับราคาน้ำมันที่พุ่งไปยืนเหนือ100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลครั้งแรกในรอบ 8 ปี และยังมีแนวโน้มไปที่ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลและอาจไปต่อดั่งที่หลายฝ่ายคาดการณ์ หากสถานการณ์ยืดเยื้อยาวนานและขยายวงกว้างขึ้น
ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น กดดันให้ต้นทุนการผลิตของโลกรวมทั้งไทยพุ่งสูงขึ้นตาม รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ขยับขึ้นไปก่อนหน้านี้และจะปรับตัวสูงขึ้นอีกจากสถานการณ์สงคราม ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผู้บริโภค นักลงทุน และมีการคาดการณ์กันออกมาแล้วว่าเศรษฐกิจโลก การค้าโลกในภาพรวมขยายตัวลดลงจากเดิมที่ได้เคยมีการประมาณการไว้
สถานการณ์สงครามนำไปสู่มาตรการคว่ำบาตรจากฝั่งนาโต้ สหรัฐ ต่อรัสเซียทำให้ระบบการเงินของรัสเซียชะงักงันลง ซึ่งอาจพัวพันไปสู่ระบบการเงินโลก และในกรณีมีการปิดน่านน้ำ น่านฟ้า ในยุทธศาสตร์กดดันเพื่อให้ผ่อนคลายท่าที จะมีผลกระทบต่อการส่งสินค้า การค้าโลกตามมาอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์จากที่หลายประเมิน ทั้งเงินเฟ้อที่จะปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น รวมไปถึงด้านการส่งออกที่อาจจะมีอุปสรรคในการขนส่ง รวมถึงกำลังซื้อของตลาดโลกที่อาจจะชะลอตัวลงในระยะต่อไป รวมไปถึงการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวโดยตรงจากนักท่องเที่ยวรัสเซีย ยูเครน ทั้ง 3-4 ปัจจัยดังกล่าวซ้ำเติมให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงจากเป้าหมายเดิมและสถานการณ์เดิมที่ฟื้นตัวด้วยความยากลำบากหลังสถานการณ์โควิด
เราเห็นว่าทั้งภาครัฐและเอกชนควรจะได้หารือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจอันจะมีผลจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน โดยอาจประเมินฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด ฉากทัศน์ระดับกลางและสถานการณ์จบเร็ว
พร้อมทั้งการกำหนดมาตรการรับมือในแต่ละฉากทัศน์ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น พร้อมกับส่งสัญญาณให้ประชาชนได้รับรู้ถึงมาตรการรับมือในแต่ละระดับ เพื่อให้เกิดการวางแผนได้อย่างถูกต้องทั้งในแง่ธุรกิจและการดำรงชีวิตในท่ามกลางสภาวะที่เปลี่ยนแปลงหลังโควิด ระหว่างสงคราม หลังสงคราม ไม่ให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยเลวร้ายลงไปมากกว่านี้อีก