ลูกอิสานแห่งลุ่มน้ำอิยะวดี 11

21 มี.ค. 2565 | 00:30 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ชีวิตคนเราก็เหมือนละครโรงใหญ่ บางครั้งสุขบางครั้งทุกข์ บางครั้งสมหวังบางครั้งผิดหวัง บางครั้งสำเร็จบางครั้งล้มเหลว เป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิต แต่บางคนถ้ามีความยึดติดก็จะทำใจไม่ได้ ถ้าหากทำใจไม่ได้ ก็จะเป็นเรื่องที่สร้างความทุกข์ร้อนใจมาให้กับตัวเองเสมอ นั่นคือสัจธรรม แต่ถ้าหากว่ามองว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ ก็จะละทิ้งซึ่งสิ่งที่จะทำให้จิตใจหม่นหมองได้ เวลาพูดทุกคนพูดได้ ถามว่ารู้หรือไม่? ทุกคนตอบว่ารู้ แต่พอประสบกับตนเอง ก็มักจะเกิดความมีอัตตาเสมอ และมักจะลืมสิ่งที่รู้ไปเสมอเลยครับ
 

ครั้งที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงชีวิตของลูกอิสานที่ชื่อว่า “ศักดิ์” ที่กำลังประสบกับปัญหาด้านการเงิน ที่สินค้ายิ่งขายดี เงินยิ่งต้องใช้ในการหมุนเวียนมากขึ้น เป็นเงาตามตัว เพราะการซื้อ-ขายที่เป็นเงินเชื่อ ย่อมทำให้ต้องใช้เงินทุนสำรองมากขึ้นตามยอดที่ขายเสมอ ซึ่งเงินทุนสำรองนี้ จะต้องมีการวางแผนก่อนลงสู่สนามการค้าก่อนเสมอ แต่คนที่ไม่เคยเป็นเจ้าของกิจการเอง มักจะไม่มีความรู้ด้านการบริหารจัดการเงินมาก่อน ดังนั้นจึงไม่ได้มีการจัดเตรียมเงินทุนสำรองไว้ เมื่อประสบพบเจอปัญหา จึงต้องวิ่งหาสถาบันการเงิน เพื่อขอกู้ยืมเงินมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
 

แน่นอนว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป เขาจะปล่อยกู้ให้กับใคร เขาย่อมตรวจสอบว่าธุรกิจมีความเป็นไปได้หรือไม่? ผู้ที่ขอกู้มีความน่าเชื่อถือเพียงใด? มีโอกาสที่จะใช้คืนตามกำหนดหรือไม่? ธุรกิจนั้นมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด? มีหลักประกันเพียงพอที่จะให้นำมาค้ำประกันได้หรือไม่? ดังนั้นการที่ศักดิ์ไปขอกู้เงินธนาคารเพื่อมาทำธุรกิจ ในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงมาก อีกทั้งสถานะของศักดิ์เองก็ไม่ได้มีความโดดเด่นเลย จึงถูกปฎิเสธการกู้ยืมเงินเป็นเรื่องธรรมดาครับ

 

แม้แต่การกู้เงินนอกระบบ แม้จะมีดอกเบี้ยที่สูงมาก เจ้าหนี้ที่ปล่อยกู้เขาก็ยังต้องตรวจสอบผู้ขอกู้ เพื่อที่จะกำหนดดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ดี อีกทั้งยังมีความเสี่ยงสูงมาก ที่กู้เงินมาแล้ว จะไม่สามารถจ่ายคืนให้กับเจ้าหนี้ได้ เพราะดอกเบี้ยสูงเกินกว่าเงินกำไรที่จะนำมาชำระคืนให้เจ้าหนี้ สุดท้ายคนที่กู้เงินนอกระบบก็จะมีปัญหาตลอดเวลา เรื่องนี้ศักดิ์เองก็รู้และเข้าใจเป็นอย่างดี เขาจึงต้องล้มเลิกความคิดที่จะหาเงินเข้ามา เพื่อให้ธุรกิจของตนเองเดินหน้าได้ เมื่อกลับไปถึงประเทศเมียนมา สิ่งที่ต้องทำก่อนอันดับแรก จึงต้องลดขนาดของธุรกิจลง เพื่อให้สามารถดำรงการดำเนินงานต่อไปได้ 

 

การทำธุรกิจในประเทศเมียนมา ไม่ได้สวยหรูอย่างที่ใครๆ มอง เพราะนอกจากไม่มีสถาบันการเงินไหนที่จะมาช่วยสนับสนุนได้แล้ว การจดทะเบียนบริษัทก็ยังเป็นปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่ง ในยุคนั้นอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของเงินจ๊าดของเมียนมา ก็มีอยู่สองอัตรา กล่าวคืออัตราที่ทางการประกาศ อยู่ที่ 1 US$ เท่ากับ 6.5 จ๊าด ในขณะที่อัตราตลาดมืดหรือในท้องตลาดทั่วไป อยู่ที่ 1 US$ ต่อ 500 กว่าจ๊าด ซึ่งหากนำเงินเข้าไปจดทะเบียนในนามของนักลงทุนต่างชาติ ทางการจะต้องเรียกเก็บเงินตามอัตราที่ทางการประกาศ ดังนั้นยังไม่ได้เริ่มทำการค้า ก็เริ่มขาดทุนก่อนแล้วเป็นร้อยเท่า
 

ดังนั้นในยุคนั้น คนที่จะเข้าไปทำการค้าหรือลงทุนในประเทศเมียนมา ก็มักจะหลบเลี่ยงไม่ใช้ชื่อของตนเองจดทะเบียนบริษัท แต่จะใช้หุ่นเชิดที่เป็นคนเมียนมาจดทะเบียนในนามของเขาไป ศักดิ์เองก็ทำเช่นนั้นด้วยเช่นกัน เขาใช้ชื่อของลูกน้องที่เห็นว่าซื่อสัตย์ที่สุดในบริษัท ใช้ชื่อลงทะเบียนในนามของลูกน้องคนนั้น ซึ่งก็โชคดีตลอดเวลาที่ใช้ชื่อของเขามา
 

อยู่มาวันหนึ่ง ศักดิ์ได้พบกับเพื่อนนักธุรกิจชาวเมียนมา(ขออนุญาตไม่เอ่ยนามนะครับ) ที่ค่อนข้างจะร่ำรวย และเป็นคนที่มีชื่อเสียงที่ดีมาก จนกระทั่งสนิทสนมไว้ใจได้ ศักดิ์ได้เล่าเรื่องที่ของธุรกิจของเขาให้เพื่อนท่านนั้นฟัง ซึ่งเขาก็มีความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจในสถานการณ์ของบริษัทของศักดิ์อย่างดี เขาจึงเสนอตัวเข้ามาช่วยเหลือ ด้วยการให้ศักดิ์กู้ยืมเงินจากเขาไปใช้หมุนเวียนก่อน ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าท้องตลาดมืดในยุคนั้นมาก ด้วยความเมตตาของเขา ทำให้ศักดิ์ซาบซึ้งใจในน้ำใจไมตรีของเพื่อนมาก จึงเสนอให้เขามาร่วมทุนในบริษัทด้วย เพราะคิดว่าเป็นการตอบแทนน้ำใจของเขานั่นเองครับ 
 

เมื่อทางเพื่อนตอบตกลงร่วมลงทุนด้วย แต่ด้วยภารกิจทางด้านธุรกิจของเพื่อนเองก็มีอยู่เยอะ เขาเข้ามาร่วมทุนแล้วอาจจะไม่มีเวลาเข้ามามีส่วนร่วมได้ เขาจึงเสนอว่า หุ้นในส่วนของเขา เขาขอให้เพื่อนอีกคนหนึ่งเข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย เพื่อจะได้ช่วยเหลือศักดิ์ได้ ในยามที่ต้องการความช่วยเหลือทางด้านงานราชการ ซึ่งในความคิดของศักดิ์เองในห่วงเวลานั้น ก็คิดแต่เพียงว่า หุ้นเพียง 20% เขาจะแบ่งให้ใคร ก็คงไม่มีปัญหาอะไร จึงได้ตอบตกลงไป โดยเพื่อนท่านแรกได้ถือหุ้น 10% ในขณะที่เหลืออีก 10% เป็นของเพื่อนคนที่สองนั่นเอง
 

การดำเนินธุรกิจจากเดิมที่เคยสะดุดหยุดลงไปบ้าง เมื่อได้เม็ดเงินเสริมเข้ามา ก็เหมือนปลากระดี่ได้น้ำ  เริ่มคึกคักและสดใสมากขึ้น โอกาสต่างๆ กลับไหลมาเทมาอีกครั้ง การค้าได้ขยายต่อไปอย่างมีนัยยะเลยครับ ทำให้การจ่ายเงินคืนให้กับเพื่อนคนที่หนึ่งไม่มีปัญหาเลย และกำไรที่หลั่งไหลเข้ามานั้น มีมากเกินกว่าที่เพื่อนชาวเมียนมาคิดไว้เสียอีก เพราะการทำธุรกิจเมล็ดพันธุ์พืชนั้น เป็นธุรกิจที่มีกำไรสูงมาก หากสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรได้ โอกาสที่สินค้าที่ใช้ตราสินค้านั้น จะเป็นที่ต้องการของเกษตรกรก็มีสูงมาก การขายยิ่งมากกำไรที่ตามมาก็ยิ่งมากขึ้นนั่นเอง
 

การทำธุรกิจหุ้นส่วนนั้น จะเกิดปัญหาได้เหตุผลมักมีอยู่สองทาง หนึ่งคือหากธุรกิจขาดทุน ก็จะทำให้หุ้นส่วนมีปัญหา หรือสองเมื่อกำไรยิ่งมาก ความสัมพันธ์ที่แย่ลงของหุ้นส่วนก็จะเริ่มตามมา เกิดจากความโลภของมนุษย์ที่ยากแท้หยั่งถึง ธุรกิจของศักดิ์ก็เช่นเดียวกัน อาทิตย์หน้าผมจะเล่าให้ฟังถึงปัญหาใหญ่ที่ตามมา หลังจากการชำระเงินกู้ที่เพื่อนให้มา ได้ชำระหมดสิ้นไป โปรดติดตามอ่านตอนต่อไปนะครับ