ตอนที่ 2: หลักฐานเชิงประจักษ์
ในสัปดาห์ที่แล้วได้กล่าวถึงการทำ Meta-regression analysis ซึ่งให้คำตอบเบื้องต้นว่าการลงทุนใน R&D มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาจริง หลังจากมีการขจัดปัญหาความเอนเอียงในการตีพิมพ์แล้ว สัปดาห์นี้เราจะมาวิเคราะห์เชิงประจักษ์โดยใช้ข้อมูล Panel ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจำนวน 23 ประเทศ ใน 7 ภูมิภาค และใช้ข้อมูล time series เฉพาะประเทศไทย เพื่อตอบคำถามเดียวกัน
การวิเคราะห์เชิงประจักษ์โดยใช้ข้อมูล Panel พบว่าการลงทุนใน R&D ผ่าน 4 นิยาม ใน 2 หมวด ได้แก่ R&D Input ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในภาค R&D และบุคลากรในภาค R&D และ R&D Output ประกอบด้วย การขอจดสิทธิบัตรและการตีพิมพ์บทความด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในวารสารวิชาการ สามารถกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้จริง หลังจากมีการควบคุมด้วยกลุ่มตัวแปรด้านปัจจัยการผลิต spillovers และปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการเมือง พบว่า การเพิ่ม R&D Input คือ การลงทุนด้านค่าใช้จ่าย ใน R&D 1 จุดร้อยละต่อ GDP ในปีใดๆ โดยเฉลี่ย สามารถเพิ่มอัตราการขยายตัวของ GDP ในอีก 4 ปีข้างหน้าอย่างมีนัยสำคัญมากราว 1.8 ถึง 8 จุดร้อยละ
ขณะที่การเพิ่มสัดส่วนนักวิทยาศาสตร์ต่อกำลังแรงงานรวมของเศรษฐกิจ 1 จุดร้อยละ โดยเฉลี่ยจะสามารถเพิ่มอัตราการขยายตัวของ GDP ในอีก 4 ปีข้างหน้าได้ 0.08 ถึง 3 จุดร้อยละ แต่โดยรวมไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
ขณะที่ด้านตัวแปรผลผลิตของ R&D หรือ R&D Output พบว่า การเพิ่มจำนวนการยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสิทธิบัตรของผู้ที่มีสัญชาติหรือภูมิลำเนาภายในประเทศผู้ออกสิทธิบัตรจำนวน 10,000 รายการในปีใดๆ โดยเฉลี่ยจะเพิ่มอัตราการขยายตัวของ GDP ในปีนั้นๆ ได้ราว 0.5 จุดร้อยละ และมีนัยสำคัญทางสถิติในภาพรวม
ขณะที่การเพิ่มขึ้นของจำนวนการตีพิมพ์บทความวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในวารสารวิชาการระดับนานาชาติจำนวน 10,000 บทความในปีใดๆ โดยเฉลี่ยจะเพิ่มอัตราการขยายตัวของ GDP ได้ราว 0.3 ถึง 0.5 จุดร้อยละในปีนั้นๆ แต่มีนัยสำคัญทางสถิติค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ พบลักษณะผลได้ลดน้อยถอยลง (diminishing returns) ของ R&D ที่มีต่ออัตราการขยายตัวของ GDP
นอกจากนี้ การวิเคราะห์เชิงประจักษ์โดยใช้ข้อมูลอนุกรมเวลาของประเทศไทยระหว่างปี 1989 ถึงปี 2014 ยังสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์แบบลูกโซ่ของการวิจัยและพัฒนา ซึ่งวัดโดยจำนวนการจดสิทธิบัตรทั้งหมด และจำนวนการจดสิทธิบัตรโดยผู้ที่มีสัญชาติไทยในประเทศไทย(Patent registration, total / residents) ผลิตภาพการผลิตรวม (Total factor productivity) และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว ผ่านแบบจำลอง Vector Error Correction Model (VECM)
ผลจากการวิเคราะห์ พบว่า จำนวนการอนุมัติจดสิทธิบัตรทั้งหมดในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จะส่งผลให้ในอีก 10 ปีข้างหน้า ผลิตภาพการผลิตรวมของประเทศจะเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 0.32 ถึง 0.48 และขนาดของ GDP ของประเทศไทย จะขยายตัวขึ้นร้อยละ 0.16 ถึง 0.48 สอดคล้องกับแนวคิดจากทฤษฎีการขยายตัวจากภายใน
อย่างไรก็ดี ผลกระทบทั้งต่อ TFP และ GDP จะมีขนาดเล็กลงเมื่อพิจารณาเฉพาะจำนวนการจดสิทธิบัตรโดยผู้ที่มีสัญชาติไทยในประเทศไทย กล่าวคือ ผลตอบแทนจากการวิจัยและพัฒนา ซึ่งสะท้อนผ่านการจดทะเบียนสิทธิบัตร ของชาวไทยต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มตํ่ากว่ากรณีที่พิจารณาผลผลิตจากการวิจัยและพัฒนาของชาวต่างชาติร่วมด้วย
แนวคิดจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พื้นฐานชี้ชัดว่า หากระบบตลาดยังใช้การได้ นั่นคือ ไม่มี market failures แล้ว ก็จะเป็นการดีกว่าที่รัฐบาลจะปล่อยให้การตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุน เป็นการตัดสินใจของภาคเอกชน
แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับการลงทุนใน R&D ก็คือ การมี spillovers ในองค์ความรู้ที่ทำให้ระบบตลาดล้มเหลวในการจัดสรรการลงทุน กล่าวคือ ถ้าบริษัทหนึ่งๆ สร้างนวัตกรรมขึ้นมา ความรู้ใหม่นี้จะกระจายไปยังบริษัทอื่นๆ ทั้งโดยการลอกเลียนแบบหรือเรียนรู้จากงานวิจัยดั้งเดิม โดยที่ไม่ต้องลงทุนเองในการทำให้เกิดนวัตกรรมนั้นๆ ขึ้นมาเลย ด้วย externalities ทางบวก นี้เอง ที่ทำให้ประโยชน์ที่ได้รับจากการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาของสังคม (social benefits) มีค่ามากกว่าผลประโยชน์ของเอกชน (private benefits)
ดังนั้น การจะปล่อยให้การผลิต R&D ถูกจัดสรรโดยกลไกตลาด หรือโดยภาคเอกชนเพียงฝ่ายเดียว จะทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถบรรลุระดับการผลิต R&D ที่เหมาะสม (optimum) ได้
และเนื่องจากคุณลักษณะของความคิด (ideas) ที่สามารถกระจายไปได้อย่างง่ายดาย แม้จะมีความพยายามในการออกแบบระบบการป้องกันทรัพย์สินทางปัญญาอย่างถี่ถ้วนแล้วก็ตาม ทำให้เป็นการยากมากที่ผู้สร้างนวัตกรรมนั้นๆ จะสามารถเก็บผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินจากการลงทุนดังกล่าวได้เต็มจำนวน
เหล่านี้คือ เหตุผลหลักที่นักเศรษฐศาสตร์ยึดถือ เมื่อจะสนับสนุนการแทรกแซงของรัฐบาลเกี่ยวกับการลงทุนในภาค R&D
ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเพิ่มปริมาณ และคุณภาพของการวิจัยและพัฒนาของประเทศใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
1) นโยบายการกระตุ้นการใช้จ่ายการลงทุนด้าน R&D ของประเทศ โดย ก) การให้แรงจูงใจทางด้านภาษี อาทิการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล การให้เครดิตภาษีสำหรับการลงทุนด้าน R&D (R&D tax credit) ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำวิจัยและพัฒนา เป็นการลดต้นทุนด้าน R&D ของเอกชนลง และส่งผลให้เอกชนเกิดการจัดสรรทรัพยากรไปยัง R&D เพิ่มมากขึ้น
ข) การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ธุรกิจที่ต้องการลงทุนด้าน R&D ผ่านทางสถาบันการเงินของภาครัฐเพื่อลดข้อจำกัดทางการเงิน (financial constraint) อาทิ การให้เงินกู้ดอกเบี้ยตํ่าแบบมีเงื่อนไขแก่ธุรกิจที่ต้องการลงทุนด้าน R&D
โดยมีเงื่อนไขการถ่ายทอดเทคโนโลยี-รวมถึงมาตรการส่งเสริมให้ธุรกิจที่ต้องการลงทุนด้าน R&D จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ(mai) ค) การเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐในภาค R&D โดยตรง อาทิ การให้ทุนวิจัยของสถาบันวิจัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยวิจัยต่างๆ รวมถึงเงินอุดหนุนจากภาครัฐโดยตรงกับบริษัทเอกชน เป็นต้น
2) การเพิ่มจำนวนบุคลากรและนักวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภาค R&D การเพิ่มจำนวนการลงเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์(รู้จักกันทั่วไปในชื่อ STEM) ซึ่งจะทำให้จำนวนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ เพิ่มขึ้น นับว่าเป็นนโยบายที่ตรงที่สุดในการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของนวัตกรรม
3) การเพิ่มจำนวนสิทธิบัตร ทั้งที่จดทะเบียนโดยผู้ที่มีสัญชาติไทย หรือ มีภูมิลำเนาภายในประเทศไทย อาทิ การให้สิทธิในนวัตกรรมกับนักวิจัย เมื่อนักวิจัยในมหาวิทยาลัยได้รับสิทธิในนวัตกรรมเต็มที่ นักวิจัยมีแนวโน้มจะทำการจดสิทธิบัตร และริเริ่ม start-ups มากขึ้น
รวมถึงการสนับสนุนการให้ชาวต่างชาติเข้ามาจดทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศไทย ซึ่งก่อให้เกิด spillovers และการต่อยอดของความรู้ อันจะนำไปสู่การขยายตัวของผลผลิตของ R&D ในประเทศไทย อันได้แก่ นวัตกรรม และการตีพิมพ์บทความทางวิชาการในระดับนานาชาติ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนผลิตภาพการผลิตรวม และเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศให้มากขึ้น
โดยสรุป จะเห็นได้ว่า การวิเคราะห์ Meta-regression การวิเคราะห์เชิงประจักษ์โดยใช้ข้อมูล Panel 23 ประเทศ และข้อมูลอนุกรมเวลาของประเทศไทย ต่างให้ผลสอดคล้องกันกับการคาดการณ์ที่ได้จากทฤษฎีการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากภายใน นั่นคือ พบว่าการลงทุนใน R&D ทั้งด้าน Input และ Output ต่างมีศักยภาพในการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศได้จริง
อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดที่สำคัญที่ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจแม้จะเพิ่มขึ้น แต่ขนาดยังไม่สูงนัก อาจจะเป็นเพราะขีดความสามารถของการสร้างองค์ความรู้ ที่นำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพการผลิตในประเทศยังค่อนข้างตํ่า
รวมถึงทุนมนุษย์ของประเทศกำลังพัฒนายังตํ่ากว่าประเทศพัฒนาแล้วมาก ทำให้แม้จะเพิ่มการลงทุนใน R&D แต่หากไม่มีทุนมนุษย์เพียงพอ (ทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ) ที่จะมาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ ก็จะทำให้ผลของการลงทุนใน R&D ไปสู่การเพิ่มผลิตภาพการผลิตจริงของประเทศไม่สูงเท่าที่ควรจะเป็น
นั่นอาจเป็นคำอธิบายว่า เพราะเหตุใด การลงทุนใน R&D ในสัดส่วนเดียวกันของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากับประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่เท่ากัน