รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีผู้มาพาดพิง ตามที่มีการรายงานข่าวของสื่อมวลชนว่า นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) ซึ่งกำกับดูแลกรมที่ดิน ได้นำอธิบดีกรมที่ดิน รองอธิบดีกรมที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ สส.จังหวัดบุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์
และข้าราชการส่วนท้องถิ่นจังหวัดบุรีรัมย์ พบกับราษฎรที่ครอบครองที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อยืนยันสิทธิ์การครอบครองที่ดินของราษฎร และกล่าวพาดพิงถึง รฟท. ในทำนองว่า รฟท. จะไปก้าวล่วงสิทธิของประชาชนนั้น
ทั้งนี้ รฟท. เห็นว่า การดำเนินการข้างต้น อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดของประชาชนต่อการดำเนินการของ รฟท. เกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ดังนั้นจึงขอชี้แจงว่า รฟท. เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ดินของ รฟท. จึงเป็นที่ดินของรัฐและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่ง รฟท. มีวัตถุประสงค์เพื่อรับโอนกิจการของกรมรถไฟ
ดังนั้นบรรดาที่ดินและทรัพย์สินที่เคยเป็นของกรมรถไฟจึงโอนมาเป็นของ รฟท. ซึ่ง รฟท. มีหน้าที่ต้องดูแลที่ดินบริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ และติดตามเอาที่ดินของ รฟท. ที่มีการยึดถือครอบครองและออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบให้กลับคืนมาเป็นของ รฟท.
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การดำเนินการของ รฟท. เพื่อทวงคืนที่ดินบริเวณเขากระโดง จึงเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เป็นการก้าวล่วงสิทธิของประชาชนแต่อย่างใด
สำหรับที่ดินบริเวณเขากระโดงได้รับการพิสูจน์และยืนยันผ่านกระบวนการทางศาล และความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนเป็นที่ยุติแล้วว่าที่ดินประมาณ 5,000 ไร่เศษ บริเวณ ตำบลอิสาณ และ ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิของ รฟท.
นอกจากนี้ศาลปกครองได้วินิจฉัยโดยอ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองเรื่องข้างต้นแล้วสรุปว่าที่ดินบริเวณพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. นอกจากนี้ คำพิพากษาของศาลปกครองกลางยังระบุด้วยว่า กรมที่ดินมีหน้าที่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการรถไฟฯ ไม่จำต้องไปฟ้องต่อศาลเพื่อให้มีคำพิพากษาทุกแปลง
ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของกรมที่ดินที่จะต้องดำเนินการเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับที่ดินของ รฟท. ซึ่งเป็นการออกโดยคลาดเคลื่อนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้ง ไม่ได้เป็นการก้าวล่วงสิทธิของประชาชนตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด
ส่วนกรณีที่มีคำถามว่า เหตุใด รฟท. จึงไม่ยื่นเอกสารแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินชุดเดียวกับที่ยื่นต่อศาลฎีกา ซึ่งแสดงถึงเขตที่ดินของการรถไฟฯ ที่ครบถ้วน และที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ เพื่อให้คณะกรรมการสอบสวนของกรมที่ดินพิจารณานั้น
ทั้งนี้ขอชี้แจงว่า รฟท. ยื่นเอกสารซึ่งแสดงถึงการได้มาของที่ดินรถไฟ รวมถึงเอกสารที่เกี่ยวข้อง ให้กับคณะกรรมการสอบสวนทั้งหมด และเป็นเอกสารชุดเดียวกันกับที่ยื่นต่อศาลยุติธรรมด้วย
ขณะที่ปัญหาการออกเอกสารทับซ้อนที่ดินของ รฟท. นั้น หน่วยงานที่เป็นผู้ออกเอกสารสิทธิในที่ดิน คือ กรมที่ดินและสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
อย่างไรก็ดีเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีการออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยและกรมที่ดินที่จะต้องแก้ไขหรือดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วยการดำเนินการตามขั้นตอนในการเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินทั้งหมด
“ขอยืนยันว่า สิทธิในความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินของ รฟท. บริเวณแยกเขากระโดง อันเป็นที่ดินของรัฐ โดยจะดำเนินการทุกอย่างภายในกรอบของกฎหมาย เพื่อให้ที่ดินดังกล่าวกลับคืนมาเป็นที่ดินของ รฟท. เพื่อสงวนไว้เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินอันเป็นไปเพื่อประโยชน์โดยรวมของประชาชนทุกคนต่อไป”