JTS การจัดการที่ไร้มาตรฐาน

29 มี.ค. 2565 | 23:00 น.

คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ By…เจ๊เมาธ์

***  เจ๊เมาธ์ไม่รู้สึกแปลกใจเลยที่ ก.ล.ต. จับเอา JTS เข้าแคสบาลานซ์ (วางเงินสดก่อนซื้อ) ด้วยคุณสมบัติที่ครบถ้วนของการติดแคชบาลานซ์ ซึ่งควรจะติดแคชบาลานซ์นานแล้ว... ไม่ใช่แหกโค้งอยู่ตัวเดียว ทั้งที่  ZIGA AJA UPA และ ECF ติดแคชบาลานซ์ กันหมด…
 

แต่ JTS หุ้นเหมืองขุดบิทคอยน์มีค่าพี/อี สูง กว่า 1,100 เท่า ซึ่งเป็นข้อควรพิจารณา แต่กลับถูกมองข้าม แบบที่ไม่ควรจะเป็น นั่นหมายถึงการไม่หลุดไปจากเรื่องเดิม ๆ คือ หากผู้คุมกฎยังนิยมใช้วิจารณญาณส่วนบุคคล ซึ่งไม่มีแนวทางที่เป็นมาตรฐานมาใช้ในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ บอกเลยว่า นักลงทุนอย่างเรา ๆ ก็คงทำได้แค่ปกป้องตัวเอง...ปัญหาเรื่องหุ้นปั่นแบบถูกกฎ จะไม่มีทางหายไปจากตลาดหุ้นไทยแน่นอน  

*** DITTO หุ้นน้องใหม่ เข้าตลาดฯ ไม่ถึงปี แต่ราคาหุ้นขึ้นมาเกือบ 10 เท่าตัว โดยมีประเด็นหลักคือ การเป็นหุ้นเทคโนโลยี ซึ่งอยู่ในกระแสหุ้นเมกะเทรนด์ของตลาดหุ้นทั่วโลก 
 

อย่างที่สองคือ ผลการดำเนินงานของ DITTO มีแนวโน้มที่โตได้อีก จนมี เซียนฮง “สถาพร งามเรืองพงศ์” เก็บของมาเรื่อยจนมีหุ้นในมือ 5%  เรียกเสียงเชียร์ได้ 

เจ๊เมาธ์ อยากเตือนว่า “เซียนฮง” ไม่ได้แจกตังใคร แต่เก็บหุ้นต้นทุนต่ำ พร้อมขายกำไรทุกราคาและขายได้ตลอดเวลา  ฉะนั้น รายย่อย อย่าคิดเอาไม้ซีก ไปงัดไม้ซุง ...
 

*** การมาของ “ชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง” ทำให้ตระกูล “พุ่มพันธุ์ม่วง” ขยับขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 7UP อย่างสมบูรณ์แบบ รวม 23% มากกว่า บริษัท พาหนะ อินเวสเตอร์ จำกัด เคยเป็นเบอร์ 1 ที่ถือหุ้นอยู่ 18.52% 
 

ขณะเดียวกันแผนงานในอนาคตของ 7UP นอกจากธุรกิจน้ำประปาในจังหวัดภูเก็ต ของบริษัท โกลด์ ชอร์ส ที่คาดว่าจะเห็นรายได้ในปี 65 ก็ยังจะมีธุรกิจการจำหน่ายก๊าซ LPG ที่จะทำร่วมกับ PTG โดยมี “ชมกมล” ที่เป็นผู้บริหารของ WP ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมธุรกิจระหว่าง 7UP และ PTG รวมถึงการที่ 7UP วางแผนในการทำธุรกิจ ยูทิลิตี้โทเคน ซึ่งคาดว่า จะได้ข้อสรุปในช่วงไตรมาส 3/65 ทำให้แผนธุรกิจของ 7UP ดูแล้วก็น่าสนใจดี 
 

แต่จะดีกว่านี้ถ้า 7UP มีทางให้คนที่ติดดอยอยู่ ได้หลุดจากดอยลงมา...นักลงทุนหลายคนจะหนาวตายอยู่แล้วเจ้าค่ะ 


*** ทั้งที่ BAM เป็นบริษัทที่มีทุกอย่างครบถ้วนมากกว่าใครในธุรกิจเดียวกัน แต่ท้ายที่สุดราคาหุ้นของบริษัทบริหารหนี้เสีย หรือ AMC (Asset Management Companies) กลับทำให้แฟนคลับที่เกาะกันมาตั้งแต่ราคาหุ้น IPO ต้องผิดหวังมาตลอด แน่นอนว่าเรื่องของภาวเศรษฐกิจก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาหุ้นของ BAM ไม่ขยับไปไหน แต่อีกส่วนก็ต้องยอมรับว่าเป็นเพราะตัวของ BAM มีความยืดหยุ่นในทางธุรกิจที่ไม่เพียงพอที่จะสู้กับคู่แข่งซึ่งเป็นบริษัทเอกชนเต็มตัวนั่นเอง บ้างครั้งการเป็นยักษ์ที่ตัวใหญ่เกินไปมันก็อุ๊ยอ้ายกว่าคนตัวเล็กๆธรรมดา ถ้ายังไม่ปรับปรุงภายในก่อน...ก็จะทำอย่างอื่นลำบากแล้วเจ้าค่ะ


*** หลังเจ๊เมาธ์เสนอเรื่องวิธีการแก้ปัญหาเรื่องปรับปรุงมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์แต่ละครั้งของตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าไม่ต่างจากการ “พายเรือวนอยู่ในอ่าง”  และเกาไม่ถูกที่คัน  การให้บริษัทที่เข้ามาตรการกำกับการซื้อขายระดับที่ 1 เพิ่มในส่วนของการห้ามนำหลักทรัพย์มาคำนวณวงเงินซื้อขาย และบริษัทที่เข้ามาตรการกำกับการซื้อขาย ระดับที่ 2 เพิ่มส่วนของการห้าม Net Settlement และบริษัทที่เข้ามาตรการกำกับการซื้อขาย ระดับที่ 3 ต้องถูกห้ามซื้อขายชั่วคราวในวันแรก (1 วันทำการ)  ตลาดหลักทรัพย์ฯ ชี้แจงมาว่า มาตรการกำกับซื้อขายใหม่ที่เข้มข้นขึ้นจะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการกำกับการซื้อขาย และช่วยลดความเสี่ยงให้ผู้ลงทุนได้ทันท่วงทีมากขึ้น  
 

โดยมาตรการหยุดพักการซื้อขายชั่วคราว 1 วัน ในมาตรการระดับสูงสุด เป็นมาตรการที่เทียบเคียงได้กับตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคอีกด้วย อาทิ เกาหลี, ไต้หวัน 
 

สำหรับการให้ความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ให้ความรู้ผู้ลงทุนทั้งพื้นฐาน รวมถึงเตือนให้ศึกษาข้อมูลและปัจจัยความเสี่ยงรอบด้าน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันก่อนลงทุนมาอย่างต่อเนื่องหลากหลายช่องทาง ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เช่น e-learning, การออก statement เตือนให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่เพียงพอและระมัดระวังก่อนซื้อขายหุ้นที่มีความร้อนแรง รวมถึง infographic ให้ความรู้…ขอให้เข้าใจตามนี้นะจ๊ะ


หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,770 วันที่ 31 มีนาคม - 2 เมษายน พ.ศ. 2565