เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ อยู่ในสถาน การณ์ที่ยากแก่การจัดการอย่างมาก
ในขณะที่รายได้ของประชาชนจำกัดอย่างยิ่ง พิจารณาได้จากผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทย ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่ทำการศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน จากกลุ่มตัวอย่างพบว่า แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 99.0 มีหนี้ ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนในปีนี้สูงขึ้นมาอยู่ที่ 2.18 แสนบาทต่อครัวเรือน นับเป็นยอดหนี้ที่สูงสุดในรอบ 14 ปี
คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับขนาดของจีดีพีประเทศ
เผื่อใจเอาไว้เลยครับว่า คนไทยทุกคนต้องเผชิญกับราคาสินค้าอุปโภค บริโภคที่สูงขึ้น เนื่องจากวัตถุดิบและค่าโสหุ้ยปรับขึ้นตามต้นทุน- ค่าขนส่งปรับขึ้นตามราคาน้ำมันขึ้นปรู้ดปร๊าดทะลุซอย
จนผู้ประกอบการ ผู้ผลิตแบกต้นทุนกันไม่ไหว
แน่นอนว่า ในทางการทำธุรกิจต้องผลักภาระผู้บริโภค ขณะที่รัฐบาลซึ่งได้พยายามแก้ปัญหาอย่างหนักหน่วง เพราะหากปล่อยให้สินค้าขึ้นราคา
ปมราคาสินค้าแพงนี่แหละ อาจกลายเป็นปัญหาการเมือง เขย่ารัฐบาลเอาได้ ถ้าประชาชน ผู้ประกอบการแบกรับไม่ไหว
ในขณะที่ผู้ผลิต ประชาชนทนไม่ไหวนั้น การประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เห็นชอบให้ขึ้นราคาดีเซลแบบขั้นบันไดตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565 โดยจะเริ่มขยับไปที่ 32 บาท/ลิตร และกำหนดเพดานใหม่จะไม่เกิน 35 บาท/ลิตร จากเดิม 30 บาท/ลิตร ตามมติครม. ราคาส่วนที่เกิน 30 บาท/ลิตร กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะจ่ายครึ่งหนึ่ง
สัญญาณชัดจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คือ...“ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือประชาชนทุกภาคส่วน ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล
ขอให้ผู้ประกอบการภาคขนส่งเข้าใจด้วยว่ารัฐบาลได้ดูแลตรึงราคาน้ำมันดีเซลมาระยะหนึ่งแล้ว ได้ใช้เงินกองทุนพลังงานหลายหมื่นล้านบาทจนหมด และถึงแม้ได้กู้เงินมาเสริมก็หมดลงไปแล้วเช่นกัน แต่รัฐบาลพร้อมจะดูแลทุกภาคส่วนให้ดีที่สุด..”
สถานการณ์แบบนี้บอกได้เลยว่า อั้นไม่ไหว
ธนาคารโลกเปิดเผยรายงาน “แนวโน้มตลาดสินค้าโภคภัณฑ์” (Commodity Markets Outlook) เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2565 โดยระบุว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จำพวกอาหารซึ่งผลิตโดยรัสเซียและยูเครนนั้น ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาปุ๋ยซึ่งจำเป็นต้องใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิต พุ่งขึ้นรุนแรงที่สุดในรอบ 14 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา
ราคาพลังงานจะพุ่งขึ้นกว่า 50% ในปี 2565 ก่อนที่จะชะลอตัวลงในปี 2566 และ 2567 ขณะนี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 100 ดอลลาร์/บาร์เรลในปี 2565 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2556 และเพิ่มขึ้นกว่า 40% เมื่อเทียบกับระดับในปี 2564 จากนั้น คาดว่าราคาจะปรับตัวลงมาอยู่ที่ 92 ดอลลาร์ในปี 2566 แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ราคายังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ระดับ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนราคาสินค้านอกกลุ่มพลังงาน อาทิ สินค้าโภคภัณฑ์และโลหะ คาดว่าจะพุ่งขึ้นเกือบ 20% ในปี 2565 และจะลดลงในปีต่อ ๆ ไป หลังจากนั้น
ธนาคารโลกยังคาดการณ์ด้วยว่าราคาข้าวสาลีจะทะยานขึ้นกว่า 40% และแตะที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ โดยราคาข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และพืชอีกหลายชนิด ก็พุ่งสูงขึ้นด้วย เมล็ดถั่วเหลืองที่เคยขายกันที่ราคา 765 ดอลลาร์ต่อตัน เมื่อปี 2019 แต่ช่วงเดือนมีนาคมทีผ่านมาเพิ่มเป็น 1,957 ดอลลาร์ หรือราว 67,000 บาทต่อตัน
ส่วนราคาโลหะจะปรับตัวขึ้น 16% ในปี 2565 ก่อนที่จะชะลอตัวลงในปี 2566 แต่ก็จะยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก
ธนาคารโลกระบุว่า ในกรณีที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ หรือมีการใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติมขึ้นไปมากกว่าที่เป็นอยู่ ราคาสินค้าต่าง ๆ ก็จะพุ่งขึ้นอีก และจะมีความผันผวนมากกว่าตัวเลขคาดการณ์ในปัจจุบัน
ธนาคารโลกคาดว่าราคาสินค้าหลายชนิดจะอยู่ที่ “ระดับสูงเป็นประวัติการณ์” จนถึงสิ้นปี 2022 ความกลัวก็คือราคาสินค้าจำเป็นที่สูงขึ้นจะกระทบครอบครัวที่มีรายได้ต่ำอย่างแรงที่สุด
สัญญาณชัดอีกด้านหนึ่งที่ทุกคนต้องรับมือคือ การที่กระทรวงการคลังประกาศปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลง เหลือ 3.5% ( 3.0%-4.0%) จากช่วงเดือนมกราคม ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 4% เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยชะลอตัว ทั้งกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา และราคาพลังงานจะกดทับให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น
กระทรวงการคลังประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดจะเพิ่มขึ้นที่ 5% เนื่องจากการปรับขึ้นของราคาพลังงานและอาหารสด
ตอนนี้เป็นแล้วครับ มาม่าที่แจ้งปรับราคากลุ่มเส้นบะหมี่ (สีเหลือง) อาทิ รสต้มยำกุ้ง รสหมูสับ ปรับราคาขายส่งเพิ่มขึ้นอีก 2-3 บาท/กล่อง (30 ซอง) หรือ 10-14 บาท/ลัง (6 กล่อง หรือ 180 ซอง)
ราคาน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์มขวดยังคงปรับราคาขึ้น โดยจาก 60 บาท เป็น 70 บาทต่อขวด 1 ลิตร
เครื่องดื่มประเภทเหล้าและเบียร์ ขอขึ้น 20-30 บาทต่อลัง (12 ขวด) บางยี่ห้อขึ้นขวดละ 5 บาท
เบียร์จากขวดละ 65 บาท เป็น 70 บาท
เครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อยอดนิยมขอปรับ 2 บาทต่อขวด หรือ ปรับจาก 10 บาท เป็น 12 บาท หรือปรับขึ้นถึง 20%
น้ำมันปาล์มปรับราคาขึ้นขวด (ลิตร) ละ 5 บาท จากราคา 55 บาท เป็น 60 บาท
หมูเนื้อแดง ราคาจะลงมาเหลือกิโลร้อยกว่าบาท มกราคมราคาสูงถึงกิโลละ 250-300 บาท
ไข่ไก่ มีการตรึงราคาไว้ที่ฟองละ 3.20 บาท แต่ราคาไข่ไก่ปัจจุบันเฉลี่ยฟองละ 3.50บาท ปรับขึ้นไปแล้ว 9 บาทต่อแผง
อัตราเงินเฟ้อระดับนี้ถือว่าสูงมากและกระเทือนไปทุกหย่อมหญ้าแน่นอน
ภาวะเงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากจะกระทบต่อฐานะและความเป็นอยู่ของประชาชน
อัตราเงินเฟ้อยิ่งสูง ผู้คนจะยิ่งหนาว และจะผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง เมื่อนำมาหักออกจากเงินเฟ้อออกจะละลงและติดบลอหนักขึ้นชนิดที่ไม่สามารถนำรายได้จากดอกเบี้ยไปซื้อของได้
สภาพของคนไทยจึงติดกับดักดอกเบี้ยแท้จริงติดลบ
ไปตรวจสอบกันได้เลยครับ ดอกเบี้ยเงินฝากประจำตอนนี้ไม่เกิน 0.5% หากเงินเฟ้อทะลุขึ้นไปยืนยิ้มต้อนรับอยู่ที่ 5% ดอกเบี้ยแท้จริงของผู้คนในประเทศนี้จะติดลบ 4.5%
เงิน 100 บาทในกระเป๋าที่มีอยู่ขณะนี้ จึงมีค่าไม่ถึง 100 บาท เหลือแค่ 95.50 บาท
ขออนุญาต....ปาดน้ำตาเงินในกระเป๋าไม่ถึงร้อย!