นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ตามแนวทางการปรับราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได โดยในเดือนมิถุนายนที่จะแตะ ลิตรละ 32 บาท จะทำให้ค่าใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นเดือนละ 3,000 ล้านบาท และ หากแตะระดับ 35 บาทต่อลิตรตามราคาเพดานในช่วง2-3เดือน
หลังจากนี้จะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึงเดือนละ 7,500 ล้านบาท ทำในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายนจะมีเม็ดเงินค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไปกับค่าน้ำมันดีเซลถึง 30,000 ล้านบาท รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการออกมาชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้นเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและมองว่าโครงการคนละครึ่งเฟส 5 สามารถตอบโจทย์ในเรื่องของการเพิ่มรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ง่ายและเร็วที่สุดโดย
โดยโครงการคนละครึ่งเฟส 5 หากให้วงเงิน 1,000-1,500 บาทจะช่วยเพิ่มเม็ดเงินของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ 45,000 ล้านบาท เพียงพอกับเม็ดเงินที่สูญเสียไปกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และจะสามารถเข้ามาชดเชยทำให้เศรษฐกิจยังคงเติบโตได้ ซึ่งทางศูนย์พยากรณ์ฯยังคงตัวเลขเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 3.0-3.5
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลที่สูงขึ้น 1 บาท จะส่งผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจลดลงร้อยละ 0.2 และหากเพิ่มขึ้น 5 บาทเศรษฐกิจจะลดลงร้อยละ 1
และมีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง เพราะหลังจากประเทศจีนสามารถจัดการควบคุมโควิด-19 ภายในประเทศได้แล้วจะเริ่มกลับมาใช้น้ำมันมากขึ้น ในขณะที่การเจรจาระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังไม่คลี่คลายและมีแนวโน้มที่จะบานปลายออกไปได้ส่งผลโดยตรงกับราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับราคาสูงขึ้น
และหากรัฐบาลไม่มีมาตรการกระตุ้นและชดเชยความเสียหายต่อเศรษฐกิจจะทำให้เศรษฐกิจประเทศในปีนี้มีโอกาสขยายตัวต่ำที่ร้อยละ 3 ได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการจะมีต้นทุนการผลิตสินค้าที่สูงขึ้นและมีโอกาสปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นส่งผลทำให้ประชาชนชะลอการบริโภคซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วย