เป็นไปตามความคาดหมายที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 0.75-1.00% เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อนับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี พร้อมกับส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมครั้งข้างหน้าอีกในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2565
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ส่งผลลบต่อค่าเงินสกุลต่างๆ ทั่วโลก ที่ต่างอ่อนค่าลงอย่างถ้วนหน้าโดยเฉพาะของไทยค่าเงินบาทอ่อนลงมาที่ระดับ 34.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าทั้งปีจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ผลของค่าเงินบาทที่อ่อนลงมา จะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะการส่งสินค้าไปยังประเทศที่มีค่าเงินแข็งค่ากว่าไทย อย่างจีนและสหรัฐอเมริการที่เป็นคู่สำคัญ ที่จะมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่จะได้รับอานิสงส์ค่อนข้างมากอย่าง ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เม็ดพลาสติก, อัญมณีและเครื่องประดับ กลุ่มสินค้าเกษตรกรรม เช่น ยางพารา, มันสำปะหลัง, ข้าว, ไก่แปรรูป, ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง เนื่องจากส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบที่ผลิตได้ภายในประเทศ
ขณะเดียวกันสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่อ่อนค่าลง เพราะต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเป็นหลักจะต้องรับกับภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สินค้าอุปโภคบริโภค ยานพาหนะและอุปกรณ์, เชื้อเพลิง, สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จเร็จรูป เป็นต้น
นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยว ยังจะได้รับอานิสงส์จากเงินบาทที่อ่อนค่าลงมา เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวถูกลง เพราะนำดอลลาร์สหรัฐมาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ควรจะใช้โอกาสนี้ในการเร่งผลักดันการส่งออกให้มากขึ้น เร่งปลดล็อกอุปสรรคต่างๆ ทั้งในประเทศและประเทศคู่ค้า อย่างกรณี การส่งออกผลไม้ ที่เวลานี้ยังติดปัญหามาตรการ Zero Covid ของจีน ทำให้การขนส่งผ่านด่านต่างๆ ของจีน มีความไม่สะดวกและติดขัด ซึ่งจะต้องเร่งเจรจาและประสานงานอย่างใกล้ชิด เป็นต้น
อีกทั้ง ภาครัฐจะต้องใช้โอกาสนี้ เร่งประชาสัมพันธ์ ให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาประเทศไทย เพื่อดึงดูดรายได้เข้าประเทศให้มากขึ้น จะเป็นการช่วยฟื้นภาวะเศรษฐกิจไทยได้อีกทางหนึ่ง
หากเครื่องยนต์ทั้ง 2 ตัวนี้ สามารถเร่งเครื่องได้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือการเติบโตของจีดีพีในปี 2565 นี้ ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ถึง 3.5-4 % ก็มีโอกาสเป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะเร่งดำเนินการหรือสปีดได้เร็วแค่ไหน