*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3781 ระหว่างวันที่ 8-11 พ.ค..2656 โดย “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย...
*** “ข้าวของแพง” เป็นภาระปัญหาของประชาชนคนไทยอยู่ในขณะนี้ อันเป็นผลพวงมาจากราคาน้ำมัน ราคาพลังงานต่าง ๆ ขึ้นราคา นอกเหนือจากผลกระทบที่เกิดจาก “พิษโควิด-19” ที่ประชาชนทนทุกข์เดือดร้อนมาร่วม 2-3 ปี “รัฐบาล” ซึ่งมีหน้าที่ดูแลบริหารประเทศจะนิ่งดูดายไม่ได้ ต้องหาหนทางแก้ไขปัญหาบรรเทาทุกข์ให้ประชาชนอยู่ตลอดเวลา จึงอยากให้รัฐบาลได้รับฟังเสียงสะท้อนของประชาชนดูบ้างว่า สถานการณ์ยามนี้ประชาชนรู้สึกอย่างไร และอยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาอะไรให้พวกเขาบ้าง
*** เป็นเสียงสะท้อนที่ได้จากหน่วยงานภาครัฐ คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 1-11 ร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ได้จัดสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่ได้รับในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม ในหัวข้อ “Feedback สังคมไทย ต่อภัย COVID-19” สำรวจประชาชนที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 4,400 คน และเปิดผลสำรวจเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา
*** ผลการสำรวจเรื่องการ “เรียนออนไลน์” พบว่า ร้อยละ 72.23 เรียนไม่เข้าใจ ไม่มีสมาธิในการเรียน ผลการเรียนลดลง ร้อยละ 67.77 เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์การเรียนออนไลน์ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต และร้อยละ 48.41 ผู้ปกครองมีภาระเพิ่มขึ้นในเรื่องการเรียนการสอน ส่วน “รูปแบบการจัดการเรียนการสอน” ที่ต้องการมากที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน คือ การเรียนการสอนแบบ On-site คือ เรียนในสถานศึกษา และมีข้อเสนอแนะว่า ถ้ามีการเรียนแบบออนไลน์ควรปรับลดเวลาเรียน เนื้อหาวิชาการ และการบ้าน เพื่อลดความเครียดของนักเรียน ควรสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์และค่าอินเตอร์เน็ต รวมทั้งลดค่าเทอม หรือ ไม่เรียกเก็บค่าเทอม
*** ด้าน “ผลกระทบทางเศรษฐกิจ” พบว่า ร้อยละ 74.02 ได้รับผลกระทบ และ ร้อยละ 18.75 ไม่ได้รับผลกระทบ โดยผลกระทบที่ได้รับ มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ร้อยละ 30.90 ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น 2. ร้อยละ 13.27 ต้องนำเงินเก็บ เงินออมมาใช้จ่าย และ 3. ร้อยละ 11.92 การประกอบอาชีพยากลำบาก เช่น ขายของยากขึ้น
*** ส่วน “การปรับตัวทางด้านการเงิน พบว่า ร้อยละ 87.36 มีการปรับตัว โดยร้อยละ 77.86 มีการปรับตัวในเรื่องของการประหยัดค่าใช้จ่าย ร้อยละ 50.60 หารายได้เพิ่ม และร้อยละ 31.04 นำเงินออมออกมาใช้จ่าย ขณะที่ร้อยละ 8.36 ไม่มีการปรับตัว และยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า รัฐบาลควรปรับลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ลดราคาน้ำมัน ลดภาษีหรือลดภาระค่าใช้จ่าย ลดดอกเบี้ย เร่งให้มีมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ขยายระยะเวลา “โครงการคนละครึ่ง” เพิ่มราคาสินค้าทางการเกษตร เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และเพิ่มมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
*** ขณะที่ “เรื่องที่ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนมากที่สุด” 3 อันดับแรกได้แก่ 1. ร้อยละ 20.25 ลดค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต และค่าวัสดุอุปกรณ์ในการศึกษา 2. ร้อยละ 19.67 การเข้าสู่กระบวนการรักษาที่สะดวกและรวดเร็ว และ 3. ร้อยละ 16.73 การจัดหาอุปกรณ์ตรวจเชื้อ ATK เครื่องวัดไข้ หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ …ทั้งหมดคือเสียงสะท้อนความรู้สึกของประชาชนที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อ “รัฐบาล” ในการนำไปปรับปรุงแก้ไขปัญหา ยิ่งเวลาของรัฐบาลชุดนี้ลดน้อยถอยลงไปทุกที หากอยากได้ “ใจประชาชน” ก็ต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด
+++ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับประเทศไทย ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ ยืนในระดับ “ต่ำหมื่น” ขณะที่ผู้เสียชีวิต “ต่ำร้อย” มาหลายวัน ถือว่าแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้เริ่มจะมีการทยอยคืนวิถีชีวิตปกติให้กับสังคมไทย เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) โดยสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข พร้อมด้วย สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงได้ร่วมกันชี้แจงถึงความพร้อมการเปิด “เรียนออนไซต์” หรือการไปเรียนที่โรงเรียน ในภาคเรียนที่ 1/2565
*** โดยตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 สธ. และ ศธ. ได้ปรับเปลี่ยนมาตรการการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อการเรียนรู้ที่ดีในโรงเรียนของเด็กไทย ด้วยมาตรการ 1.เร่งรัดการฉีดวัคซีน เพื่อให้นักเรียนได้รับวัคซีนตามความสมัครใจให้ครอบคลุม 2.สถานศึกษา ต้องเข้ารับการประเมิน Thai Stop COVID Plus โดยต้องผ่านการประเมินมากกว่า 95% ส่วนการตรวจเอทีเค (ATK) ที่เดิมให้ตรวจทุกราย ก็ให้ตรวจเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงหรือมีอาการเท่านั้น 3. เน้นย้ำการทำตามแผนเผชิญเหตุ เมื่อเจอผู้ติดเชื้อ หรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ไม่ดำเนินการปิดชั้นเรียน หรือโรงเรียน และ 4.มอบหมายให้ศูนย์อนามัยในเขตสุขภาพเป็นพี่เลี้ยง
*** แผนเผชิญเหตุ ภาคการศึกษาที่ 1 เมื่อพบผู้ติดเชื้อในห้องเรียน คือ ให้ทำความสะอาดห้องเรียน แล้วดำเนินการเรียนการสอนได้ตามปกติ ส่วนเมื่อพบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ถ้านักเรียนได้วัคซีนครบตามแนวทางปัจจุบัน และไม่มีอาการ ไม่แนะนำให้กักกัน พิจารณาให้เข้าเรียนได้ กรณีไม่ได้รับวัคซีน ให้แยกกักกัน เป็นเวลา 5 วัน และติดตามเฝ้าระวังอีก 5 วัน รวมเป็น 10 วัน
*** สำหรับมาตรการเปิด “เรียนออนไซต์” อยู่ได้กับโควิด19 กรณีโรงเรียนประจำ เน้นมาตรการ Sandbox Safety zone in School โดย 1.หากนักเรียน ครู หรือบุคลากรเป็นผู้ติดเชื้อ ให้หารือหน่วยบริการสาธารณสุขในการแยกกักตัวในโรงเรียน กรณีไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ให้จัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสม เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร งดร่วมกลุ่ม 2.กรณีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้จัดควอรันทีนโซน จัดการเรียนการสอนในนั้นเป็นเวลา 5 วัน จากนั้นให้สังเกตอาการอีก 5 วัน แต่กรณีได้รับวัคซีนครบตามกำหนดและไม่มีอาการไม่ แนะนำให้กักตัว และตรวจ ATK ในวันที่ 5 และ 10 3.กรณีเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ให้เปิดเรียนปกติ โดยป้องกันตนเอง เว้นระยะห่างในห้องอย่างน้อย 1 เมตร
*** สุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ.บอกว่า โรงเรียนทั่วประเทศมีกว่า 35,000 แห่ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ทั้งประถมและมัธยม 29,200 แห่ง เอกชน 4,100 แห่ง และอื่นๆ เช่น องค์กรปกครองท้องถิ่น(อปท.) อีกราว 1,800 แห่ง โดยกว่า 90% จะเปิดเรียนในวันที่ 17 พ.ค.2565
*** ย้ำกันอีกที งานสัมมนาดีๆ ไม่ควรพลาด วันที่ 11 พ.ค.นี้ ที่โรงแรมเอราวัณ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้จัดงาน ZERO carbon วิกฤติ:โอกาสไทยในเวทีโลก ปาฐกถาพิเศษ โดย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ที่จะมาบอกเล่าให้ฟังว่ากระแสการตื่นตัว การรักษ์โลก การช่วยกันลดโลกร้อน คู่ค้าของไทยทั้งหลายเขามีมาตรการหรือโรดแมปอะไรออกมา และมาตรการที่ว่านั้นกระทบกับการส่งออกของไทยอย่างไร และผู้ส่งออกหรือประชาชนคนไทยต้องปรับตัวอย่างไร ขณะที่ วราวุธ ศิลปอาชา รมต.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะมาบรรยายพิเศษให้ได้รับฟังว่าปฏิบัติการลดโลกร้อน ซีโร่คาร์บอนของไทยไปถึงไหน เรากำลังทำอะไรอยู่ และระยะข้างหน้า เราจะทำอะไรกันบ้าง แถมยังมี “กูรูภาคเอกชน” จะมาเล่าให้ฟังในเรื่องเดียวกันนี้ ถึงโอกาสของคนไทย ไม่ควรพลาดงานดีๆ แบบนี้ เปิดลงทะเบียนที่ https://nregister.nationgroup.com/TMMZC/register.php