รัฐ-เอกชนกางแผน สู้ศึก Zero Covid จีน-คู่ค้ากีดกัน ป้องส่งออกผลไม้ 1.9 แสน ล.

04 พ.ค. 2565 | 23:00 น.

กระทรวงเกษตรฯ-เอกชนผนึกกำลัง ป้องส่งออกผลไม้ 1.9 แสนล้าน สู้ศึก Zero Covid จีน คู่ค้ากีดกัน-คู่แข่งยกระดับมาตรฐานแย่งตลาด สั่งทูตเกษตรรายงานสถานะเปิดปิดด่านเรียลไทม์ หอการค้าไทยเผยอินโดฯ อาหรับ คอสตาริกา ยังตีกันผลไม้ไทย จี้เร่งหาตลาดใหม่ ๆ รับความเสี่ยง

 

นอกจากเวลานี้การส่งออกผลไม้ไทยไปตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุด (ปี 2564 ไทยส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง มูลค่า 1.91 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ส่งออกไปตลาดจีนกว่า 1.59 แสนล้านบาท) กำลังพบกับอุปสรรคสำคัญจากมาตรการ Zero Covid ของทางการจีน ทำให้ผลไม้ทุกล็อตที่จะส่งผ่านด่านเข้าจีนทั้งด่านทางบก เรือ อากาศ ต้องถูกตรวจเข้มแล้ว สินค้าผลไม้ไทยยังต้องเผชิญการแข่งขันกับสินค้าผลไม้จากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และพบอุปสรรคจากมาตรการของประเทศคู่ค้าอื่น ๆ

 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มาตรการ Zero Covid ที่เข้มข้นของจีนถือเป็นอุปสรรคและปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการส่งออกทุเรียนและผลไม้ไทยในภาพรวมไปจีนในเวลานี้ ผลกระทบตามมาคือโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้าทางบกต้องผ่านประเทศที่ 3 (ลาว เวียดนาม) ที่เกิดการติดขัดซึ่งอยู่ระหว่างการเร่งแก้ไขปัญหา

 

อลงกรณ์  พลบุตร

 

ส่วนระบบราง (ผ่านรถไฟลาว-จีน) มีการเร่งประสานงานเพื่อความชัดเจนในขั้นตอนวิธีการในการขนส่งสินค้าไปยังปลายทาง เนื่องจากยังเป็นเส้นทางใหม่ ส่วนช่องทางขนส่งทางอากาศมีประสิทธิภาพดี แต่มีค่าใช้จ่ายที่สูง และทางเรือยังใช้เวลาค่อนข้างนาน นอกจากนี้ อาจมีการขาดแคลนตู้สินค้าสำหรับการขนส่งสินค้าผลไม้ ที่ผลผลิตจะกระจุกตัวสูงมากในช่วง 4 เดือนต่อจากนี้ รวมถึงยังมีสินค้าผลไม้ชนิดเดียวกันจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีความพยายามเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานขึ้นมาแข่งขันกับสินค้าผลไม้ของไทย ดังนั้นการรักษามาตรฐานผลไม้ไทยที่ผู้บริโภคเชื่อมั่นอยู่แล้วจึงเป็นสิ่งสำคัญ

 

“การแก้ไขปัญหาอุปสรรคการส่งออกผลไม้ไทยปีนี้ กระทรวงเกษตรฯได้ดำเนินงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์อย่างใกล้ชิด ตามนโยบายเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด โดยในส่วนของการเจรจากับประเทศคู่ค้าเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ ส่วนกระทรวงเกษตรฯจะส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาด สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค เช่น มาตรการป้องกันทุเรียนอ่อนและ Zero Covid ตั้งแต่แปลงปลูก รวมถึงการให้อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ที่ประจำอยู่ที่เมืองท่าของจีน รายงานสถานะการเปิดปิดด่านนำเข้าผลไม้ และประสานแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที”

 

รัฐ-เอกชนกางแผน สู้ศึก Zero Covid จีน-คู่ค้ากีดกัน ป้องส่งออกผลไม้ 1.9 แสน ล.

 

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า นอกจากมาตรการ Zero Covid ของจีนแล้ว ยังมีมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) มาตรการด้านสุขอนามัยและอนามัยพืช (SPS) และมาตรการด้านเทคนิคที่เป็นอุปสรรคทางการค้า (TBT) ของประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกผลไทยในหลายตลาด เช่น อินโดนีเซียกำหนดท่าเรือขนส่งสินค้าผักและผลไม้เพียง 3 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือ Soekarno-Hatta ท่าเรือ Tanjung Perak และท่าเรือ Belawan ทำให้ต้องใช้เวลาในการขนส่งมากขึ้น และต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพของสินค้าไทย

 

กลุ่มประเทศอาหรับมีร่างกฎระเบียบเชิงเทคนิคเกี่ยวกับผลอินทผลัมสดที่ผ่านการล้าง ลดความชื้น ตากแห้ง และการพาสเจอร์ไรส์ผลอินทผลัมสำหรับการบริโภคของมนุษย์ ไม่รวมถึงผลอินทผลัมในกระบวนการอุตสาหกรรม ขณะที่คอสตาริกา มีประกาศกระทรวงกำหนดรายชื่อศัตรูพืชควบคุมและข้อกำหนดสุขอนามัยพืชที่ใช้กับสินค้าพืชที่นำเข้ามายังอาณาเขต และการแจ้งมาตรการสุขอนามัยสำหรับการนำเข้าผลไม้สด ผักกลุ่มรากและลำต้นใต้ดิน สำหรับบริโภคหรือใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร และมีการร่างกฎระเบียบทางเทคนิค กำหนดมาตรฐานทั่วไปสำหรับน้ำผลไม้และเนคตาร์ เป็นต้น

 

วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

 

ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมการส่งออกผลไม้ไทย ที่สำคัญได้แก่ การหาแนวทางสำรองตลาดจีนสำหรับเหตุการณ์ไม่ปกติ หากมีการปิดด่านอีก ควรเพิ่มการขนส่งทางเลือกใหม่อย่างทางราง, การอำนวยความสะดวกในการส่งออก เช่น กรณีด่านปิดควรเข้าไปเจรจาขอเปิดด่านทันที, การให้เรือใหญ่เข้ามาเทียบท่าได้มากขึ้นเพื่อให้การขนส่งทางเรือสะดวกขึ้น, ทางอากาศขอมีการเจรจาเพื่อหาทางให้ต้นทุนการขนส่งทางอาการลดลง

 

รัฐ-เอกชนกางแผน สู้ศึก Zero Covid จีน-คู่ค้ากีดกัน ป้องส่งออกผลไม้ 1.9 แสน ล.

 

“นอกจากนี้จากต้นทุนการส่งออกผลไทยที่เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กบางส่วนได้รับความเสียหายซึ่งส่งผลกระทบด้านการเงิน รัฐอาจเข้ามาช่วยเช่น โครงการสินเชื่อต่าง ๆ ขอให้มีการอบรมหลักสูตรให้กับล้งไทย ในการทำ GMP Plus ซึ่งจะทำให้สามารถผ่านด่านจีนได้โดยไม่ต้องเปิดทุกตู้ การกำชับให้เกษตรกร ล้ง และผู้ประกอบการส่งออกต้องเคร่งครัดในเรื่องคุณภาพให้เต็ม 100% และต้องปลอดโควิด-19 กรณีที่ปริมาณผลไม้มีมาก กระจายไม่ทัน อาจจัดให้มีการนำไปแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และควรเร่งหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงหากไม่สามารถส่งออกไปตลาดหลัก(จีน) ได้” นายวิศิษฐ์ กล่าว

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3780 วันที่ 5 – 7 พฤษภาคม 2565