*** ถ้าจะบอกว่าภาวะสงคราม...ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รวมไปถึงภาวะเงินเฟ้อ ทำให้หุ้นตกทั่วโลกก็ใช่ ไม่ผิด และถ้าจะบอกว่ามาตรการควบคุมหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย หรือที่เรียกว่า “หุ้นติดแคชฯ” เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยก็น่าจะไม่ผิดเช่นกัน
เพราะการถูกจับติดแคชฯ ที่ไม่ว่าจะเป็นด้วยสาเหตุใดก็ตาม มันเป็นการแทรกแซงราคาหุ้นโดยการใช้อำนาจในแบบที่ไม่มีความชัดเจนเข้ามาบังคับ จนทำให้หุ้นราคาตกและนักลงทุนเสียหาย ในขณะที่กลุ่มปั่นราคาหุ้นซึ่งอาจจะมี...หรือไม่มี กลับไม่ได้รับความเสียหาย เพราะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าตลาดอยู่แล้ว ไม่ต้องว่ากันอื่นไกล...ดูอย่าง ZIGA JUTHA FORTH PROEN EFORL IND หรือ หุ้นอื่นอีกหลายตัวที่ไม่ถูกนำมาพูดถึง ต่างก็เป็นหุ้นที่มีผลการดำเนินงาน และค่าพีอีที่ชัดเจน แต่กลับมีนักลงทุนเสียหายจำนวนมากเพราะหุ้นถูกจับติดแคชฯ
ส่วนเรื่องที่สองที่พบก็คือ การติดแคชฯ ไม่สามารถทำให้หุ้นที่มีพฤติกรรมในการดันราคาชะลอความร้อนแรงลงมาแต่อย่างใด หมายความว่ามาตรการควบคุมหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย หรือ “หุ้นติดแคชฯ” ไม่มีผลในทางปฏิบัติในการควบคุมหุ้นปั่น หรือหุ้นที่มีพฤติกรรมในการดันราคาแบบผิดปกติ ซึ่งถ้าไม่มีผลในทางปฏิบัติ แต่มีแค่ผลในการรักษาอำนาจ และพอให้ได้ดูเหมือนผู้คุ้มกฎมีกิจกรรมเพื่อให้ไม่มีข้อครหา แล้วแบบนี้จะมีทั้งคนและกฎเอาไว้ทำไมกันเจ้าค่ะ
*** 1/65 เป็นไตรมาสที่ GPSC มีกำไรที่ออกมา 313 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากมีประเด็นเรื่องต้นทุนการผลิตรวมไปถึงการปิดซ่อม GHECO-ONE ซึ่งเป็นโรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาด 660 MW เนื่องจากเหตุการณ์ท่อรั่วจนทำให้รายได้บางส่วนหายไป อย่างไรก็ตาม แผนงานที่เกี่ยวกับโรงงานผลิตแบตเตอร์รี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย กำลังจะเริ่มส่งมอบสินค้าให้กับ PTT บริษัทแม่ที่กำลังเดินหน้าก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จะทำให้อนาคตของ GPSC เปลี่ยนไป นี่ยังไม่รวมค่าไฟฟ้าที่ถูกปรับขึ้น รวมไปถึงสงครามรัส-เซียยูเครน ที่อาจจะจบลงในช่วงครึ่งปีหลัง ก็จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นมา ทำให้ในระยะยาวแล้ว GPSC ยังคงเป็นบริษัทที่น่าสนใจมากเจ้าค่ะ
ล่าสุด GPSC ได้ลงนามสัญญาแลกเปลี่ยนความร่วมมือ เพื่อพัฒนาโครงการเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ เพื่อมาใช้ในโครงข่ายระบบไฟฟ้ากับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)
ทางเอเซีย พลัส ประเมินว่า ในช่วงไตรมาส 2/2565 คาดจะกลับมาเริ่มฟื้นตัวได้บ้าง จากการเข้าสู่ ไฮท์ซีซั่นของฤดูกาลใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย และการกลับมาเดินเครื่องของโรงไฟฟ้า GLOW Energy phase 5 ได้เต็มไตรมาส รวมถึงการประกาศขึ้นค่า ft รอบใหม่อีก 23.4 สตางค์ ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ส.ค.2565 และยังรับรู้ส่วนแบ่งรายได้ของโรงไฟฟ้า XPCL แม้ว่า ต้นทุนพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูงยังคงเป็นปัจจัยกดดันหลักต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก 2565 ส่งผลให้มูลค่าพื้นฐาน GPSC ในปี 2565 อยู่ที่ 82.5 บาท/หุ้น
*** ผลการดำเนินงาน 1/65 ของ STGT ออกมา 1,052 ล้านบาท ลดลงไปถึง 90% โดยมีค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารอยู่ที่ 640 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.10% ขณะที่รายได้จากการขายจำนวน 7.11 พันล้านบาท ลดลง 53.90% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเช่นกัน ส่วนทาง STA ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ STGT ในไตรมาส 1/65 รายได้ปรับลดลง 11.3% เทียบช่วงเดียวกันปี 64 มีกำไร 1,509 ล้านบาท ลดลง 74.7% จากงวดเดียวกันของปีที่แล้ว โดยรายได้จากธุรกิจถุงมือยางลดเหลือ 7.04 พันล้านบาท ปรับลงมา 54.40% ทำให้ทั้ง STA และ STGT กลายเป็นหุ้นแม่ลูกที่ได้รับผลกระทบในทางลบ จากการที่ต่างประเทศปรับนโยบายให้ประชาชนต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19 มากกว่าใคร
สำหรับเจ๊เมาธ์แล้ว หากจะให้เลือกเพียงบริษัทเดียว เจ๊เมาธ์มองว่า STA น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีเนื่องจากกลุ่มสินค้าที่ครอบคลุมได้ในหลากหลายธุรกิจที่มากกว่า แต่ก็ใช่ว่าทางด้าน STGT จะแย่เกินไปเพราะตอนนี้อาจจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ซึ่งถ้าจะต้องรอบ้าง...ก็เพียงแค่อาจจะรอดูความชัดเจนอีกนิดหน่อยเท่านั้นเองค่ะ
*** ราคาบิทคอยน์ที่ปรับลงมาจนหลุด 30,000 เหรียญสหรัฐ/เหรียญบิทคอยน์ แม้จะเป็นแค่ชั่วคราวแต่ก็เป็นสัญญาณไม่ดีนักสำหรับบริษัทที่ประกาศตัวว่า จะทำธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์อย่าง JTS UPA ECF ZIGA รวมถึงอีกหลายบริษัท ซึ่งบิทคอยน์ได้พิสูจน์ตัวตนแล้วว่า ทิศทางของราคาผูกพันอยู่กับอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น เมื่อปัญหาเงินเฟ้อจะถูกจัดการด้วยการดึงเงินสดออกจากระบบทางการเงินด้วยการทำ QT (Quantitative Tightening) และการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้เงินล้นระบบที่เคยไหลเข้าไปหาบิทคอยน์น้อยลง จนทำให้มูลค่าของบิทคอยน์ปรับลดลงตามไปด้วย
ขณะที่อีกส่วนก็มาจากทฤษฎีสมคบคิดที่บอกว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งในหลุมโคลนที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เพื่อทำให้เงินสดหายไปจากระบบ (Burn Cash) ไม่ต่างกับการทำ QT และการขึ้นดอกเบี้ยที่มีวัตถุประสงค์ในการดึงเงินสดหายออกไปจากระบบเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม...แม้ว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ และทฤษฎีสมคบคิดที่เจ๊เมาธ์ว่ามา แต่ต้นทุนพลังงานที่ใช้ในการขุดที่แพงขึ้น รวมถึงมูลค่าของบิทคอยน์ที่ปรับลดลง ก็จะทำให้ความคุ้มค่าในการทำธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์น้อยลงอยู่ดี และถึงแม้จะบอกว่าไม่ขายเหรียญออกไปก็ไม่ขาดทุน...แล้วต้นทุนที่มาจากการดำเนินธุรกิจจะจัดการอย่างไร ดังนั้นบอกได้เลยว่าตอนนี้หุ้นเหมืองขุดบิทคอยน์อย่าง JTS UPA ECF ZIGA ออกอาการน่าเป็นห่วงมากค่ะ
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,782 วันที่ 12 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2565