คจร.เคาะโอนรถไฟฟ้ากทม. คืนคมนาคม เชื่อมสายสีเหลืองถึงแยกรัชโยธิน

23 ธ.ค. 2567 | 09:38 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2567 | 09:43 น.

บอร์ดจัดระบบการจราจรทางบก หรือ คจร. นัดแรก เคาะโอนภารกิจโครงการรถไฟฟ้าลงทุนใหม่ ของกทม.คืนให้กระทรวงคมนาคม พร้อมรับทราบเชื่อมสายสีเหลืองถึงแยกรัชโยธิน ปรับสายสีแดง เป็น วงเวียนใหญ่ – มหาชัย

วันนี้ (23 ธันวาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการโอนภารกิจโครงการรถไฟฟ้าลงทุนใหม่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานครกลับคืนให้แก่กระทรวงคมนาคม พร้อมการปรับเปลี่ยนรถไฟชานเมืองสายสีแดง เดิมจากหัวลำโพง – มหาชัย เป็น วงเวียนใหญ่ – มหาชัย

 

รองนายกรัฐมนตรี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)

 

ทั้งนี้ยังเห็นชอบโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศและรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ (R-Map) รวมทั้งเห็นชอบหลักการการดำเนินงานก่อสร้างทางเชื่อมบริเวณสถานีเชื่อมต่อ (Interchange) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ของ รฟม.

ขณะเดียวกันยังพิจารณาผลการศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกการดำเนินงานโครงการที่เหมาะสมสำหรับดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ - แยกแม่เหียะสมานสามัคคี และโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน - สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)

 

พร้อมกันนี้ยังขอทบทวนโครงการภายใต้แผนแม่บทสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และพิจารณาโครงการศึกษาการแก้ไขปัญหาการจราจรทั้งระบบบนถนนสายหลักในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลระยะเร่งด่วน ทั้งการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการจราจรในระยะเร่งด่วนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และ แนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรถนนพหลโยธิน บริเวณกองทัพอากาศ

รวมทั้งแผนปฏิบัติการด้านการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปี พ.ศ. 2567 – 2580 และขอทบทวนแผนการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในภาพรวมทั้งระบบ เช่นเดียวกับโครงการนำร่องการพัฒนาระบบการจราจรและขนส่งอัจฉริยะในเขตจังหวัดปริมณฑล “โครงการการประเมินผลการใช้มาตรการตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรโดยใช้กล้องตรวจจับ : พื้นที่จังหวัดปทุมธานี”

ขณะเดียวกันยังขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2536 เรื่อง การส่งเสริมการจัดท่าเทียบเรือสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและสามารถนำพื้นที่บางส่วนของท่าเรือสาธารณะมาใช้ในเชิงพาณิชย์

 

รองนายกฯ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)

 

นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการที่สำคัญ จำนวน 8 เรื่อง ดังนี้

1. แผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเปิดให้บริการแล้ว 13 เส้นทาง ระยะทางรวม 276.84 กิโลเมตร ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบและมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พิจารณาศึกษาขนส่งมวลชนระบบรอง (รางเบา) ในย่านจตุจักร เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ให้เกิดเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ใหม่ที่ใช้ประโยชน์จากการพัฒนาระบบรางและประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทาง 

2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา - ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน 

3. การดำเนินการระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการเชื่อมต่อการเดินทาง สถานีรถไฟชานเมือง สายสีแดง (สถานีรังสิต) ตามมติ อจร. จังหวัดปทุมธานี 

4. แผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น 

5. ผลการทบทวนการศึกษาความเหมาะสมโครงการขอนแก่น Smart City (ระยะที่ 1) ก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนระบบรางเบา สายเหนือ - ใต้ รวมถึงโครงการระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่น เส้นทางนำร่องสายสีแดง (สำราญ - ท่าพระ) 

6. แผนแม่บทการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปี พ.ศ. 2563 

7. ผลการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในเขตพื้นที่การจราจรหนาแน่นในกรุงเทพมหานคร โดยมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เตรียมการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก United Kingdom Partnering for Accelerated Climate Transition (UKPACT) สามารถเริ่มโครงการศึกษาได้ในเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2567 

8. สรุปผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ปีงบประมาณ 2565 - 2566