*** หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3792 ระหว่างวันที่ 16-18 มิ.ย.2565 โดย...กาแฟขม
*** ท่าจะวุ่นวายตั้งรับกันไม่ทัน เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย เงินเฟ้อพุ่งทะยานสูงสุดในรอบหลายปี ผลพวงจากเศรษฐกิจโลก สงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมัน สัญญาณมาแล้ว แม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้ตรึงดอกเบี้ยในคราวประชุมรอบล่าสุดไปก่อน แต่มติ 4:3 นั่นหมายถึงสัญญาณว่ารอบต่อไปดอกเบี้ยขึ้นแน่ พอขึ้นไปก็วุ่นกับต้นทุนโดยเฉพาะของคนเล็กคนน้อย ที่กระอักบักโกรกอยู่ก่อนแล้ว ครั้นจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยก็มีปัญหาอีก แน่นอนเงินจะไหลออกไปหาที่ดอกเบี้ยสูงกว่า กระทบกับ “ฟันด์ โฟล” ย้อนมากระทบเศรษฐกิจรวมอีก
*** ชัดเจนแจ๋วแหว๋ว เมื่อ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ธปท. การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเหมือนในอดีต อาจมีความจำเป็นน้อยลง เมื่อเศรษฐกิจมีการฟื้นชัดเจนมากขึ้น นโยบายการเงินต้องถอนคันเร่งลง การปรับนโยบายการเงิน การขึ้นดอกเบี้ย หากช้าเกินไปไม่ดี เพราะหากคอยนานเกินไป แล้วปล่อยให้เครื่องยนต์ด้านเงินเฟ้อติด ระยะข้างหน้าอาจต้องเหยียบเบรกแรงขึ้น จากการขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไป ทำให้นโยบายการเงินอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงตามมา ฟังสุ้มเสียงน้ำหนักแล้วไม่ต้องการขึ้นแรง เร็ว ภายหลัง แต่จะถอนคันเร่งทะยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว
*** ราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ ล่าสุดคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง.ของ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานเองก็สุดอั้นลดภาษีสรรพสามิตแล้วก็เอาไม่อยู่ ประกาศให้ขึ้นราคาน้ำมันดีเซลไปอยู่ที่ 35 บาทต่อลิตร ยอมรับไม่ไหวที่จะตรึง ด้วยเหตุกองทุนน้ำมันติดลบไปแล้วร่วม 9 หมื่นล้านบาท เมื่อปล่อยดีเซลขึ้นไปก็เป็นฐานให้สินค้าอื่นปรับขึ้นราคาตาม อันที่จริงรัฐต้องลงดูให้ชัด ใช่เป็นเหตุให้สินค้าอื่นต้องปรับขึ้นตามหรือไม่ น้ำหนักต้นทุนแฝงอยู่เท่าไรกันแน่ และไปดูการช่วยเหลือให้ตรงจุดคนเดือดร้อนจริงมากกว่า ตรึงแล้วได้อานิสงส์ไปทั่วทุกตัวคน
*** กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีคลัง หัวหน้าพรรคกล้า ออกมาติงค่าการกลั่นสุดโหด เปรียบเทียบชัดๆ เมื่อ 10.มิ.ย.63 ราคาน้ำมันดิบ 8.10 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันสำเร็จรูป 8.98 บาทต่อลิตร ค่าการกลั่น0.88บาทต่อลิตร 10 มิ.ย.64 น้ำมันดิบอยู่ที่ 14.01 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันสำเร็จรูป 14.88 บาทต่อลิตร ค่าการกลั่น 0.87 บาทต่อลิตร 10 มิ.ย.65 ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 25.92 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 34.48 บาทต่อลิตร ค่าการกลั่น 8.56 บาทต่อลิตร สูงขึ้น 10 เท่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้เพิ่มขึ้นขนาดนั้น พอจะลดให้ประชาชนได้บ้างหรือไม่ ฟันกำไรเกินควรหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ถ้าจำกันได้ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรมต.พลังงาน เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย ก็ออกมาติงเรื่องนี้แถมให้ยกเลิกอ้างอิงราคาน้ำมันสิงคโปร์ไปด้วย
*** แถมท้ายอีกคนด้วย สุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานพรรคชาติพัฒนา ก็ออกมาชี้การดูแลราคาน้ำมันช่วยประชาชน ต้องดูค่าการตลาด ค่าการกลั่น เมื่อออกมาชี้ “ค่าการกลั่นสุดโหด” เช่นนี้กันหลายคน ทางกระทรวงพลังงานก็อ้อมแอ้มๆ บอกจะหารือโรงกลั่นดู จะลดได้หรือไม่ พร้อมพลิกหากฎหมาย อันที่จริงไม่ต้องพลิกให้มากความ มีกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการอยู่แล้ว กระทรวงพาณิชย์ดูแลกฎหมายนี้อยู่ ถ้าเห็นว่าไม่เป็นธรรม ก็จับมาเป็นสินค้าหรือบริการควบคุมเสีย แล้วให้แจกแจงต้นทุนมา ถ้าไม่สมเหตุสมผลก็กำหนดราคาให้โรงกลั่นไปเสียใหม่ ถ้าคุยไม่รู้เรื่องก็ต้องวิธีนี้ ว่าแต่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯลุงตู่จะกล้าพอหรือไม่ ก็เท่านั้น
***ไปที่ความเคลื่อนไหวภาคธุรกิจทางสังคมกันบ้าง บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) จัดโครงการ “วิริยะ รวมใจกัน ปันเส้นผม เพื่อผู้ป่วยมะเร็ง” โดยเปิดรับบริจาคเส้นผมของพนักงาน และคนครอบครัวจำนวน 100 หัว เพื่อส่งต่อให้กับมูลนิธิจากนางฟ้าถึงคุณวันใหม่ นำไปทอเป็นวิกผมเพื่อส่งต่อให้กับผู้ป่วยมะเร็งต่อไป โดยทางวิริยะประกันภัยได้สนับสนุนค่าทอวิกผม จำนวน 100,000 บาท กานดา วัฒนายิ่งสมสุข ที่ปรึกษาฝ่ายการตลาด วิริยะประกันภัย เป็นผู้แทนบริษัท ส่งมอบให้ ดร.อรณัฎฐ์ นครศรี ประธานกรรมการมูลนิธิจากนางฟ้าถึงคุณวันใหม่เป็นผู้รับมอบ ทีมวิริยะจิตอาสากว่า 10 คน ยังร่วมกันช่วยคัดแยกเส้นผมของผู้บริจาคก่อนจะส่งทอเป็นวิกผมเพื่อส่งมอบให้กับผู้ป่วยมะเร็งในโรงพยาบาลของรัฐต่อไป
*** วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)ออกมาประกาศเตรียมแผนเชิญชวนให้ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมพบปะกับนักลงทุนต่างชาติที่สนใจเข้าไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม ได้นำเสนอความพร้อมด้านศักยภาพและจุดเด่นของพื้นที่ เพื่อดึงดูดผู้ประกอบการให้เข้ามาลงทุนจะก่อให้เกิดเม็ดเงินและการจ้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น และยังมีแผนทำการตลาดเชิงรุกในต่างประเทศ โดยจะไปโรดโชว์เพื่อพบปะนักลงทุนต่างชาติ นำเสนอข้อมูลพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้วย ได้เวลาทำการตลาดเชิงรุกในต่างประเทศ หลังประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยเริ่มทยอยเปิดประเทศแล้ว
*** ครบรอบ 120 ปี กรมชลประทาน น้ำคือชีวิต เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ โชว์ศักยภาพขับเคลื่อนเป้าหมายองค์กรอัจฉริยะ มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ แสดงผลงานและนวัตกรรมงานชลประทานผ่านนิทรรศการยิ่งใหญ่ นำเทคโนโลยีเสมือนจริง โชว์ความมหัศจรรย์แห่งสายน้ำเพื่อชีวิต (The Miracle of Water for Life) ที่เรียกได้ว่าเหนือความคาดหมาย หลังโควิด-19 คลี่คลาย แต่ปัญหาวิกฤติอาหารกำลังจะตามมา หลายประเทศโดยในส่วนประเทศไทยนั้นถือว่ามีศักยภาพในการผลิตวัตถุดิบ แหล่งน้ำนับเป็นสิ่งสำคัญ ต้องพัฒนาและบริหารจัดการแหล่งน้ำให้เพียงพอ พร้อมทั้งเร่งรัดพัฒนาแหล่งน้ำในภาคตะวันออก รองรับความต้องการของเขตอีอีซี เนื่องจากขณะนี้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนจำนวนมาก