*** หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3790 ระหว่างวันที่ 9-11 มิ.ย.2565 โดย ...กาแฟขม
*** ประเด็นร้อน ประเด็นฮอต แถลงกันมาแล้ว เงินเฟ้อ เดือนพ.ค.พุ่งกระฉุด หยุดไม่อยู่ ปาเข้าไป 7.10% สูงสุดในรอบ 13 ปี ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นจากผลของราคาพลังงานและอาหารในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มพลังงาน ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดโลก การยกเลิกการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม การปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft)
*** แน่นอนราคาน้ำมันพุ่งเอาๆ เรียกว่าปรับราคากันทุกสัปดาห์ ชาวบ้านหาเช้ากินค่ำบ่นอุบ หันไปทางไหนก็มีแต่สินค้าราคาแพงขยับตามกันเป็นลูกโซ่ ล่าสุด นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน ออกมาบอกว่า รัฐบาลพยายามดูแลราคาน้ำมันให้มีเสถียรภาพ ราคาน้ำมันไทยเทียบประเทศเพื่อนบ้าน ยังถือว่าอยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางต่ำ เนื่องจากใช้กลไกเงินกองทุนอุดหนุน
*** ตรึงแบบไหน กระทรวงพลังงานบอกว่าตรึงราคาน้ำมันดีเซลมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาที่มีการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ได้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนไปแล้วกว่า 4 หมื่นล้านบาท (ข้อมูล ณ 29 พ.ค. 65) แต่ล่าสุดเห็นว่าติดลบไป 8 หมื่นกว่าล้านแล้ว เอาละวา !! ส่วนการช่วยเหลือเฉพาะน้ำมันดีเซลนั้น เนื่องจากน้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนในภาคขนส่งที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าและบริการ และได้ออกมาตรการช่วยเหลือกับกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างผ่านโครงการวินเซฟ ช่วยค่าน้ำมันแก่ผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์เดือนละ 250 บาท เบื้องต้นเป็นระยะเวลา 3 เดือน และขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณามาตรการอื่นๆ
*** สดๆ ร้อนๆ เข้าไปอีก เมื่อคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เห็นชอบให้ปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำมันดีเซลในประเทศเป็น 34 บาทต่อลิตร จาก 33 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. เนื่องจากคณะกรรมการมองว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทั้งที่ตลาดดูไบ น้ำมันดีเซล (Gas Oil) สำเร็จรูปมีการปรับตัวขึ้นจาก 149 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เป็น 158.92 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อีกทั้งยังมาจากมาตารการคว่ำบาตรของยุโรป ต่อรัสเซีย รวมถึงการเปิดประเทศของจีน และปริมาณน้ำมันดิบคลังสหรัฐฯ ที่ลดลงกว่า 1.2 ล้านบาร์เรล ดูสถานการณ์เขาน่าจะขยับกันเรื่อยๆแล้ว
*** ผลจากราคาน้ำมัน ผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ผลจากโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจไทยเข้าแบบยังฟื้นไม่เป็น สภาพัฒน์ ประมาณการใหม่จีดีพีทั้งปี 2.5-3.5 % แต่ที่หลายคนห่วงไปจนถึงปลายปีนี้ เกิดภาวะขาดดุลที่เขาเรียกกันว่าขาดดุลแฝด (Twin Deficits) หรือ การขาดดุลการคลัง และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดควบคู่กัน ขาดดุลการคลังจากรัฐบาลมีการใช้จ่ายมากกว่ารายรับ ทำให้ต้องกู้มาชดเชย หนุนอุปสงค์การบริโภคและการลงทุนภายในประเทศเพิ่มขึ้น และยังตามด้วยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จากการขาดดุลสุทธิของดุลการค้า ดุลบัญชีบริการ ดุลรายได้จากการลงทุนระหว่างประเทศ และดุลเงินโอนระหว่างประเทศรวมทั้งต้องใช้เงินในการนำเข้าน้ำมันสูง รายได้ส่งออกกลบไม่พอ ใครผ่านวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 มา เห็นสัญญาณขาดดุลแฝดนี้ ย่อมไม่สบายใจ ย่อมหนาวๆ ร้อนๆ วิตกกังวลหน่อย
*** ให้ยืม ครม. เมื่อเร็วๆ นี้ ไฟเขียว 6,000 ล้านบาท ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย และแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปี 2565 – 2567 โครงการนี้ ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในอัตรา 2% ต่อปีให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย วงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2565 – 2567 รวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท ซึ่ง ครม. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. เป็นเงิน 789.75 ล้านบาท สำหรับพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย และปรับพื้นที่ปลูกอ้อย รายละไม่เกิน 500,000 บาท เฉพาะปรับพื้นที่ปลูกอ้อย อัตราไม่เกินไร่ละ 2,500 บาท ชำระคืนเสร็จสิ้นไม่เกิน 6 ปี ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ 2% ต่อปี และสำหรับกู้เงินเพื่อจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น รถตัดอ้อย รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท รถคีบอ้อย รายละไม่เกิน 2 ล้านบาท รถแทรกเตอร์ รายละไม่เกิน 6 ล้านบาท ชำระคืนเสร็จสิ้นไม่เกิน 8 ปี ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ 2% ต่อปี รวมถึงกู้เงินเพื่อซื้อรถบรรทุกและพ่วงบรรทุก ชำระคืนเสร็จสิ้นไม่เกิน 8 ปี ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ 4% ต่อปี
*** ปิดท้ายเรื่องของคนเมืองกรุงหน่อย ตะลึงไปตามๆ กัน เมื่อการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ รฟม.ประกาศทีโออาร์รถไฟฟ้าสายสีส้มใหม่ สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ผู้เชี่ยวชาญระบบขนส่ง ออกมาชี้เปรี้ยง มีแค่ 2 บริษัทในโลกที่จะมีคุณสมบัติครบถ้วนยื่นประมูล แล้วอย่างนี้จะเกิดการแข่งขันประมูล รัฐจะได้ประโยชน์อย่างไร อุตส่าห์ล้มทีโออาร์เดิมมาแล้ว จะเขียนใหม่ทั้งทีก็ให้เกิดการแข่งขันเต็มที่ ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนหน่อย คำถามจึงมีว่าทีโออาร์ใหม่เพื่อใครกันแน่ ช่วยหาคำตอบที...