ใจจดใจจ่อเฝ้ารอว่า หลังการประชุมครม.วันอังคารที่ 21 มิ.ย.2565 นี้ ปัญหาน้ำมันแพง ที่กำลังรัดคอคนทั้งบ้านทั้งเมืองแน่นขึ้นทุกวัน จากนี้ไปรัฐบาลจะบริหารจัดการอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องลดค่าการกลั่น ที่มีคนบอกว่าจะทำให้น้ำมันถูกลงได้ลิตรละ 3-4 บาท จนเถียงกันขรมนั้น จะทำได้หรือไม่ได้อย่างไร
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวหลังประชุมว่า ครม.เห็นชอบมาตรการเร่งด่วน ทั้งใหม่และขยายมาตรการเก่าที่จะจบเดือนมิ.ย.นี้ ไปอีก 3 เดือน อาทิ ตรึงราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวี 15.49 บาทต่อกิโลกรัม และกลุ่มแท็กซี่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม ราคาขายปลีกแอลพีจีที่ 408 บาทต่อถัง (15 กก.) และขยายส่วนลดให้แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการฯ และผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ 100 บาทต่อเดือน
ขยายการอุดหนุนราคาดีเซลคนละครึ่งส่วนที่เกินลิตรละ 35 บาท และคงค่าการตลาดดีเซล 1.40 บาทต่อลิตร และช่วยค่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 250 บาท/เดือน วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง 157,000 ส่วนการลดค่าการกลั่นนั้น ได้ขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมัน นำส่งกำไรจากค่าการกลั่นส่วนหนึ่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อลดภาระค่าน้ำมันดีเซลและเบนซินให้กับผู้ใช้น้ำมันเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ ก.ค. - ก.ย. 2565
สอดคล้องกับที่นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เผยก่อนการประชุมครม.ว่า อยู่ระหว่างหารือกลุ่มโรงกลั่น ถึงแนวทางการนำส่งเงินที่ขอแบ่งกำไรมาเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ใช้น้ำมันจากเหตุราคาพุ่งสูง คาดจะได้ข้อสรุปด้านกฎหมายและวงเงินใน 1-2 สัปดาห์นี้ เบื้องต้นคาดว่าไม่น้อยกว่า 21,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ปลัดกระทรวงพลังงานย้ำว่า แต่ทั้งนี้ต้องได้รับการยอมรับจากกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 แห่งด้วย เพราะแม้กระทรวงจะมีอำนาจลดค่าการกลั่นตามพ.ร.บ.กองทุนน้ำมัน แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะอาจถูกฟ้องทีหลัง เนื่องจากอาจไปกระทบผู้ถือหุ้นและขัดกฎหมายฉบับอื่น
ต้องยอมรับว่ากิจการปิโตรเลียมมีความซับซ้อน ทั้งทางเทคนิคการผลิต โครงสร้างการเงิน และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทันทีที่มีการทักท้วงเรื่องค่าการกลั่น ตามมาด้วยข่าวว่า 6 โรงกลั่นพร้อมใจแล้วหักเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จนดูเหมือนเป็นผลงานผู้รับผิดชอบ
แต่แล้วก็มีเสียงทักท้วงตามมาเป็นระลอก ทั้งการโต้แย้งเรื่องกำไรล้นเกินค่าการกลั่น หรือหลังสุดนักลงทุนในตลาดจ่อฟ้องผู้บริหารโรงกลั่น หากยอมหักเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯโดยไม่ผ่านความเห็นชอบที่ประชุมผู้ถือหุ้น ตลอดจนการถกเถียงเรื่องอำนาจการกำกับดูแลราคาน้ำมันในตลาดเป็นของกระทรวงพาณิชย์หรือกระทรวงพลังงาน จนสังคมสับสน
ร้อนแรงกว่าเรื่องน้ำมันแพง คือความสับสนของการบริหารจัดการปัญหาราคาน้ำมัน ที่ตอนนี้ยกระดับเป็นวิกฤตพลังงานแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ต้องจัดแถวสร้างเอกภาพการบริหารจัดการ สื่อสารสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน เพื่อฝ่าข้ามไปให้เสียหายน้อยที่สุด