พระปิดตา 2 : ปัญหาของภิกษุรูปงาม

09 ก.ค. 2565 | 05:09 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2565 | 12:13 น.

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

เมื่อครั้งพุทธกาล ที่เมืองอุชเชนี ยังมีบุตรพระมหาราชครูพราหมณ์ประจำราชสำนักผู้หนึ่ง สำเร็จวิชาไตรเพทแล้วรับราชการฝ่ายพราหมณ์สืบตระกูลบิดา นามว่า ‘กัจจายนะ’ เปนผู้มีรูปกายงามงดและผิวพรรณวรรณะสว่างใสสดอย่างทองทา ท่านผู้นี้ได้รับพระราชโองการจากพระเจ้าอุชเชนีให้ไปสืบข่าวพระพุทธองค์ ขอให้นิมนต์กราบทูลเชิญเสด็จยังเมืองอุชเชนี พราหมณ์หนุ่มกัจจายนะกราบบังคมทูลลาแล้วออกเดินทางไปหาเฝ้าพระพุทธองค์ ซึ่งต่อมามีพระมหากรุณาคุณประทานเอหิภิกขุอัปสัมปทา_บวชให้ ท่านก็ปฏิบัติสังฆกิจที่ถูกที่ควรจนกระทั่งสำเร็จอรหันตธรรม ก็พระพุทธองค์บรมศาสดามีพระมหากรุณาฯโปรดให้เปนผู้แทนพระองค์เสด็จไปโปรดพระเจ้ากรุงอุชเชนี
 

ทีนี้ล่ะก็จะเห็นว่าแม้นปลงผมเกศาบวชเปนพระภิกษุถือผ้าผืนเดียวแล้ว ความงามของท่านอดีตพราหมณ์กัจจายนะก็มิได้ลดระดับลงไป อาจพูดทั่วไปคร่าวๆก็คือว่า คงไม่ได้งามอย่างฆราวาสอีกแต่ทว่าคงจะงามอย่างพระ

อันความงามของพระกัจจายนะนี้เองได้สร้างปัญหาในเพศบรรชิตสองประการ
 

ประการแรก คือ กรณีของโสรยะหนุ่ม ลูกมหาเศรษฐีที่อินเดียยุคนั้น แกนั่งเสลี่ยงคานหามมาเห็นท่านกัจจายนะกำลังแต่งจีวรสะบัดห่มคลุมห่มดองรอการบิณฑบาตอยู่ ก็ตกที่นั่งนะจังงังพรึงเพริด แม้จะมีลูกสองแล้ว แต่ดวงจิตคิดปฏิพัทธ์ในความงามอันเปนของกลางทางธรรมชาติ มิได้เลือกเพศสภาพภาวะได้เอ่ยรำพึงขึ้นว่า ‘ ...เถระรูปนี้งามจริงหนอ_น่าจักได้เปนภริยาแห่งเรา’ 

 

ฉับพลันนั้นเอง โสรยะหนุ่ม เกิดกลับมีสภาพภาวะกลายเปนโสรยะสาว เครื่องเพศหดกลับเเปลงสภาพเปนอิสตรีมีมดลูกแลเต้าถัน ในวันนั้นรีบหนีแทรกลงจากเสลี่ยงเขาแบกมาไปตั้งต้นชีวิตใหม่ยังมหานครตักสิลา รับบทมารดามีลูกเพิ่มอีก สองคน!


 

ประการสอง คือ ในฐานะซึ่งพระมหากัจจายนะท่านเปนอสีติมหาสาวก ได้อยู่เฝ้าแหนใกล้ชิดพระพุทธองค์ในกิจต่างๆ ผู้คนมักสับสนเมื่อเห็น พระมหากัจจายนะ เดินมาแต่ระยะไกล ด้วยรูปโฉมโนมพรรณนั้น งามพิสุทธิ์ คล้ายพระมหาบุรุษสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไปทุกขณะ ผู้คนพากันรอต้อนรับด้วยกิริยานบนอบน้อมเศียรเกล้าด้วยเข้าใจผิดว่าเปนพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จ ต่อเมื่อถึงตัวเเล้วจึงทราบว่ามิใช่พระมหาบุรุษ แต่เปน พระมหากัจจายนะ ผู้มีความงามพิสุทธิ์ผู้นั้น
 

กิริยานี้ทำให้บังเกิดการอุทานและฉายาเรียกขานท่านว่า “ภควัมปติ” - ผู้เหมือนพระภควาไปใหญ่ และได้เรียกขานท่านด้วยนามกรนี้ต่อกันมา
 

พระมหากัจจายนะท่านเห็นดังนี้ก็มีความขัดข้องและไม่สบายใจในกาลกิริยาดังว่า ด้วยแลดูว่าถ้าปล่อยไปจะเปนการตีเสมอพระผู้มีพระภาคเจ้าส่วนหนึ่ง ทั้งด้วยว่าเปนการผู้คนเข้าใจผิดอีกส่วนหนึ่ง แลผู้คนมัวหลงยึดผิดในความงามแห่งสรีระวรรณะสังขารอีกส่วนหนึ่ง จึงเข้าเฝ้าขอรับพระบรมพุทธานุญาตแปลงเรือนร่างแลรูปโฉมโนมพรรณอันงามงดนั้นให้สูญไป เกิดเปนรูปกายใหม่ที่อ้วนฉุตุ๊ต๊ะ ทว่าเค้าหน้ายังคงความผ่องใสเจือไปด้วยยิ้มละไมเมตตา
 

พระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดประทานพระพุทธานุญาต และแต่นั้นมาทรงประกาศกิตติคุณว่าพระมหากัจจายนะเปนเอตทัคคะ (เปนเลิศ) ทางการสามารถแสดงธรรมหลักได้ละเอียดแยบคาย และได้รับการยกย่องว่าเปนผู้นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ เสมอด้วยพระสีวลีมหาเถระผู้นำมาซึ่งโชคลาภ
 

ท่านมีบทบาทในการใช้เหตุผลขอเเก้พระพุทธบัญญัติหลายประการในที่กันดารและขาดแคลนเช่นการขอพุทธานุญาตใส่รองเท้า/ อาบน้ำ/รับฝากไตรจีวร/อุปสมบทโดยองค์ห้ารูป
 

ในทางคติชนวิทยา นับถือว่า พระมหากัจจายนะนั้นเลิศด้วยฤทธิ์เสมอด้วยพระอุปคุตเบิกอุปสรรคและ พระสีวลีนำลาภ และนับว่าเปนหนึ่งในพระอรหันต์ 8 ทิศ ประจำทิศพายัพ ตะวันตกเฉียงเหนือ


 

ความสามารถในทางมีปัญญาแสดงความย่อให้พิศดารละเอียดแยบคายนั้น เคยมีครั้งหนึ่งที่อินทราธิราชตกที่นั่งหมดบุญต้องหลุดจากเก้าอี้ ไปจุติในภูมิมนุษย์ ตามหาพระผู้มีพระภาคเพื่อขอรับพุทธทำนาย (ดูดวง) ก็ให้เกิดว่าพระพุทธองค์ เสด็จออกปลีกวิเวก ไม่สามารถเข้าเฝ้าได้ นึกได้ถึงเอตทัคคะของพระมหากัจจายนะ จึงรีบมาประจบเข้าหา 
 

นมัสการพระ ภควัมปติ สังกัจจายนะแล้ว อินทราธิราชได้ประแจงเข้านวดแข้งนวดเข่าพระมหา
กัจจายนะ ท่านจึงได้เฉลยแนวทาง ให้อินทราธิราชผู้บุญหมด ไปใส่บาตรพระมหากัสสปะขณะออกนิโรธสมาบัติให้ได้ ด้วยอานิสงส์นั้นแรงมากสามารถต่ออายุพระอินทร์ผู้หมดบุญได้ดังนี้จึงเปนคติที่มาเวลาคนพุทธไปกราบไหว้ขอพรรูปพระสังกัจจายน์มันจะได้เข้าบีบแข้งนวดเข่าที่รูปท่านเพื่อเร้ารบ
 

ดังนี้แล้วจึงกลับมาถึงจุดเริ่มต้นในเรื่องนิโรธสมาบัติอีกครั้ง


การนิโรธสมาบัติ คืออะไร? 
 

อันว่า สัญญาเวทยิตนิโรธเปนกาลกิริยา หมายจะดับสัญญา ดับเวทนา ดับรูปสูญนาม ซึ่งพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจะประกอบกิจเข้านิโรธนี้ ดับอายตนะทั้งหมด ฝืนธรรมชาติสัญชาตญาณ ไม่กินไม่นอน ไม่ขับไม่ถ่าย ดำรงอยู่ในสุญญภาวะด้วยอัปปนาสมาธิ
 

ท่านเหล่านี้ปิดทวารทั้งหมด ตาหูจมูกลิ้นกายใจทวารออกเบาหนักระหว่างการเข้าสมาบัติ
 

กำลังแห่งรังสีนิโรธที่พลุ่งออกเคลือบคลุมท่านผู้ปฏิบัตินั้นแผ่ปกคลุมออกทั้งจักรวาฬ มีอานุภาพสถิตอยู่แม้ในก้อนกรวดพื้นดินที่นิโรธรังสีแผ่สัมผัสไปถึง
 

อนึ่งคำว่า “นิโรธรังสี” นี้ ปรากฏในราชทินนามสำคัญฝ่ายวิปัสสนาธุระในรัชกาลก่อน พระราชทานแต่หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ที่ พระครูนิโรธรังสี ซึ่งต่อมาพระราชทานเลื่อนเปนราชาคณะที่ พระนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์ (วิ.) และพระราชทานเลื่อนเปนชั้นราชที่ พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิสิษฏ์ สถิต ณ วัดหินหมากเป้ง ศรีเชียงใหม่ ก็เปนที่น่าสนใจใฝ่ศึกษาปฏิปทาแห่งท่าน
 

และธรรมเนียมการแห่ไปตักบาตรทำบุญแด่พระสงฆ์ผู้ซึ่งเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติโดยเฉพาะในภาคเหนือเราจึงเปนที่นิยมมากนักตามตำนานพระอินทราธิราชหมดบุญต้องต่อกุศลให้ไวให้มากดังที่เล่าไว้ข้างต้น


นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ปี ฉบับที่ 3,799 วันที่ 10 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2565