ช้าง งาเดียว

04 มิ.ย. 2565 | 08:22 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มิ.ย. 2565 | 15:26 น.

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

ช้างช้างช้าง..ต่อเนื่องมาจากฉบับที่แล้วที่ว่างาช้างนั้นคนโบราณเชื่อกันว่าถอนพิษได้_ตรวจพิษได้
 

คนเมืองเหนือล้านนาอยู่ในสภาวะภูมิประเทศเต็มไปด้วยไม้สักไม้ป่าสูงค่าและน่าทำเปนอุตสาหกรรมมาแต่โบราณกาลครั้งหนึ่งรัชกาลพระจอมเกล้าฯ เคยมีพระมหากรุณาแต่งเรือสำปั้นไปขายไม้ที่ลิเวอร์พูล ชื่อ เรือว่า “ทูลกระหม่อม” มีกัปตันเดนนิชขับเรือไป ชื่อกัปตันแอนเดอร์เส็น ได้กำไรกำทองเกินกว่า 100% ด้วยไม้แถบกำแพงเพชรนั้นมีคุณภาพดีเกินราคา   

ทีนี้จะมีอุปกรณ์อะไรล่ะ? 
 

ดีไปกว่าช้างในการทำกิจการป่าไม้ ช่วยคนคอยชัก คอยลาก คอยงัดต้นไม้ที่ตัดแล้ว เปน logistics ขั้นปฐมออกจากป่า 
 

ทางเมืองเหนือจึงมีเรื่องเล่าเรื่องงำเกี่ยวแก่ช้างมากมาย สมควรได้บันทึกไว้เปนความทรงจำที่แสนงดงาม ด้วยว่ายามนี้เมืองไทยปิดป่า ปิดมาตั้งแต่สมัยพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ เปนรัฐมนตรีเกษตรสั่งการนานมา งานชักงานลากไม้แลสรรพวิทยาฝ่ายช้างจึงกลายเปนช้าง entertain อยู่ในอุตสาหกรรมให้ความบันเทิงออกร้องเต้น ให้คนขี่นั่งมากกว่าการออกทำงานเปนช้างงานในดงป่าไม้แท้จริง

อันดับแรกใครๆก็ต้องว่าช้างปกติมันจะต้องมีงา งาช้างโดยทั่วไปฝรั่งเรียก tusk ถ้าว่ามันอยู่กับตัวช้าง แต่ถ้าเจาะหรือทำด้วยกรรมวิธีใดๆให้งาหลุดจากตัวช้าง กลายเปนกิ่งงา ไม่มีตัวช้างอยู่ มักนิยมเรียก Ivory แลเสมือนคำว่าไอโวรี่นี้มีศักดิ์สูงกว่าและมีความหมายแพงค่าแพงคำเจืออยู่ในตัวแห่งคำนั้น ใช้เรียกสีของข้าวของเช่นรถเบนซ์เยอรมันสี Hellelfenbein_light ivory รหัสสี 623 พ่นสีงาช้างก็สวยงามราบรื่นเจือสง่าอยู่ในทีเหมาะกันดีกับตัวความที่ว่าสี ‘งาช้าง’
 

ส่วนว่างาช้างนั้นถ้าสมบูรณ์ดีมันจะต้องมีสองข้าง ช้างตัวผู้ หรือที่ภาคกลางเรียกช้างพลายนั้น เวลามันสู้กัน ก็มิได้ใช้แต่งาแทงกันหรอกใช้งวงเข้าไปรัดแล้วบีบงาคู่ของฝ่ายตรงข้ามเข้าหากันก็มี บีบกันทีฝ่ายถูกบีบก็ร้องโอดโอย ยอมทรุดสิโรราบก็เห็นกันบ่อยไปที่ปางไม้ โดยมากช้างซ่าๆไปเจอช้างสุขุม มักจบเห่หายซ่าด้วยว่าถูกเขาเอางวงบีบงา!
 

ช้างพลาย เพศผู้นี้ ล้านนาเรียก ‘ปู้’ ตามสรรพสำเนียงสะกดอันไพเราะของปวงเขา มาถึงบรรทัดนี้ เสียงลำนำล้านนาแห่ง สุนทรี เวชชานนท์ & จรัลย์มโนเพ็ชร ตำนาน folksong คำเมืองก็แว่วมาในโสตประสาท
 

‘ไปเสาะซื้อช้าง ก็ได้ ปู้เอกงาขาว เอาไป..ลากไม้ ตี้เชียงแสน ก้อ เชียงดาว..’
ปู้_ก็คือ ช้างตัวผู้ 
 

เอก_นี่ไม่ใช่ชื่อช้าง แต่ล้านนาบ่งนิยามความหมายว่าเปนช้างมีงาข้างเดียว! 
 

ศิลปินสล่าเพลงเจือความสนุกขบขันไว้ในทำนองลำนำถ่อมตน ว่าไปอุตสาห์หาซื้อช้างก็ได้ช้างมาตัวหนึ่งงาข้างเดียว 55
 

ทีนี้ว่าการสูญเสียงาของช้างปู้ เปนไปได้อย่างไรกัน? 
 

อันดับแรกก็คือว่า สู้กันในหมู่ช้างงาหัก อันดับสองก็หงุดหงิด เอางาแทงต้นไม้เล่นบ้าง โดนควาญตกเหล็กปลอกขา (เหมือนตำรวจใส่กุญแจมือ) แล้วไปล่ามไว้ต้นไม้ แล้วจะเอาออกบ้างเลยเอางาแทงเหล็ก แตกหัก บ้างแทงเกิดพลาดงาไปทิ่มเข้าต้นไม้ใหญ่ พอถอนออกมาไม่ถูกจังหวะบิดพลิกไปเศษงาก็แตกฝังอยู่ในต้นไม้นั้น ตัวงาที่ยังติดตัวก็แตกบิ่น เชื้อโรคเข้าเขาก็ว่าแมงมันกิน เหมือนคนเราฟันผุนี่เเล
 

เวลาพรานไพรไปเดินป่าแล้วเจอเศษงาเหล่านี้ เรียกว่างากำจัดงากำจาย เขาจะรีบเก็บมาทีเดียวเชียว ว่ากันว่าช้างมุทะลุหงุดหงิดเอางาแทงไม้แทงหินเล่นลับจึงติดกระเด็นอยู่ที่นั่น เอามาทำเปนของล้ำค่าศิลปะเวทย์วิถี เรียกว่า หวีแหก มีดแหก ซึ่งจะเล่าต่อไปอีกทีหนึ่ง
 

อีทีนี้ช้างปู้ที่ว่ามีเหตุจะต้องเสียสูญไปซึ่งงาทั้งสองข้าง ล้านนาปางไม้เรียกพวกมันว่า ‘ช้างโล้น’


 

ส่วนช้างพลาย(เพศผู้) แต่ไม่มีงาแท่งโตโผล่มาแต่วัยรุ่น ชั่วแต่ว่าไปมีแต่งาเส้นจุ๋มจิ๋มเหมือนช้างพังเพศเมีย เวลาผ่านไปก็ไม่โตขยายสักที อีนี้เขาเรียก ‘ช้างสีดอ’ ส่วนงาจิ๋มๆนั้นท่านเรียก ขไนย (ตามสำเนียงเหนือ) ส่วนภาคกลางสะกดว่า_ขนาย
 

ผู้อยู่อาศัยในปางไม้ เคยสังเกตว่า ช้างสีดอเหล่านี้มีอยู่ไม่น้อยที่เปนชายไม่เต็มชาย ปู้ไม่เต็มปู้ ไม่ปฏิสัมพันธ์แก่ตัวเมียช้างพัง คอยแต่เฝ้าเเหนแห่ช้างปู้ ท่านว่า อีตัวที่เล่นบทข่มเหงรุกเร้า เรียก ‘สีดอนกเค้า’ ส่วนตัวที่เล่นบทคอยรับคอยรอง เรียก ‘สีดอแมว’ มีความสำส่อนอ่อนไหว บังคับยาก และมักเต็มไปด้วยความพิศวาสอาฆาตแค้นป้อเลี้ยงป่าไม้เคยเล่าให้ฟังว่า สีดอแมวตัวหนึ่งโกรธควาญและฆ่าควาญตาย เมื่อเขาเอาศพควาญฝัง มันก็ยังในเวลาดึกดื่นออกมาขุดศพควาญนั้นขึ้นมาฟัดมาแทงด้วยขไนยเล็กๆคู่นั้นของมันอย่างอาฆาตแค้น_บร้ะ
 

ทั้งนี้จะไปดูเบาเอาแต่งามาตัดสินชีวิตช้างก็กระไรอยู่ สำหรับนิสัยใจคอของช้าง ถ้าได้ใกล้ชิดมันนานๆก็อาจสังเกตออกได้ว่า ช้างดีใจมันจะใช้เสียงครืนครันในคอ เช่น ยามได้พบควาญเก่าแก่ที่จากกันไปนาน หรือได้กินอาหารที่ถูกใจหรือได้พักงานก่อนเวลา
 

ถ้าว่า โกรธ/ตกใจ จะใช้เสียงทางปลายงวง ซึ่งจะฟัดฟาดอยู่ไปมา
 

แต่ถ้าช้างส่งเสียงร้องออกมาจากปากโดยตรงแสดงให้เห็นถึงความเศร้าโศกเสียใจ ความคิดถึงเพื่อนพ้อง หรือความกลัวอย่างรุนแรง
 

สายตาก็เช่นกัน ช้างร้ายจะมีสายตาแข็งกร้าว ทอดต่ำไม่ล่อกแล่ก ช้างที่ดุร้ายผิดปกตินั้นท่านว่าธรรมชาติมักจะแต้มสีเล็บของมันให้ดำสนิทคล้ายกับจะเป็นการประกาศว่า เจ้าของเล็บสีดำสนิทนั้นไม่พึงเข้าใกล้ และอย่าได้ประมาท
 

ช้างมีญาณพิเศษหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสวงหาแหล่งน้ำในการเดินทางรอนแรมไปในป่า ให้ปล่อยช้างที่ใช้บรรทุกของออกให้เป็นอิสระ มันจะพาคนไปหาแหล่งน้ำทันที ช้างที่เดินทางไกล หรือทำงานหนักเหนื่อยมา จะต้องได้อาบน้ำกินน้ำเสียก่อน แล้วจึงจะลงมือหาอาหาร ช้างโขลงที่พากันวิ่งขึ้นไปหักโค่นต้นไม้ให้ล้มระเนนระนาดบนสันเขา มีญาณพิเศษบอกให้รู้ล่วงหน้าว่าอีกไม่ช้าจะมีลมพายุ และจะมีฟ้าคะนองอย่างหนักภัยร้ายที่มาจากช้างยังมีอีกประการหนึ่ง 


ซึ่งคนในวงล้านนาแต่เดิมมีคติความเชื่ออย่างหวั่นไหว เรียกกันว่า “พรายช้าง” คือพลังอำนาจที่แฝงเร้นอยู่ในตัวช้าง ซึ่งมักสถิตอยู่ในงา เวลาช้างล้มโดยเฉพาะช้างป่า จะเอางาต้องทำพิธี กก ปัด ตัด แก้ ไล่พรายเสียก่อน จะเอางาเข้าเรือนชานต้องหันเอาโคนเข้า ไม่เอาปลาย ไม่งั้นก็อยู่เรือนแล้วร้อนไหม้ ที่ดินตรงไหนฝังศพช้างไว้ ใครเข้าไปอยู่ก็เปนขึดเปนอัปมงคล งาช้างไหนมีกลิ่นเหม็นเน่า ก็ไม่เอาไม่ใช้ ผู้ใดต้องพรายช้างเข้าแล้วร่างกายผ่ายผอมเปนด่างดวง ทำไรก็โงนเงนทำไม่ขึ้น
 

อันนี้ตรองดูแล้วน่าจะตรงกับคำเรียกฝ่ายละปูนว่า “ภัยช้าง” หมายถึงว่ามันมีโรคมีภัยที่ติดต่อสู่คนได้โดยมีช้างเปนพาหะ ในอดีตนั้นช้างเปนเครื่องยุทโธปกรณ์สำหรับพ่อเลี้ยงปางไม้เอาออกใช้หากิน ยามเมื่อช้างป่วย พ่อเลี้ยงเจ้าของแลประดาขมุควาญย่อมหวังใจจะให้เจ็บป่วยนั้นหาย ยิ่งช้างที่รักกันมา ช่วยทำงานหาเงินอย่างมีคุณ ก็ยิ่งห่วงหากันมาก ตามหามดหาหมอมารักษาดูแลทว่าแต่ก่อนวิทยาการยังไม่กล้า ตามหาหมอก็ห่างไกลแสนลำบาก มีได้เต็มที่ก็อย่างฝรั่งว่า คือ หมอเท้าเปล่า_barefoot doctor 


กว่าจะรู้ว่าช้างที่รักแห่งตัวนั้นติดโรคแอนแทร็กซ์ ตัวเองที่ไปคลุกคลีก็เกิดตุ่มหนองขอบนูน ขอบดำเหมือนโดนสะเก็ดไฟถ่านหิน (แอนแทรกซ์แปลว่าถ่านหิน) เจ็บอก เท้าบวมแสบร้อนไอเปนเลือด แล้วก็ตายตาม “ภัย” แห่งช้างนั้นไป ส่วนศพช้างมันใหญ่จะขุดหลุมฝังก็เหนื่อยแรง ได้หลุมแค่ตื้นๆ เอาทิ้งไว้เชื้อโรคก็ไม่ไปไหนลามลงคลุกอยู่ในดินแถวนั้น ไปสร้างบ้านอยู่ตรงนั้นก็ต้องระวัง “ภัย” จากแอนแทรกซ์ ดังนี้
 

ทีนี้ก็จะกลับมาที่งากำจัดและงากำจาย อันว่างาที่ติดฝังอยู่กับซอกไม้ซอกหิน เรียกงากำจาย เอามาเเต่งให้เปนทรงอย่างหวีหรือไม่ก็มีด แกะจารลวดลายยันต์มงคลคาถาต่างๆ ใช้ขูดขีดแทงอะไรไม่เปนมงคลในการดำเนินชีวิตได้ทุกประการเรียกว่าเปนงากำจัด คือกำจัดภัยร้ายรุกล้ำต่างๆ ส่วนตัวมีดที่เอางามาแต่งเปนรูปนั้น เรียก ‘มีดแหก’ คงเอาไว้แหกพวกภัยพาลดังว่า ไม่ทำจากงากำจัดก็มีทำจากวัสดุอาถรรพณ์ธรรมชาติอย่างอื่น เช่น เขาควายเผือกฟ้าผ่าตาย มูลค่าในตลาดต่างประเทศคนที่ชอบ ‘เล่น’ ของศิลปหัตถกรรมชาติพันธุ์นิยมให้ราคากันนัก
 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ฉบับที่ 3,789 วันที่ 5 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565