*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3800 ระหว่างวันที่ 14-16 ก.ค.2565 โดย “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย
*** “ข่าวร้าย” ซ้ำเติมวิกฤติคนไทยทั้งประเทศ ยังคงมีออกมาอยู่เป็นระยะ ๆ นอกจาก “น้ำมันแพง” จนส่งผลกระทบราคาสินค้า ข้าวข้องแพง กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนแล้ว ล่าสุด “ค่าไฟสุดโหด” ก็จะมากระหน่ำซ้ำเติมประชาชนเข้าไปอีก เพราะล่าสุดมีข่าวแพรมๆ ออกมาแล้ว่า “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน” หรือ กกพ. อยู่ระหว่างพิจารณาปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที (FT) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 โดยมีแนวโน้มพุ่งสูงถึง 90-100 สตางค์ต่อหน่วย และจากแนวโน้มดังกล่าวอาจทำให้ค่าไฟฟ้าต้องปรับเพิ่มสูงขึ้นถึงเกือบ 5 บาทต่อหน่วย ในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ จากปัจจุบันค่าไฟอยู่ที่ประมาณ 4 บาทต่อหน่วย โดยอ้างเหตุผลจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี (LNG) นำเข้าเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติต้นทุนต่ำในอ่าวไทยยังมีแนวโน้มราคาสูงต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ค.2565 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งปลายสัปดาห์นี้ กกพ.จะประชุมทบทวนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อประกาศ “ค่าเอฟที” โดยราคาแอลเอ็นจีนำเข้าตอนนี้พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน พุ่งสูงแตะระดับกว่า 30 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูจากเดิมอยู่ที่กว่า 20 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เป็นปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุม
*** ว่ากันว่า ในการประกาศค่าเอฟทีตั้งแต่ต้นปี 2565 กกพ.ได้ทยอยปรับเพิ่มค่าเอฟที โดยขอให้ กฟผ.แบกรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงแทนประชาชนเป็นมูลค่าประมาณ 80,000 ล้านบาท และ ครม.ได้มีมติให้ กฟผ.กู้เงินมาเพื่อเสริมสภาพคล่องจำนวน 25,000 ล้านบาท ในช่วงที่มีการแบกรับภาระต้นทุนเชื้อเพลิง เดิมเคยคาดการณ์ว่าสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติ อาจปรับตัวดีขึ้นได้บ้างจากแนวโน้มราคาก๊าซที่ลดลงมาได้บ้างในไตรมาสนี้ แต่ขณะนี้ก็ได้เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และน่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงฤดูหนาวปลายปีจนถึงต้นปีหน้า หากให้ กฟผ.แบกรับภาระต้นทุนต่อโดยไม่มีการทยอยคืนให้ผ่านการปรับเพิ่ม “ค่าเอฟที” ก็อาจทำให้ กฟผ. ติดลบสูงถึง 100,000 ล้านบาทภายในปี 2565 แถมยังคาดว่าไทยจะต้องเผชิญกับภาวะ “ค่าไฟแพง” ต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีนี้ และต่อเนื่องตลอดปี 2566 ด้วย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบกระทบต่อค่าเอฟทีในงวดใหม่คือ ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจริงในงวดก่อนหน้า(พ.ค.-ส.ค.65) สูงกว่าประมาณการ จึงต้องนำมาคำนวณรวมกับ “ค่าเอฟที งวดใหม่ รวมถึงภาระต้นทุนจากค่าเงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เทียบกับประมาณการค่าเฉลี่ยเดือน พ.ค.2565 อยู่ที่ 34.40 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ขณะที่ปัจจุบันเฉลี่ย 36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
*** ลองไปฟังความเห็นของคนที่เข้าใจ “หัวอกชาวบ้าน” อย่าง “หญิงหน่อย-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานพรรคไทยสร้างไทย ที่ออกมาสะท้อนหลังมีกระแสข่าวจะมีการขึ้นค่าไปจากหน่วยละ 4 บาท พรวดเป็น 5 บาท ซึ่งเห็นว่า กรณีดังกล่าวจะกระทบกับ “ค่าครองชีพประชาชน”แน่นอน เพราะที่ผ่านมาต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รายได้ของประชาชนลดลง เป็นผลต่อเนื่องซ้ำเติมหนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2564 พุ่งขึ้นมาเป็น 14.58 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 90.1 ต่อจีดีพีสะท้อนให้เห็นถึง ปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายในการดำรงชีพ จึงทำให้ประชาชนต้องกู้หนี้ยืมสินเพิ่มขึ้น เพื่อประคองให้อยู่รอดในช่วงวิกฤติ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วกำลังซื้อของคนไทยจะหดหายอย่างแน่นอน เพราะจะต้องนำรายได้ส่วนใหญ่มาใช้หนี้ ซึ่งจะไปกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต
*** “คุณหญิงสุดารัตน์” ได้เสนอแนวทางการช่วยเหลือ “ค่าไฟฟ้า” แก่ประชาชนจากทางรัฐบาลว่า แม้รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือค่าไฟให้แก่ผู้มีรายได้น้อย แต่การได้สิทธิมานั้นมีความยุ่งยากซ้ำซ้อน เพราะต้องลงทะเบียนในการได้รับสิทธิช่วยเหลือค่าไฟ มีประชาชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงได้ “พรรคไทยสร้างไทย” เห็นว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องให้มีการลงทะเบียนเพื่อช่วยเหลือค่าไฟให้ยุ่งยาก เพิ่มความลำบากให้แก่ประชาชน การช่วยเหลือประชาชนต้องทำให้ง่ายในการเข้าถึง จึงเสนอว่า หากครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 1,000 บาท รัฐบาลจะอุดหนุน 500 บาท หากครัวเรือนที่ใช้ค่าไฟเกิน 1,000 บาท ก็ให้คิดค่าไฟตามปกติ สำหรับผู้ที่ได้รับ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ที่ใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วย ก็สามารถใช้ไฟฟรีได้ตามปกติ เพื่อให้เกิดความช่วยเหลือที่ครอบคลุมและตรงจุดต่อไป
*** ส่วนมาตรการช่วยเหลือค่าไฟแก่ผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล ที่ช่วยเหลือครัวเรือนไม่เกิน 315 บาทต่อเดือน และหากเกินจาก 315 บาทต่อเดือน ครัวเรือนนั้นต้องจ่ายค่าไฟตามปกติ “คุณหญิงสุดารัตน์” เห็นว่า เป็นการช่วยเหลือที่ไม่เพียงพอ และไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในปัจจุบัน ที่ต้องใช้ไฟฟ้ามากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ทำให้ประชาขนทำงานอยู่บ้านเพิ่มขึ้น และนักเรียนต้อง “เรียนออนไลน์” ที่บ้าน เมื่อมีการกลับมาระบาดของโควิด-19 ในโรงเรียนอีก ทำให้ต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
*** ”โควิด 19 – สงครามรัสเซียยูเครน – น้ำมันแพง - ของแพงทั้งแผ่นดิน-ค่าไฟมหาโหด-ค่าครองชีพพุ่ง” ในขณะที่ “รายได้” ของประชาชนเท่าเดิม ค่าเงินก็ยวบลงไป บางคนหาเช้ากินค่ำแทบจะไม่พอประทังชีวิต นี่คือ “ชะตากรรมคนไทย” ที่ต้องเผชิญอยู่ในเวลานี้ “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” จะคิดหาหนทางอะไรมาช่วยแบ่งเบาภาระความเดือดร้อนประชาชนที่เพิ่มขึ้นได้อีกบ้างมั้ยหนอ?...
*** หันไปดูการบริหารงานของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มาจากการเลือกตั้งของคนกรุง และมักจะเข้าใจ “หัวอกคนกรุง” ดี จึงได้มีนโยบายที่จะให้เลื่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขนสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย(ขยะ) อัตราใหม่ จาก 20 บาท เป็น 80 บาท ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.2565 ออกไปอีก 1 ปี เนื่องจากเกรงว่าจะไปซ้ำเติมประชาชนด้วยภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ โดยไอเดียนี้ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” บอกว่า จะเสนอในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) วันที่ 29 ส.ค.นี้ เพื่อขอความเห็นชอบที่ประชุม
*** “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” บอกว่า ในปัจจุบัน กทม. ได้ใช้งบประมาณในการจัดการขยะกว่า 8,000 ล้านบาทต่อปี แต่สามารถจัดเก็บค่าขยะได้เพียง 500 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น จึงควรลดต้นทุนในการจัดการขยะมากกว่าการไปเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียม โดยการรณรงค์แยกขยะ ด้วยแนวคิด “ขยะเป็นทองคำ” โดยการเพิ่มแรงจูงใจ ในการแยกขยะ ซึ่งสามารถนำไป “รีไซเคิล” และใช้ประโยชน์หรือนำไปขายได้ และหาทางให้ประชาชนนำขยะออกมาขายได้มากขึ้น จากปัจจุบันภาคเอกชนสามารถนำขยะมาขายได้มากกว่าประชาชนตามบ้านเรือนต่าง ๆ ดังนั้น ถ้าทำขยะให้เป็นทองคำได้ ก็จะช่วยลดค่าจัดการขยะ แต่เรื่องนี้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเรื่องข้อบัญญัติการจัดเก็บขยะอีกครั้งหนึ่ง ... ค่าจัดเก็บขยะบ้านเรือน จากปัจจุบันเก็บอยู่ที่เดือนละ 20 บาท จะพุ่งพรวดเป็น 80 บาท เพิ่มขึ้นถึง 300% ก็ “มหาโหด” อยู่ทีเดียว ถูกต้องแล้วที่ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” คิดจะหาหนทางช่วยเหลือบรรเทาภาระความเดือดร้อนประชาชนด้วยการ “เลื่อน” หรือ ลดอัตราค่าจัดเก็บลงมา ไม่ให้โหดร้ายกับประชาชนเกินไป...