นิรนาม (Anonymous) ผู้หนึ่งท่านแนะนำว่า การจะขอใครแต่งงานให้ประสบความสำเร็จจะต้องบอกเธอในเวลาอันเหมาะสมด้วย “ถ้อยคำสี่คำ” สำแดงเจตนา สำคัญที่สุด ให้เธอทึ่งว่า เราเข้าใจเธอ เราตั้งใจจริง เรารู้หน้าที่ ถ้อยคำสี่คำ คือ “ฉันจะล้างจาน!” ถ้าเธอทำเฉย ให้ยืนยันว่า จะเช็ดให้แห้ง (ฮา) เกริ่นไว้แค่นั้นพอ
สมมุติว่าถ้าประจวบเหมาะมีแฟนเป็น หัวหน้าฝ่าย HR กรุณาอย่ารีบให้สัญญารัวๆ เยอะนัก มันจะกระตุ้นให้เธอนึกถึงคนที่มาสอบสัมภาษณ์มักจะรับปากรัวๆ คล้ายนักหาเสียง ใจถึงพึ่งได้! ไม่มีปัญหา! ชอบงานอาสา! จะมาแต่เช้า! ถึงคราวเอาเข้าจริงทิ้งกันเฉยเลย อย่างไรก็ตาม ตุนวลีสี่คำเก็บไว้ในใจ เกิดเหตุคับขันค่อยจัดสรรวาทะ เช่น ถ้าเราแจมกัน “ว่าไงว่างั้น” หรือ “ทุกวันนวดให้” หรือ “ฉันไม่เถียงเธอ” (ฮา)
ผู้มี “สามัญสำนึก” (Commonsense) จะจิตนาการเห็นภาพล่วงหน้าว่าเรื่องนั้นตัวเองควรจะอยู่เฉยๆ หรือ เข้าไปมีส่วนร่วม สมควร หรือ ไม่เหมาะ เลือกวิธีปฏิบัติถี่ถ้วนว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่ ขอใช้ภาษาชาวบ้านเล่าว่า “สามัญสำนึก” (Commonsense) ลูกอีช่างคิด สายเลือดเดียวกับ “เชาว์” (Rapid) ลูกอีช่างคิด ความคิดที่จะตัดสินใจเลือก รุก หรือ รับ ฉับไว รู้จักใช้กลเม็ดเด็ดพราย เป็นความเคลื่อนไหวของ เชาว์ เข้ามาร่วมหัวจมท้ายตามสัญชาตญาณโดยอัตโนมัติ
เศรษฐินีท่านหนึ่ง ท่านท้าวความถึง สหายนะ X ให้ผมฟังว่า “พี่เชิญให้เขามาเป็นที่ปรึกษาเพราะเราไม่ได้ฉลาดไปซะทุกเรื่อง ก่อนจะประชุมกรรมการบริหาร พี่ถามแง่คิดบางอย่าง เขาก็อธิบายให้พี่ฟังว่าอะไรคืออะไร หลังจากนั้นก็เข้าร่วมประชุมด้วยกัน พี่ก็บอกกล่าวเล่าความเห็นการยกระดับยอดขาย พี่ก็เอาข้อชี้แนะนั้นมาเล่าประกอบ หลังจากที่พี่พูดจบ (แต๊น! แต๊นๆๆ แต้น แตน….แต่น แตน แต้น!) ที่ปรึกษาเขาพูดแทรกต่อท้ายทันทีว่า ที่ท่านประธานเล่าถึงกลเม็ดการยกระดับยอดขายผมเป็นคนออกแบบเสนอท่านเมื่อสักครู่นี้เอง! ทุกคนหันมามองหน้าพี่ด้วยความเห็นใจ พี่นี่หน้าชาเลยนะ…”
ท่านผู้อ่านคงจำโฆษณาปุ๋ยยี่ห้อหนึ่งได้ มะนาวต่างดุ๊ด ขับจานบินผ่านมาดูต้นข้าวในท้องนาว่างอกงามดีแท้ พอดีตะแกร่อนมาจอดกลางนาใกล้กับควาย “มะนาวต่างดุ๊ด” นึกว่าควายคือ มนุษย์ จึงถามมะนุดควายว่า “ข้าวงอกงามดีจริง ใช้ปุ๋ยยี่ห้ออะไรเหรอ มะนุด” ครอบครัวเซียนจุกเป็นหมอชาวบ้านรับจ้างฝังเข็มท่านเล่าให้ผมฟังว่า
โฆษณานี้มีอิทธิพลขำฝังใจเข้าในต่อมฮาของคุณลูกวัยห้าขวบ เขาดีดตัวตื่นขึ้นมารีบอาบน้ำแต่งตัวเพื่อจะไปเรียนชั้นอนุบาล ด้วยความลนลานก็หาถุงเท้าไม่เจอ คุณลูกจึงหันไปพูดเล่นมุกโฆษณากับคุณแม่ความว่า “เอาถุงเท้ามาให้หน่อยสิ มะนุด!” (ฮา) คุณแม่ เป็น “มะนัยคนละวุด” จึงคว้าไม้เรียวมาหวดเพื่อเตือนใจ “มะนาวต่างดุ๊ด” ในชุดอนุบาลไปสองที งานนี้ “มะนาวต่างดุ๊ด” หนีขึ้นจานบินไม่ทัน (ฮา)
เหลียวไปดูอีกกรณนีหนึ่ง คุณแม่เล่าวีรกรรมด้านวาทกรรมของคุณลูกให้ผมฟังว่า วันก่อนคุยแนะนำกับคุณลูกว่า “ทำดีไม่ต้องเดี๋ยว จำไว้นะลูก” คุณลูกเป็นผู้มี เชาว์ แต่ เซนส์ ยังไม่ลึกกว้างไกลจึงคึกคะนองพูดโต้วาทีฉับพลันสวนควันปืนต่อหน้าเพื่อนของคุณแม่ว่า “อ้าว แม่เคยบอกหนูไม่ใช่เหรอว่า เดี๋ยวก็ดีเอง!” กรณีนี้ น้องเชาว์ ลืมเฉลียวจึงออกหมัดโดยไม่ถาม พี่เซนส์ สักคำ ว่าพูดย้อนคู่เจรจามันเสียมารยาทหรือเปล่า
หวนกลับไปส่อง สหายนะ X อีกรอบ ฟังว่าวันหนึ่งท่านได้เข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อจะเสนอโครงการกิจกรรมนำร่องสังคมอะไรอย่างหนึ่ง ซึ่งผมต้องขออุบไว้ ในระหว่างที่กำลังคุยกันต่อหน้าผู้ใหญ่ซึ่งเป็นประธานบริหาร นั่งพร้อมหน้าร่วมกับคณะกรรมการบริหาร ความคิดเห็นที่นำมาเสนอมีแง่มุมที่ปีนเกลียวกัน จู่ๆ สหายนะ X ก็พูดโพล่งออกมาว่า “ผมเอาโครงการมาเสนอด้วยความรักใคร่ห่วงใยหน่วยงานนี้ ไม่ทราบว่าทุกท่านที่มานั่งประชุมร่วมกัน รักหน่วยงานนี้เหมือนกับที่ผมรักหรือเปล่า?” จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็เริ่มเข้าข่ายปากไม่มีหูรูดโดยสุจริต (ฮา)
ผมเคยเล่าเรื่องเตือนใจให้ผู้เข้าอบรมอยู่บ่อยครั้งว่า “ก่อนจะพูดจะทำอะไรให้นึกถึงผลกระทบที่ทำให้ผู้อื่นเสียหน้าเอาไว้ก่อนเป็นสำคัญ วันใดเห็นวิทยากรยืนพูดโดยไม่ได้รูดซิปกางเกง โปรดกรุณาอย่าปากไวพูดเสียงแหลมผู้ฟังหันมาแจมเต็มตากันทั้งห้องว่า อาจารย์ลืมรูดซิปกางเกง!” ผู้ฟังท่านก็ถามว่า “แล้วอาจารย์จะให้ทำไงล่ะครับ…?”
ผมออกแบบความคิดให้ทันทีในวันนั้นว่า “เราก็เขียนบรรจงตัวใหญ่ๆ ลงในช็อตโน้ตให้อ่านง่ายเข้าใจฉับพลัน ถ้าผมเป็นคนเขียนก็จะใช้สำนวนตามแบบฉบับของผมว่า โปรดอ่านโดยด่วนที่สุด ผมขอให้อาจารย์แอ็คชั่นตีหน้าตายยิ้มไว้ก่อน อ่านจบแล้วตั้งคำถามให้พวกเราประชุมกลุ่มเลยครับ กราบเท้าแจ้งให้ทราบว่า ซิบกางเกงคงจะมีเหตุขัดข้องทางเทคนิค จึงเรียนเพื่อทราบด้วยใจเคารพ!”
บางคนเห็นแล้วและคงจะคิดทำนองเดียวกับที่ผมบอก เพียงแต่เขียนช็อตโน้ตแบบไม่แปลเนื้อความว่า “จานคะ หนูว่าจานลืมรูดซิปกางเกงอีกแล้วนะคะ!” (ฮา) วิทยากรอ่านแล้วเสียขวัญ เพราะว่า อีกแล้ว ที่ต่อท้ายมันหมายถึงผู้เขียนต้องเคยเห็นเราลืมปิดประตูโรงรถหลายครั้ง แล้วรอบนั้นไปเห็นในงานไหน (ฮา)
เรื่องท้ายสุด ใช้ทั้ง “สามัญสำนึก” และ “เชาว์” อีก 4 กรณี ที่เล่าไว้ ไม่ได้ใช้หลักคิดนี้เลย!