คุมเซมิคอนดักเตอร์ได้ ครองโลก (1)

19 ส.ค. 2565 | 04:20 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2565 | 11:28 น.

คุมเซมิคอนดักเตอร์ได้ ครองโลก (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สินค้าจำนวนมากถูกหยิบยกว่าเป็น “กุญแจ” สำคัญในการครองโลกยุคใหม่ ไล่ตั้งแต่อาวุธ ทองคำ น้ำมันดิบ ข้อมูลข่าวสาร และวัคซีนและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อย่างไรก็ดี ในขณะที่สินค้าในชีวิตประจำวัน ล้วนกลายเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้คนเริ่มมาสนใจในชิ้นส่วนอุปกรณ์หลักอย่าง “เซมิคอนดักเตอร์” กันมากขึ้น

 

ยิ่งพอมีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เซมิคอนดักเตอร์เป็นเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการเดินทางเยือนไต้หวันของ แนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ก็ทำให้อุตสาหกรรมนี้ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น

วันนี้ผมจะชวนไปรู้จักอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ไปส่องกันว่าอุตสาหกรรมนี้มีหน้าตาเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี และตลาดเซมิคอนดักเตอร์โลก และการเป็นผู้นำในสินค้าเชิงยุทธศาสตร์นี้จะทำให้สามารถครองโลกได้จริงหรือไม่ ไทยเราจะสามารถขอแบ่งเค้กก้อนใหญ่นี้มาได้บ้างไหม อย่างไร ...

 

เซมิคอนดักเตอร์ถือเป็น “สมอง” ของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ ซึ่งมีความสำคัญต่อนวัตกรรมของสินค้าและบริการ การจ้างแรงงานคุณภาพทั้งทางตรงและทางอ้อม ขีดความสามารถในการแข่งขัน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ

โดยธรรมชาติแล้ว เซมิคอนดักเตอร์เป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับสูง ที่มีโครงสร้างที่สลับซับซ้อน เกี่ยวข้องกับการแปรรูปแร่หายาก (Rare Earth) การวิจัยและพัฒนา การออกแบบและคิดค้นนวัตกรรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และการตลาดอุตสาหกรรม รวมทั้งโลจิสติกส์และบริการหลังการขายเฉพาะทาง 


อุตสาหกรรมนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา ความชำนาญเฉพาะด้าน และเม็ดเงินลงทุนมหาศาล รวมทั้งเงินอุดหนุนด้านการวิจัยและการตั้งโรงงานผลิต เพื่อนำไปสู่นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีทั้งระบบนิเวศ 


เซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นกลไกขับเคลื่อนความล้ำสมัยที่แทรกซึมเข้าไปในสินค้าและบริการเชิงประยุกต์ที่หลากหลาย ไล่ตั้งแต่อุปกรณ์การทำอาหาร อาทิ เครื่องทำกาแฟ หม้อต้มน้ำอัตโนมัติ และ ไมโครเวฟ การสื่อสาร ระบบการประมวลผล การรักษาพยาบาล การขนส่ง และพลังงานสะอาด รวมทั้งระบบการทหาร และด้านอื่นๆ อีกมาก 


จึงไม่น่าแปลกใจว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราเห็นการขยายตัวของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ในอัตราที่สูงกว่าของการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมในแต่ละปี หรืออาจกล่าวได้ว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว แต่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ก็ยังคงจะขยายตัวดีอยู่ สภาพการณ์เช่นนี้คาดว่าจะดำรงอยู่ต่อไปในอนาคต


โดยที่นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้น ทำให้การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัย “ก้าวกระโดด” ได้ในอัตราเร่งในช่วงหลายปีหลัง และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อหน่วยที่ลดลงอย่างรวดเร็ว 


นักวิทยาศาสตร์เคยเปรียบเปรยไว้ว่า ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน เราสามารถบรรจุทรานซิสเตอร์หลายหมื่นตัวไว้ในแผ่นซิลิคอนขนาดเท่าเหรียญบาทเท่านั้น แถมยังมีต้นทุนที่ลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว 


 ขณะเดียวกัน ความสามารถในการประมวลผลของสมาร์ตโฟนในปัจจุบันย่อมมีประสิทธิภาพดีกว่าระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในยานอวกาศ “อพอลโล 11” (Apollo 11) ที่เดินทางไปดวงจันทร์เมื่อราว 50 ปีก่อนเสียอีก


 แม้กระทั่งในช่วงที่ผู้คนบนโลกใบนี้ ต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ตลอดช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ความล้ำสมัยของเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์สามารถมีวิถีชีวิตที่ดี และสะดวกสบายได้ในหลายด้าน


การเรียนและทำงานจากที่บ้าน การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ การพัฒนายาและวัคซีนโควิดที่มีประสิทธิภาพ และการรักษาพยาบาลทางไกล รวมถึงการติดต่อสื่อสารกับญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง ที่อยู่กันคนละซีกโลกโดยได้ยินเสียงและเห็นหน้าตาอย่างชัดเจน แถมยังเสียค่าใช้จ่ายแทบเป็นศูนย์ อาจเป็นตัวอย่างใกล้ตัวของเรา


 นอกจากนี้ นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและคุณประโยชน์เชิงหน้าที่ นับเป็นหัวใจสำคัญที่สร้างความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มี “จุดเด่น” ดังกล่าว นับเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เฉกเช่นเดียวกับสินค้าไฮเทคอื่น

 

ขณะเดียวกัน ด้วยการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ก็กดดันให้สถานะความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม อาจเปลี่ยนแปลงไปในชั่วกระพริบตา ซึ่งเท่ากับว่า การคาดการณ์ภาพรวมของอุตสาหกรรมนี้ในระยะยาวเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เพราะผู้ตามในวันนี้อาจก้าวขึ้นเป็นผู้นำในปีหน้าได้


 มีคนถามผมอยู่บ่อยๆ ว่า ในเวทีระดับมหภาคระหว่างประเทศ ชาติหรือ เศรษฐกิจใด เป็นผู้นำในเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ในปัจจุบัน ผมยังคงยกตำแหน่งแชมป์โลกในวงการนี้ให้สหรัฐฯ 


สหรัฐฯ ถือเป็นประเทศแรกที่คิดค้นเซมิคอนดักเตอร์ และยังคงมีบทบาทนำในด้านการวิจัย การออกแบบ และการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าที่มีคุณภาพสูง 


โดยในอดีต เกือบครึ่งหนึ่งของโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรือที่นิยมเรียกกันว่า “แฟ็บ” (Fab) ของโลกตั้งอยู่ในสหรัฐฯ และในจำนวนนี้ ราว 80% ของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯ ผลิตเพื่อการส่งออก 


เซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของสหรัฐฯ เฉกเช่นเดียวกับ น้ำมันดิบและสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ และ เครื่องบินพาณิชย์ น้ำมันดิบ ประการสำคัญ สหรัฐฯ ได้ดุลการค้าในตลาดสินค้านี้มาอย่างต่อเนื่อง


ขณะเดียวกัน ยุโรปซึ่งเคยมีบทบาทในเวทีโลก ก็ขาด “จุดแข็ง” และเสื่อมถอยลงโดยลำดับ ขณะที่สหรัฐฯ ก็หันไปจับมือกับพันธมิตรอื่น และร่วมมือกันจัดตั้งเป็น “จตุรเทพวงการชิป” (Chip 4  Alliance) อันได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ ไต้หวัน ที่มีบทบาททั้งในด้านการวิจัย การผลิต และการตลาดเซมิคอนดักเตอร์โลกเอาไว้ในมือตลอดหลายปีที่ผ่านมา 


ด้วยความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิต ทำให้แฟ็บในสหรัฐฯ ย้ายฐานไปอยู่กับเครือข่ายพันธมิตรในภูมิภาคเอเซียตะวันออกกันมากขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนการครองตลาดของสหรัฐฯ ดังกล่าวมีแนวโน้มลดลงในระยะหลัง 


ขณะเดียวกัน โดยอาศัยพื้นฐานความเป็น “โรงงานของโลก” และความพยายามต้องการพัฒนาสู่ฐานอุตสาหกรรมยุคใหม่ จีนจึงพัฒนาและขยายฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์อย่าง “ก้าวกระโดด” และส่อเค้าว่าจะขึ้นมาทวงตำแหน่งแชมป์โลกในสิ้นทศวรรษนี้


แล้วถ้ามองลึกลงไปในระดับจุลภาคล่ะ ใครเป็นผู้เล่นเบอร์ใหญ่ของโลกกันบ้าง เราไปคุยกันต่อในคราวหน้าครับ ...

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาด และอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,810 วันที่ 18 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2565