ในงานสัมมนา EEC NEW CHAPTER NEW ECONOMY อีอีซีเดินหน้า ... สร้างบทใหม่เศรษฐกิจไทย ช่วงเสวนา “ก้าวต่อไปอีอีซี”จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ
ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธาน และเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน กล่าวว่า หากมองอีอีซี (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) ในสายตาของผู้ประกอบการโลก ตนคิดว่าภาพยังไม่ชัดเจน อาจจะเป็นเพราะโควิด หรืออาจเป็นเพราะวิกฤติในหลาย ๆ วิกฤติที่ทับซ้อนกันมา แต่ส่วนสำคัญคือ ต้องเดินหน้าต่อ และทำอย่างต่อเนื่อง เช่น ประเทศจีนที่เดินทางไกลมาถึงทุกวันนนี้ ต้องเริ่มที่ก้าวแรก ในส่วนอีอีซีของไทย มองว่าวันนี้ได้ผ่านก้าวแรกไปแล้ว แต่ยังมีอีกหลายก้าวที่ต้องเดิน
โดยขอนำตัวอย่างจีนว่าได้ทำอะไรบ้างในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจของจีนในหลากหลายมิติ ซึ่งไม่ขอเปรียบเทียบกับไทยว่ามี หรือไม่มีอย่างไร แต่จะฉายภาพให้คิดต่อเองได้ ทั้งนี้สิ่งที่จีนมี หากไทยสามารถเรียนลัดและนำมาใช้ประโยชน์ได้ก็อาจจะทำให้อีอีซีก้าวกระโดดอีกระดับหนึ่ง
สำหรับสิ่งแรกที่จีนมี และโดดเด่นมากในสายตาของชาวโลก คือ ความต่อเนื่องในมิติเชิงนโยบาย โดยผู้นำจีนมีการส่งไม้ต่อรุ่นต่อรุ่น จากยุคสมัย “เติ้ง เสี่ยวผิง” เริ่มเปิดประเทศจีนเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว ได้มองเห็นและพูดถึงวิทยาศาสตร์ ฟรีเทรดโซน และอื่น ๆ ซึ่งก่อนหน้าที่จีนจะเปิดประเทศก็ได้เดินทางมาดูงานในไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ และเก็บสิ่งดี ๆ กลับไป และกลับไปทบทวน
หลังจากนั้นก็ส่งทีมงานมาศึกษาดูงานในต่างประเทศต่อเนื่อง เช่น สิงคโปร์ซึ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ ใกล้เคียงภูเก็ต ในทุก ๆ 3 วันจะมีคณะจากจีนเดินทางมาดูงาน 1 คณะ และเก็บเอาสิ่งดี ๆ กลับไปเตรียมงาน ซึ่งเวลานั้นจีนยังติดปัญหาหลายเรื่อง เฉพาะอย่างยิ่งมิติทางการเมือง ทำให้เติ้งไม่สามารถจะผลักดันหลาย ๆ สิ่งให้เกิดเป็นรูปธรรมรุดหน้าอย่างที่ตั้งใจ
ในยุคประธานาธิบดี“เจียง เจ๋อหมิน”มาสานต่อ จีนมีความเป็นอินเตอร์มากขึ้น โดยได้เปิดโลกทัศน์อีกระดับหนึ่ง จากเดิม(สมัยเติ้ง เสี่ยวผิง)ที่ส่งคนไปศึกษาต่อต่างประเทศมาถึงสมัยเจียง เจ๋อหมิน ก็ส่งคนไปศึกษาต่อเพิ่มมากขึ้น โดยไม่สนใจว่าจีนในยุคนั้นคนกลับมาแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น แต่จีนบอกว่าไม่เป็นไร วันหนึ่งจีนมีเวทีที่พร้อมคนเหล่านั้นจะกลับมา ผ่านไป 30 ปีหลังจากนั้นวันนี้จีนก็มีเวที และดึงคนเหล่านั้นกลับมาได้จริง ๆ
ทั้งนี้จากที่เจียง เจ๋อหมินมารับไม้ต่อ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐาน ก็บรรจุหลักสูตรวิทยาศาสตร์ให้เป็นรูปธรรม เดินหน้าต่อเรื่องวิทยาศาสตร์ ให้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านไป 10 ปีส่งไม้ต่อให้ประธานาธิบดี “หู จิ่นเทา” และได้เพิ่มเป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งค่อย ๆ ขยับไปอีกระดับหนึ่ง และจากเศรษฐกิจจีนที่เริ่มเติบโต เริ่มมีหัวเมืองผุดขึ้น หู จิ่นเทาก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาหัวเมืองใหญ่ในยุคนั้นเป็นลำดับแรก
หลังจากนั้นอีก 10 ปีมาถึงยุคประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” มารับไม้ต้อ บอกว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่พอ จีนต้องก้าวเข้าสู่ “ยุคแห่งนวัตกรรม” การพัฒนาชุมชนตามหัวเมืองใหญ่ก็ไม่ใช่โมเดลที่เหมาะสม เพราะถ้ากระจุกตัวอยู่เฉพาะหัวเมืองใหญ่ เช่นเฉพาะปักกิ่ง หรือเซี่ยงไฮ้เท่านั้นที่เจริญ เพราะความเจริญที่กระจุกตัวจะเติบโตได้ระดับหนึ่ง แต่พอโตถึงจุดหนึ่ง ค่าครองชีพสูง ค่าเช่าแพง ทุกอย่างแพงจนธุรกิจไม่สามารถเดินต่อได้ หรือไม่สามารถแข่งในเวทีระดับโลก หรือระดับระหว่างประเทศได้
ดังนั้นสิ่งที่สี จิ้นผิง รับไม้ต่อในเชิงนโยบายในมิติเรื่อง “การพัฒนาเมืองระเบียงเศรษฐกิจ” คือ การปรับโมเดลใหม่เมืองรองไม่พอ แต่ยังไปถึงกลุ่มเมือง
“หากย้อนกลับไปคนจะนึกไม่ถึงว่าจะมีสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้น ในวันนี้เมื่อ 40 ปีที่แล้ว หลายคนบอกว่าไปจีนในยุคหลังไม่เชื่อเลยว่านี่คือประเทศจีน วันนี้เรื่องการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแบบยุคเก่าสมัยที่ผมได้ไปเป็นทูตพาณิชย์ที่จีน พอนโยบายของรัฐบาล(จีน)บอกว่าต้องเป็นไฮเทค เครื่องมืออุปกรณ์ที่อยู่ในนิคมฯ เปลี่ยนหมดโดยนำอะไรที่เป็นไฮเทคเข้าไปใส่เพื่อยกระดับคนของจีน มาถึงยุคปัจจุบัน นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในจีนยกระดับเป็น “ครีเอทีฟ พาร์ค”ขึ้นไปอีกระดับหนึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ต่อเนื่อง”
ข้อคิดอีกอันหนึ่งที่จีนทำ คือ จีนลงทุนกับการพัฒนาโครงส้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกมหาศาล ทุกวันนี้จีนเป็นประเทศที่สั่งสมประสบการณ์เทคโนโลยีในเรื่องวิศวกรรมศาสตร์มากที่สุด โดยทำอย่างต่อเนื่องจนเปลี่ยนบ้านเปลี่ยนเมือง แต่หลักการความคิดที่ซ่อนอยู่คือ “อุปทานต้องรออุปสงค์”
“เปรียบเทียบเหมือนหญิงสาวที่ต้องแต่งหน้าทาปากให้พร้อม เมื่อชายหนุ่ม(นักลงทุนต่างชาติ) มองเห็นคุณแล้วต้องติดใจ แล้วมาจีบคุณ ไม่มีใครรอคุณแต่งหน้าทาปาก เพราะวันนี้มีสาว ๆ ทาปากเต็มไปหมด แม้กระทั่งภูมิภาคในแถบบ้านเรา”
ส่วนที่สาม ที่คิดว่าสำคัญ และไทยอาจทำยาก คือ เราเห็นการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน และอุตสาหกรรมของจีนที่ไปอย่างรวดเร็ว ไปอย่างเป็นระบบครบวงจร ซึ่งจีนไม่ได้มุ่งหวังแค่เพิ่มประสิทธิภาพของการผลิต สิ่งที่จีนทำก็คือมิติเรื่องตลาด เรื่องสเกล (Scale) ของตลาด เป็น “S” ตัวหนึ่งที่จีนเก่ง โดยจีนเอาตลาดที่ใหญ่เป็นตัวล่อทำให้ต่างชาติพร้อมเข้าไปลงทุน แม้ว่าจะมีความเสี่ยงว่าจะถูกบีบให้ “ถ่ายทอดเทคโนโลยี” ซึ่งจีนก็ทำจริง และก็จะมีคนของเขาไปศึกษาเรียนรู้ หรือสร้างระบบในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับท้องถิ่น
“หากติดตามข่าวเทสล่า (Tesla) ผู้บริหารคือ อีลอน มัสก์ ได้ลงทุนในจีนปี 2019 ตอกเสาเข็มในเขตผู่ตงของเซี่ยงไฮ้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเทสล่าผลิตรถยนต์คันที่ 1 ล้านออกมาเรียบร้อยแล้ว และจากนี้ไปโรงงานของเขาแค่โรงเดียวจะผลิตรถยนต์ปีละ 7.5 แสนคัน ซึ่งเขาก็กลัวเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่เพราะตลาด(จีน)ใหญ่เย้ายวนมากเขาก็เดินหน้าทำ ซึ่งทางจีนบอกว่าทำไมคุณไม่ลงทุนเรื่องศูนย์อาร์แอนด์ดี เพื่อได้โลคัลไลซ์ สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของคนจีน สอดคล้องกับเทคโนโลยี 5G และ 6G อีกไม่กี่ปีข้างหน้าที่จีนจะมี เขาเดินหน้าผลักดันแบบนี้ โชว์รูมเทสล่าตอนนี้ผุดขึ้นเต็มไปหมดตามหัวเมืองใหญ่ในจีน เป็นรถแฟชั่นยอดนิยมที่คนจีนหันมาซื้อ”
หรือแม้กระทั่ง TSMC จากไต้หวันผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของโลก ก็เข้าไปลงทุนในจีน แม้จะกลัวเรื่องถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่จากจีนเป็นตลาดใหญ่สุดของโลกอย่างไรก็ต้องเข้าไป โดย TSMC ยังได้ประกาศขยายการลงทุนที่หนานจิง เป็นต้น ลักษณะแบบนี้เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ และ TSMC ก็จะพัฒนาเทคโนโลยีต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งจีนก็จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับหนึ่ง และยังมีการพัฒนาในส่วนของตัวเอง เพราะอีก 10 ปีเทคโนโลยีเหล่านี้ก็จะล้าสมัยต้องพัฒนาไม่หยุด
“ผมว่าอีอีซี ณ ขณะนี้เป็นเหมือนต้นแบบเป็นพื้นที่ไพร์มแอเรียสำหรับประเทศไทยที่เราอยากเห็นเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งคนยังงง ๆ ว่า EEC ตัวย่อจากอะไร ซึ่งจะเป็นอย่างนี้อีกต่อไปไม่ได้แล้ว ต้องมีความชัดเจน และโดดเด่นเหมือนที่จีนพยายามทำ”
ปัจจุบันในจีนในแต่ละพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ ได้ผลักดันให้เกิดการลงทุนต้นน้ำ เรื่องอาร์แอนด์ดี ซึ่งนโยบายจากส่วนกลางมีความชัดเจน วันนี้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 14 ของจีนที่กำลังเดินหน้า (ถึงปี 2025)ได้กำหนดเป้าหมายสัดส่วนของการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา(อาร์แอนด์ดี) ต่อจีดีพีที่ 7% ส่วนของไทยอยู่ระดับ 1% ของจีดีพี จากขนาดเศรษฐกิจของจีนที่ใหญ่กว่าไทย คาดสิ้นปีนี้จีดีพีของจีนเฉียด 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีการลงทุนด้านอาร์แอนด์ดี 7% ต่อจีดีพี แสดงว่าจีนจะไปในเรื่องนี้อย่างชัดเจน
ขณะเดียวกันจีนยังมีความโดดเด่น และใส่ใจกับการพัฒนาคนมาก เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนา จีนเห็นสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ และมีการจัดระเบียบเรื่องการศึกษาใหม่ โดยเด็กเล็กของมีการใช้ไอแพด เพราะเด็กเป็นอนาคต และพัฒนาการศึกษาทุกระดับ คนจีน 1,400 ล้านคน และยังไปดึงชาวจีนโพ้นทะเลกลับประเทศ ตอนนี้กลับมาแล้วกว่าล้านคน และยังเปิดเวทีให้ชาวต่างชาติที่เก่งและมีความเชี่ยวชาญมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนไปสู่อีกระดับหนึ่งในอนาคต นอกจากนี้จีนมีหลักสูตร AI ลงถึงระดับประถมศึกษา สร้างภาคปฏิบัติให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
“แนวคิดจากที่จีนทำสำเร็จในบ้านเขา เขาก็เอาโมเดลไปต่อยอดที่อื่น วันนี้อีอีซีของไทย ถ้าเราวางแผนระยะยาวดี ๆ เราอาจจะเห็น ECCC โดย “C” ที่โผล่ขึ้นมาอาจเป็น ECC กับ Combodia หรือกัมพูชา คือเราขยายระเบียงเศรษฐกิจให้ข้ามพรมแดนไปเลย ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่ทั้งนี้เราต้องมีโมเดลที่มีความชัดเจน และทำนิ่ง และทำอย่างไรเราจะมีมาตรการส่งเสริมที่จะดึงธุรกิจเป้าหมายในลักษณะที่มีแพ็กเกจพิเศษ ไม่อย่างนั้นเราจะถูกคนอื่นแย่งชิงนักลงทุนไป “ ดร.ไพจิตร กล่าว