หลังจากสะท้อนภาพใหญ่และภาพย่อยของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์กันไปแล้ว วันนี้ผมจะชวนคุยเรื่องความท้าทายของอุตสาหกรรมชิป และ เทควอร์ (Tech War) ที่กำลังทำให้ “การแยกขั้ว” ถ่างกว้างมากขึ้นในปัจจุบันครับ ...
การพัฒนาสู่ “ความเป็นอิเล็กทรอนิกส์” ของสินค้าหลากหลายประเภทในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการใช้เซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่อุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ในช่วงหลายปีหลัง นอกจากลักษณะเฉพาะด้านแล้ว ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ก็เข้าไปมีบทบาทมากขึ้นต่อทิศทางแนวโน้มการพัฒนาของอุตสาหกรรมนี้
อันที่จริง สหรัฐฯ ก็เคย “ร้อนรน” ไม่สบายใจกับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลกมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยในช่วงทศวรรษ 1980 อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ตกอยู่ในมือของญี่ปุ่น รัฐบาลสหรัฐฯ จึงออกมาตรการอุดหนุนอุตสาหกรรมชิปในประเทศ และจำกัดการพัฒนาของญี่ปุ่น
แต่สภาพการณ์ในปัจจุบันมีความแตกต่างกันในหลายประเด็น ประการแรก “เหยื่อ” ของการกีดกันที่กำลังเกิดขึ้นในครั้งนี้ ไม่ใช่ “ญี่ปุ่น” แต่เปลี่ยนเป็น “จีน” ที่ถูกประเมินว่าเป็น “ภัยคุกคาม” ของสหรัฐฯ ในระยะยาว ว่าง่ายๆ สหรัฐฯ ต้องการดำรงสถานะของเบอร์หนึ่งของโลกต่อไป พอเห็นประเทศใดเติบใหญ่ขึ้นมา ก็มักมองว่าเป็น “คู่แข่งขัน”
ประการที่ 2 นอกจากสหรัฐฯ “ลงมือเอง” แล้ว ยังเลือกใช้วิธีการ “รุมกินโต๊ะ” โดยพยายามจับมือกับ “จตุรมิตรชิป” อันได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน
รัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาตรการคุมเข้มมิให้กิจการในสหรัฐฯ ขายชิปให้กับกิจการไฮเทคของจีน อาทิ หัวเหว่ยเทคโนโลยี (Huawei Technologies) และแซตทีอี (ZTE) จนนำไปสู่ยุคแรกของ “เทควอร์” ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
ในเวลาต่อมา กิจการสหรัฐฯ ก็ถูกห้ามมิให้จัดหาชิปจากผู้ผลิตที่ถูกรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำ หนึ่งในนั้นได้แก่ SMIC ผู้ผลิตรายใหญ่สุดของจีน ตามด้วยมาตรการกีดกันในรูปแบบต่างๆ
มาตรการดังกล่าวนำโลกไปสู่ “วิกฤติเซมิคอนดักเตอร์” ในปี 2021 อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต้องรอชิปในสเป็กเฉพาะเป็นเวลา 6-12 เดือน ซึ่งกระทบชิ่งต่อไปถึงหลายอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องทั่วโลกในปัจจุบัน อาทิ ยานยนต์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์การแพทย์
อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ถือเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด การขาดแคลนชิปทำให้โรงงานประกอบรถยนต์ผลิตสินค้าได้ในจำนวนที่ต่ำกว่ากำลังการผลิตที่แท้จริงอยู่มาก และกระทบไปถึงการกระจายและส่งมอบรถยนต์ใหม่ในเวลาต่อมา ส่งผลให้ผู้บริโภคทั่วโลกต่างต้องรอเวลานานถึงราว 1 ปีเลยทีเดียวกว่าจะได้รับรถยนต์ใหม่ที่สั่งซื้อ
ประการที่ 3 ความเป็น “สินค้าอิเล็กทรอนิกส์” ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในยุคใหม่ ทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นรุนแรงและกว้างขวางกว่าครั้งก่อนมาก
การขาดแคลนชิปทำให้หลายฝ่ายตระหนักดีถึงความสำคัญของห่วงโซ่อุปทานด้านเซมิคอนดักเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤติดังกล่าว เพราะในระยะหลัง ฐานการผลิตชิปคุณภาพสูงที่มีขนาดเล็กกว่า 10 นาโนมิลลิเมตรทั้งหมดล้วนตั้งอยู่นอกสหรัฐฯ
การพึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์ของต่างชาติทำให้สหรัฐฯ มีขีดความสามารถในการพัฒนาสินค้าใหม่ และการแข่งขันในเวทีโลกที่ลดลง นอกจากนี้ ยังส่งผลเสียต่อด้านการทหารของสหรัฐฯ การสูญเสียตำแหน่งแชมป์โลกยังอาจทำให้ภาพลักษณ์ของสหรัฐฯ ในฐานะผู้นำโลกสั่นคลอนไปด้วย
นี่คือเหตุผลเบื้องหลังว่า ทำไมรัฐบาลสหรัฐฯ ในปัจจุบัน จึงต้องการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการผลิตและนวัตกรรมชิปเอาไว้ในประเทศ ส่วนหนึ่งก็เพื่อลดระดับการพึ่งพาชิปของต่างชาติที่จะช่วยสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และเพิ่มระดับความมั่นคงด้านการทหารในระยะยาว
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ด้วยผลกระทบของวิกฤติที่รุนแรงและกว้างขวางมาก ทำให้การแก้ไขวิกฤติก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ และต้องใช้เวลาและทรัพยากรมากขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้
อุตสาหกรรมการผลิตชิปพยายามอย่างหนักหน่วงในการเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับอุปสงค์ที่ยังคงขยายตัวในอัตราที่สูง และเร่งกระจายสินค้าไปสู่พื้นที่ขาดแคลนเพื่อลดผลเสียที่จะเกิดขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
เราเห็นการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น TSMC ซึ่งเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลกในปัจจุบัน ก็ประกาศเมื่อปี 2021 เพิ่มวงเงินลงทุนถึง 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนว่า บริษัทฯ มองเห็นโอกาสทางธุรกิจว่าใหญ่ขนาดไหนในอนาคต
ขณะเดียวกัน ในความพยายามที่จะแก้ไขวิกฤติเซมิคอนดักเตอร์ และคว้าเข็มขัดแชมป์โลกฝังชิปเอาไว้ให้ได้ รัฐบาลสหรัฐฯ ต่าง “ส่งไม้ต่อ” ในเชิงนโยบายจากผู้นำรุ่นสู่รุ่นโดยไม่ได้นัดหมาย พร้อมออกหมัดสั้นและยาวอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง
ในระยะสั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน พยายามแก้ไขวิกฤติเฉพาะหน้าด้วยการส่งเสริมการขยายกำลังการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในเครือข่ายพันธมิตรที่มีอยู่ เพราะรอไม่ได้กับวิธีการตั้งโรงงานผลิตใหม่ที่โดยทั่วไปจะต้องใช้เวลาถึง 5 ปี
ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็วางแผนและเดินหน้าส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ในระยะยาว โดยพยายามดึงดูดการลงทุนกิจการข้ามชาติสัญชาติอเมริกันให้กลับสู่มาตุภูมิ (Reshoring) ด้วยมาตรการการเงินคลังแบบ “ทุ่มสุดตัว” ที่มากกว่าเมื่อคราวก่อนถึง 100 เท่าตัว พร้อมทั้งใช้ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ให้เกิดประโยชน์อย่างเข้มข้นอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่สหรัฐฯ พยายามทำก็คือการดำเนินนโยบายตามแนวคิด “Friendshoring” ที่ต้องการดึงเอาเครือข่ายพันธมิตรของตนที่อยู่ใน “จตุรเทพวงการชิป” เข้ามาลงทุนในสหรัฐฯ
ไทม์ไลน์ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาก็เป็นเครื่องยืนยันความพยายามดังกล่าว ภายหลังการสู้รบปรบมือกันมาระยะหนึ่งในอดีต สหรัฐฯ และญี่ปุ่นก็กลับมา “จูบปาก” ร่วมมือกันในหลายโครงการ ซึ่งสะท้อนถึงอำนาจการต่อรองของสหรัฐฯ ที่มีอยู่เหนือกว่าญี่ปุ่นอย่างชัดเจน
โดยหนึ่งในนั้นก็ได้แก่ โครงการพัฒนาชิปคุณภาพสูงที่เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2022 สหรัฐฯ และญี่ปุ่นประกาศจะร่วมมือกันก่อสร้างแฟ็บขนาด 2 นานามิลลิเมตรภายในปี 2025
ราว 2 สัปดาห์ต่อมา TSMC ก็ประกาศยืนยันแผนการขยายการก่อสร้างโรงงานผลิตถึง 11 แห่งในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น แถมยังจะครอบคลุมถึงจีน (หนานจิง และไต้หวัน) ภายในปี 2023 ซึ่งส่วนนี้ก็อาจนำไปสู่ประเด็น “อ่อนไหว” ว่าสหรัฐฯ จะยังยอมให้เงินอุดหนุนการลงทุนแก่ TSMC อยู่ต่อไปหรือไม่
นอกจากนี้ พี่ใหญ่อย่างอินเทลที่เข้าไปลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา อินเทลก่อสร้างโรงงานผลิตและศูนย์วิจัยและพัฒนาหลายแห่งในจีน โดยที่จีนเป็นตลาดที่เติบโตแรงสุดและมีศักยภาพที่จะขยายตัวอีกมากของบริษัทฯ เราจึงเห็นอินเทลเพิ่มการลงทุนอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นหนึ่งในกิจการต่างชาติรายใหญ่สุดที่ลงทุนในจีน
แถมเมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา อินเทลยังเปิดเผยว่า พร้อมจะร่วมมือกับมีเดียเทคของไต้หวัน ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ในการก่อสร้างโรงงานผลิตชิปขนาด 16 นาโนมิลลิเมตรอีกด้วย โครงข่ายการผลิตในอุตสาหกรรมนี้นับว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างกันอย่างใกล้ชิด
หรือกล่าวได้ว่า ห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมชิปโลกมีความสลับซับซ้อนมาก และพึ่งพาการเชื่อมโยงกับหลายประเทศในหลายภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาวัตถุดิบ เคมีภัณฑ์ และชิ้นส่วน รวมทั้งการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา และซอฟท์แวร์การผลิตที่ทันสมัย
นี่จึงอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมอินเทลเห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ควรผนวกเงื่อนไขที่ห้ามกิจการของสหรัฐฯ และพันธมิตรไปรับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนของจีน ซึ่งอาจทำให้กิจการของสหรัฐฯ และพันธมิตรเสียเปรียบ “ซ้ำซ้อน” ต่อกิจการของชาติอื่นที่ลงทุนในจีน
นอกจากนี้ “วิกฤติไต้หวัน” ภายหลังการเยือนของแนนซี เปโลซี ที่นำไปสู่การระงับการส่งออกทรายธรรมชาติไปยังไต้หวันก็อาจส่งผลให้ผู้ผลิตชิปในเกาะไต้หวันประสบปัญหาด้านการผลิต และไม่อาจจัดส่งมอบสินค้าให้ลูกค้ารายใหญ่สุดอย่างจีนได้ดังเดิม
คราวหน้าผมจะพาไปค้นหากันว่า แล้วจีนมีปฏิกริยาอย่างไร สถานการณ์อุตสาหกรรมชิปในอนาคตจะเป็นเช่นไร ใครจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ และชำแหละการเล่นบท “สองหน้า” ของสหรัฐฯ กันครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาด และอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน
หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,814 วันที่ 1 - 3 กันยายน พ.ศ. 2565