“การไม่รู้จักตัวเอง” กูรูยุคนี้ชี้ว่า “ไม่ใช่ปัญหา” เขาฟันธงว่า “การไม่รู้จักตัวเอง” คือ “ผลลัพธ์” ผู้เฒ่าชี้มั่งว่า “ปัญญาริบหรี่” จะว่ากันไป “ไม่ใช่ปัญหา” เพราะ “ปัญญาริบหรี่” ก็แค่ “ผลพวง” (ฮา)
ไอเดียของใคร ใช่! ไม่ใช่! ไปจุดธูปถาม “ท่านพระร่วง” เอาเอง แง่มุมที่น่าเป็นห่วงมันก็แหลมคมตรงที่ว่า “ผู้ไม่รู้จักตัวเอง” เขาจะสามารถรับมือ “ผลลัพธ์” หรือ “ผลพวง” ได้โดย ละม่อม! หรือว่า ละสังขาร!
ผมรอมานานจนกว่า ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด เข้าสู่ร่มเงาเกษียณ จะได้เล่าขานกรณีเล็กๆ แต่ทว่าสเปคของเนื้อเรื่องมันสะเทือนเมืองราวกับ “เรื่อง(คิด) สั้น!” โดย “ไอ้ม้วนผู้ฆ่ายักษ์” อันที่จริงน่าจะเป็นเรื่องในระดับจุลภาค ปัญหามันอยู่ที่ว่าชาวบ้านเล่าต่อคนละจุด มันจึงยาวราวกับเส้นหมี่ยืดอายุ
ผู้จัดงานวิ่งสมานไมตรี เชิญ “ผวจ.” เข้าร่วมวิ่ง ครั้นเมื่อถึงวันและเวลาวิ่ง กรรมการก็ยิงปืนขึ้นฟ้าดัง “ปัง” งานนี้ “ผวจ.” ได้ปักหมุดไว้ว่าต้อง “ปัง” ท่านพุ่งตัววิ่งระห่ำท่ามกลางเสียงโห่เชียร์ อีกไม่กี่ก้าว “ผวจ.” กำลังจะเข้าเส้นชัย กองเขียร์ทุกคนหยุดหายใจ เมื่อ “ไอ้ม้วน” คนขับรถส่วนตัว ของท่าน “ผวจ.!” วิ่งแซงด้วยหัวใจเทอร์โบ ปาดหน้าคว้าชัยโดยไม่มีใครไชโย ชาวบ้านคุยกันตรึมว่า “ไอ้ม้วน ตัวเบาแล้ว มันไม่มีอนาคตให้แบก (ฮา)
“ผวจ.!” คุยคนขับรถว่า “กูรู้ว่ามึงวิ่งเก่ง กูก็บอกมึงแล้วว่ามึงอย่ามาวิ่ง งานนี้ คนจัดเขาเชิญให้กูมาร่วมวิ่งจังหวัดจะได้เป็นหน้าเป็นตา แล้วมึงสมัครเข้ามาวิ่งทำไม!” ไอ้ม้วน นั่งก้มหน้า อ้อมแอ้มตอบว่า “ผมอยากได้ ผ้าขะม้าเกรดเอ อ่ะครับ!” (โถๆๆ โถๆๆ โถ…..ส้วม)
คติพจน์ที่ว่า “นั่งเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ” ใช่ว่าจะเผด็จการเสมอไป เรื่องแบบนี้แหละที่มันไม่มีอยู่ในหลักสูตร ก็เลยแปลกันมั่วตามใจชอบ อันที่จริงเป็นคำบอกให้เรารู้จักปรับตัว จะมีสักกี่คนที่ไม่ปรับตัวแล้วแฮปปี้
นักปราชญ์ยุโรป ลูทวิช วิทเกินชไตน์ ให้ความเห็นว่า “การเข้าใจ คือ การรู้ตัวว่าเราต้องทำอะไร” พระเจ้าอยู่หัว ร.9 ทรงชี้แนะไว้ว่า “การเล่นเกมกับเด็ก จะต้องไม่เอาชนะเด็ก!”
ผมขอต่อยอด นักปราชญ์ยุโรป เพิ่มอีกหนึ่งแรงเทียนพรรษา สังคมจะนึกภาพออกว่า “การเข้าถึง คือ การรู้ตัวว่าเราต้องทำแบบไหน” หลังจากเราเล่นเกมแพ้เด็ก เราควรจะเลี้ยงไอศครีมให้เกียรติเด็กผู้ชนะเพื่อซื้อใจให้เขาปลื้มจนลืมไม่ลง
คิดไปคิดมาผมจึงประมาณความเห็นได้ว่า “ความน่าสงสัยในระดับทวีคูณ คือ ร่องรอยของความรู้!” อุปมาดุจว่า ถ้า “เรา” คือ “นักแกะรอยสมัครเล่น” เราจะเดินส่องดูรอยร่องดินลากเป็นทางยาวไปจบลงที่รูตรงริมรั้วหลังบ้าน เราก็หาอะไรมาอุดไว้แล้วกลับหลังหัน หาก “เรา” คือ “นักแกะรอยมืออาชีพ” เราจะให้นักล่าเข้ามาช่วยขุดรูอัญเชิญท่านงูให้ไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกลอันควร
เขาว่ากันมานานแล้วว่า “โง่มาก่อนฉลาด” ดูเหมือนว่าน่าจะมีเค้า เนื่องจาก “คู่มือ” หรือ “ตำรา” ส่วนใหญ่มักจะเกิดตามหลังปัญหาที่เคยแก้ไขไม่ได้ หรือแก้ไขได้ไม่ดีพอ ตัวอย่างใกล้ตัวที่สามารถอ้างอิงมาเป็นพยาน มันมีให้เห็นเป็น “ประสบการณ์” กันอยู่เสมอ
มนุษย์อวกาศของประเทศจ้าวโลก รายงาน “องค์การหน้าซา” ว่า ปากกาลูกลื่นใช้ในสุญญากาศไม่ได้ NACHA ผลิตปากกาแบบใหม่ไว้ใช้ในสุญญากาศ ลงทุน 12 ล้านล้านดอลลาร์ มนุษย์อวกาศของรัสเซีย ก็ไปเซอร์เวย์นอกโลกโดยใช้ “ดินสอ” ที่ไม่มีเงินทอน! (ฮา)
เจ้าบ่าวกับเจ้าสาวยุคหิน หลังจากเข้านอนแล้วตื่นขึ้นมารู้สึกเพลียๆ เขาจะหาถั่งเช่าเอามาชงกันหรือเปล่าเราก็ไม่รู้ มีคนเมาเขานินทาว่า AI คือ “ลูกอีช่างลอก” ความรู้ในโลกนี้ที่เรามีไว้ใช้ทำมาหากิน โดนลอกเอาไปประเคนให้โรบ็อทขบเคี้ยว “คนยุคลูกอีช่างลอก” มักจะถากถาง “มนุษย์ยุคโบราณ” ว่าเป็น “เฒ่าบางแค” คนที่ทับถมคงลืมไปว่า “เฒ่าบางแค” ตื่นก่อนที่ “ผัวเมียป้ายแดง” จะเดินโซซัดโซเซออกมา (ฮา)
ชาวบ้านรำคาญการปอกเปลือกไข่มาหลายศตวรรษ หลังจากนักโภชนาการทดลองวิธีการปอกเปลือกไข่ได้สำเร็จ ก็นำมาเล่าให้เรารู้กลเม็ด คือ
หนึ่ง วางไข่ในหม้อ เติมน้ำเย็นให้ท่วมไข่ ใส่ เบกกิ้งโซดา ลงไปเล็กน้อย ต้มด้วยไฟปานกลาง 8-10 นาที
สอง เทน้ำร้อนออกแล้วใส่น้ำเย็นลงไปแทน แช่ไข่จนแน่ใจว่าไข่เย็นตัวลง สาม กะเทาะก้นไข่ให้ร้าวแล้วปอกจากรอยแตก เปลือกไข่จะหลุดอย่างง่ายดาย
"ไข่ลวก” คือ “ยาโด้ป” จะตะปบอีกสักกี่รอบก็รีบตะปบ วันใดใจไม่สงบ ตะปบ พลิกเป็น ตบปะ!
มนุษย์ตระกูลเดียวจะพลอยอับอายกลายเป็นผู้ไร้การศึกษา เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็น “ภูมิปัญญานอกโรงเรียน” ถามหาปรึกษา “ผู้เฒ่า” หรือ “ผู้มีประสบการณ์” จะดี เขาคือศูนย์ความรู้ที่ช่วยผดุง “จิต” กับ “สมอง” รู้จักพัฒนา “ปัญญา” จะได้ “ประดิษฐ์” มนุษย์ให้ล้ำกว่า AI
อย่าลืมว่า “ปัญญา” คือ “ความรู้ที่เกิดจากการเรียน และความคิด” ในหลวง ร.9 เสด็จไปพื้นที่ใดจะเชิญ ผู้เฒ่ามาคุยด้วยเสมอ “คนแก่เขามีบิ๊กดาต้า!” คุณค่านี้มิควรมองข้าม…