ประดิษฐ์ปัญญา (2)

29 ธ.ค. 2566 | 23:30 น.

ประดิษฐ์ปัญญา (2) : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย... ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3953

คริส เบห์นเก้ คนดังผู้สร้างสรรค์สื่อ ในอเมริกา ปักหมุดสุดติ่งว่า “ไม่มีทางลัดไปสู่ปัญญา ไม่มีทางลัดไปสู่ประสบการณ์ มีเพียงถนนที่ยากลำบากทอดยาว เต็มไปด้วยอุบัติเหตุ ภัยพิบัติ การทดลอง กับ การดิ้นรน” รวมความตามเจตนา หมายถึง  “ฉลาดทิพย์นับไม่ถึงสิบก็แพ้น็อค” เพราะว่าผลสำเร็จใดๆ ในขั้นเทพเกิดขึ้นจากการฝักใฝ่พัฒนาฝ่าด่านการเรียนรู้โดยตรงด้วยตนเองเป็นหลัก “กูรูเหาฉลาม” สามารถกวาดเก็บได้เศษเหยื่อเหลือเฟือก็จริง แต่ความโดดเด่นมันไม่ปิ๊งตรงที่แอบอิง “เฮียฉลาม” เป็นนิจ ตนเองไม่ได้คิดขึ้นโดยตรง

นิทานคณิตศาสตร์เรื่องหนึ่งเล่าไว้ว่า ครูเอาส้มมาวางไว้บนโต๊ะสองถุง ถุงแรกมีส้มอยู่ 5 ลูก ถุงที่สองมีส้มอยู่ 4 ลูก ครูถาม ด.ช. เหาฉลาม ว่า “ถ้าเราเอาส้มถุงแรกเทใส่รวมกับถุงที่สอง ในถุงที่สองจะมีส้มกี่ลูก” ด.ช. เหาฉลาม นับไปนับมาแบบงงๆ เพื่อนซี้มีนามว่า ด.ช. เฮียฉลาม รับบท “เฮียรังแกเหา” ทำนองเดียว กับ “พ่อแม่รังแกฉัน” ส่งซิกชูนิ้วให้ดูว่า 9 ลูก ด.ช. เหาฉลาม ก็ “อ้อมไปแอ้ม” (ฮา) ตอบว่า “9 ลูก”  คำตอบอีหรอบนี้แหละ “ปัญญาประดิษฐ์” เห็นๆ

ถัดมาอีกวันหนึ่ง แม่ขอแรงให้ลูกเข็นรถไปซื้อแตงโมเจ้าประจำที่ตลาด กำชับว่า “มีกี่ลูกเหมาซื้อมาให้หมดเลยนะ พรุ่งนี้มีงานฉลองอุโบสถ” ด.ช. เหาฉลาม มัวแต่แวะดูนั่นดูนี่ กว่าจะไปถึงตลาดก็วาย แตงโมเจ้าประจำมีอยู่ไม่กี่ลูก แม่ค้าเจ้าประจำจึงไปเอาจากแผงอื่นมาสมทบ ด.ช. เหาฉลาม เข็นรถแตงโมกลับมาถึงบ้าน 

แม่ก็ถามว่า “เหาฉลาม ลูกรัก ได้แตงโมมากี่ลูกล่ะจ๊ะ?” ด.ช. เหาฉลาม ตอบคุณแม่อย่างฉาดฉานทันทีว่า “ไม่ทราบเหมือนกันครับ ครูสอนแต่เรื่องส้ม ไม่ได้สอนเรื่องแตงโม ฮะแม่…” (ฮา) เรื่องนี้ชี้แนะให้แลเห็น “ทักษะ” (ความสามารถ) ว่า ไม่ได้ ประดิษฐ์สรรพปัญญา เอาไว้ให้ถ่องแท้ เน้นแต่ ท่องแท้ๆ เป็นหลัก (ฮา)

นักเรียนมักจะนินทาครูว่า “ครูทำไมครูถึงได้ตั้งโจทย์โง่ๆ เอามาถามนักเรียน คำถามที่เลือกเอามาถาม ครูก็เป็นคนอธิบายเป็นวรรคเป็นเวร แล้วยังจะเอามาถามซ้ำซากอีก!” เจอคำถามแบบนี้เมื่อไหร่ก็หวนไปนึกถึง ดร.วิษณุ เครืองาม ที่ท่านพูดว่า “คำถาม เป็น ดรรชนีชี้วัดภูมิปัญญา ของ ผู้ถาม คำตอบ เป็น ดรรชนีชี้วัดภูมิปัญญา ของ ผู้ตอบ?” 

ผม เอ้ก อี เอ้ก เอ้ก อาสา (ขันอาสา) เป็นโฆษกให้ครูว่า ครูเขาเอามาถามซ้ำเพื่อจะดูว่าศิษย์ ใช้กระบวนท่า สุ จิ ปุ ลิ หรือเปล่า อธิบายเป็นหรือไม่ เข้าถึง วิชาเรขาคณิต แค่ไหน แตกฉานการโยงข้ออ้าง กับ ข้อสรุป ชัดเจนเพียงใด ถ้าผมเป็นครูสอนวิชานี้  ผมจะถามปิดท้ายให้สาธยายด้วยว่า วิชาเรขาคณิต เอาไปใช้ในชีวิตจริงอย่างไร ถ้าตอบคำถามนี้ไม่ได้ ทำใจไว้เลยว่า AI ปัญญาประดิษฐ์ จะยึดตำแหน่งงานชัวร์

                            ประดิษฐ์ปัญญา (2)

ฝากบอกลูกหลานเอาไว้หน่อย จะลอกการบ้านเพื่อนทั้งที่ ลอกให้มันมี “ลวดลาย” บ้าง ก็ยังดีกว่าลอกลวกๆ จนคนลอก “ออกลาย” ให้เห็นเป็นที่น่าสงสัยว่า น่าจะเป็นชุมชนซุบซิบคุยกันชิบอยู่หลังห้อง (ฮา) 

ครูให้การบ้านว่า มุม A อยู่ชิดติดกับ มุม B บนเส้นตรงเดียวกันในแนวนอน มุม B เป็น มุมฉาก มุม C อยู่บนเส้นตรงแนวตั้งอยู่ชิดติดกับ มุม B จงพิสูจน์ว่า มุม A กับ มุม C ทำมุมเท่ากันหรือไม่? เพื่อนเราลงมือทำการบ้านขมีขมันจนเสร็จด้วยการอธิบายเอาไว้ว่า…

☆ มุม A = มุม B เพราะว่า มุม A + มุม B = 180 องศา

☆ มุม B [มุมฉาก]  = 90 องศา

☆ มุม A  = 180 องศา - มุม B 90 องศา ดังนั้น มุม A = 90 องศา

☆ มุม B = มุม C เพราะว่า มุม C + มุม B = 180 องศา

☆ มุม B [มุมฉาก]  = 090 องศา

☆ มุม C = 180 องศา - มุม B 90 องศา ดังนั้น มุม C = 90 องศา

☆ ด้วยเหตุผลดังกล่าว มุม A = มุม C

☆ ไหนๆ สังคมเรายังคงสืบทอดการลอก ก็นำเสนอให้มันดูแตกต่างกันหน่อย

□ มุม B = มุม A เพราะว่า มุม B + มุม A = 180 องศา

□ มุม B [มุมฉาก]  = 90 องศา

□ 180 องศา - มุม B 90 องศา = มุม A ดังนั้น มุม A = 90 องศา

□ มุม C = มุม B เพราะว่า มุม C + มุม B = 180 องศา

□ มุม B [มุมฉาก]  = 090 องศา

□ 180 องศา - มุม B 90 องศา = มุม C ดังนั้น มุม C = 90 องศา (อิๆ...)

ครูอ่านแล้ว เรียกมาคุยว่า “จะบอกว่าตอบถูกก็ได้ แต่เอาไปเรียงใหม่ได้ไหม อ่านแล้วเวียนหัว ถ้าครูเวียนหัว คะแนนเธอจะเวียนไปเวียนมา หาที่ลงไม่ได้” (ฮา) เราเอามาลงใหม่เหมือนกับที่เพื่อนมันทำ ครูก็ว่าเราไม่ได้ว่า สงสัยมันจะลอกกัน….

เห็นด้วยไหมล่ะว่า “ไม่มีทางลัดไปสู่ปัญญา ไม่มีทางลัดไปสู่ประสบการณ์ มีเพียงถนนที่ยากลำบากทอดยาว เต็มไปด้วยอุบัติเหตุ ภัยพิบัติ การทดลอง กับ การดิ้นรน!”