ต่อเนื่องมาจากกรณีฉบับก่อนๆๆ ว่าด้วยเรื่องพระพุทธคันธารราฐซึ่งรูปทรงงานศิลปะนั้น ท่านผู้ปั้นแต่งมักสร้างสรรค์ให้เหมือนรูปคนจริงๆเปนคนลักษณะกรีกห่มจีวรพริ้วสวยลักษณาการเปนพระมหาบุรุษเค้าหน้าพระพักตร์เชิงผสมอย่างทำนองว่าฝรั่งผมดำ ซึ่งกิริยาพระหัตถ์กวักขึ้นเบื้องบนเวหานภากาศเนืองๆนั้น ก็ใช่ล่ะว่าโบราณาจารย์ท่านสร้างไว้ด้วยพระกิริยา (ปาง) ทรงกวัก
คำถามน่าสนใจมีอยู่ว่า_แท้แล้วทรงกวักเรียกใคร?
ดังนี้แล้วไซร้ก็ต้องเรียนว่า_ทรงกวักเรียกพระพิรุณอย่างไร?
ก็ต้องขออนุญาตท้าวความก่อนว่า หากตอบว่า’ฝน’ อันนั้นเปนคำตอบของกิริยาทรงกวักเรียก”อะไร” ชั่วแต่ว่า “ใคร” เปนผู้คุมประดาฝนนั้น ก็ต้องไปต่อไปถึงเทพยดาผู้ว่าการฝ่ายฝนฟ้า ซึ่งก็คือพระพิรุณ
ตามความนับถือมาแต่โบราณ พระพิรุณนั้นทรงเปนหนึ่งในจตุโลกบาล_คือ เทพยดาดั้งเดิมผู้รักษาโลก (earth) แต่ละทิศทั้งสี่ องค์พระพิรุณนั้นท่านประจำรักษาอยู่ทิศประจิม_ตะวันตก และกำกับดูแลเรื่องฝนฟ้า ส่วนท่านผู้รักษาทิศเหนือก็คือพระกุเวร ซึ่งอีกนามหนึ่งของท่านคือท่านท้าวเวสสุวรรณ ซึ่งวัดเมืองไทยในยุคโควิดนี้ เปนที่นิยมจัดสร้างบูชากันล้นหลาม ท้าวกุเวรนี้ตามตำราท่านว่าทรงมีสามขา แต่เพื่อถ่ายทอดรูปลักษณ์ให้สอดคล้องกับการศิลปะรังสรรค์ศิลปินท่านมักสร้างให้ทรงถือกระบองค้ำไว้นัยว่าเพื่อทดแทนขาที่สามของท่าน ซึ่งนอกเหนือจากการรักษาปกปักทิศเหนือของโลกแล้ว ยังนับถือกันว่าท้าวกุเวรท่านเปนเจ้าแห่งขุมทรัพย์และเปนนายของภูติผีปีศาจต่างๆอีกด้วย ที่ญี่ปุ่นก็มีเรียกท่านว่า ‘โทไดจิ’ พม่าก็มี ดังรูปด้านล่างนี้ได้มาจากฝรั่งนิรนามแขวนไว้ที่วิกิแวนด์
อันว่า ตัวอักษร ถอดบาลี สันสกฤต อย่างไรก็ตาม สังเกตดูก็จะพบว่านักอักษรไทยท่านถือว่า พ. พาน กับ ว. แหวนนั้นคือตัวเดียวกันแล้วแต่จะผันเสียงอักษร
ดังว่า วิเชียร ที่แปลว่าเพชร สะกด พิเชียร ก็ยังแปลว่าเพชร วิริยะ ที่แปลว่าความเพียร สะกด พิริยะ ก็ยังแปลว่าเพียรเหมือน พิสุทธิ กับ วิสุทธิ นั่นแล ถ้าตรรกะเปนตามข้อสังเกตแล้ว พระวรุณ กับ พระพิรุณท่านก็เหมือนกัน
ที่เขตพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ถัดจากลานพระราชวังดุสิต กรุงเทพพระมหานครนี้ ร้ัวที่ล้อมเขตพระราชฐานอยู่มีคูน้ำกั้น เจาะประตูพระทวาร เข้า_ออกสี่ด้าน มีการเฉลิมนามตามเทพยดาจตุโลกบาลผู้รักษาทิศหลักทั้งสี่ว่า ประตูพระอินทร์อยู่ชม ประตูพระยมอยู่คุ้น ประตูพระวรุณอยู่เจน ประตูพระกุเวรอยู่เฝ้า
การจะเข้า_ออกเขตพระราชฐานนี้ช่องทางทั้งสี่มีกำหนดตามลำดับศักดิ์เอาไว้อยู่ หาใช่ผู้ใดจะผ่านพระทวารใดเข้า_ออกตามสะดวกเดินทางหาได้ไม่
นัยยะสำคัญอยู่ที่ว่า “ประตูพระวรุณอยู่เจน” เป็นพระทวารสำคัญ ทำหน้าที่รับเสด็จพระราชดำเนิน ส่งเสด็จพระราชดำเนิน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยเฉพาะ นับว่านัยยะสำคัญนี้’ไม่ธรรมดา’
ในอดีตกาลผ่านมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ยังมีท้องตราสำคัญอย่างที่เรียกว่าตราพระราชลัญจกรอยู่องค์หนึ่งนามว่า ตราพระพิรุณทรงนาค แกะเปนพระพิรุณเทพทรงเครื่องถือพระขรรค์ประทับยืนเหนือพญานาคราช ท้องตรานี้เปนท้องตราใหญ่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เชิญไปยามมีพระบรมราชโองการให้ขุดบางขุดคลอง ให้ไขน้ำเข้านา ทะลายคันคลองระบายน้ำ ว่ากันว่าเปนที่เข็ดขามแก่ปวงรุกขเทวาอารักษ์ ทั้งดวงจิตเจ้าป่าเจ้าเขา เจ้าที่เจ้าถิ่น ที่กีดขวางไม่ยอมเสียสละเพื่อประโยชน์สาธารณะ เมื่อได้ปะได้เจอกับท้องตราพระพิรุณนี้เข้าก็เปนต้องสยบยอม
อนึ่งเพื่อเปนการกระทำความรู้จักท่านพระพิรุณเทพให้ชัดเจนขึ้น จึงจะขอยกลำดับสาแหรกวงศ์เทวัญมาประกอบเนื้อเรื่องกล่าวคือ
1. พระพิรุณเทพ เปนพี่น้องร่วมครรภ์โภทรเดียวกันพระอินทร์ กำเนิดมาแต่พระกัศยปเทพบิดรกับพระนางอทิติเทพ จึงมีลำดับศักดิ์ในวงศ์เทพไม่เปนรองผู้ใด
2. นางเมขลา หรือ นางมณีเมขลา ที่เราท่านรู้จักคุ้นเคยกันดีตามพระราชนิพนธ์แห่งความเพียรเรื่องพระมหาชนกนั้น ท่านเปนธิดาของพระพิรุณเทพ จึงมีลูกแก้วมณีเปนของวิเศษประจำตัววิบวับ ดังรูปนี้ท่านอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต เขียนไว้งามงด ส่วนรูปพระมหาชนกพบนางมณีเมขลาท่านอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์วาดไว้จึงแนบมาพร้อมกัน
3. ส่วนพญานาค นั้น เปน น้องของพระพิรุณเทพ กำเนิดแต่บิดาเดียวกันคือ พระกัศยปเทพบิดร เเต่ต่างมารดา มารดาของพญานาคคือนางกัทรุ จึงเปนกึ่งเทวดา ครองพิภพบาดาล
ดังนั้นแล้วจึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุไรพระพิรุณเทพจึงทรงนาคราชเดินหนบนอากาศ ก็เขาพี่น้องกันน่ะ ! ลำดับถัดมาก็เปนที่รู้กันว่า นาคนั้นให้น้ำ จะสับสนอย่างไรกับกรณีพระพิรุณ?
ก็ต้องเรียนว่านาคหรือพญานาคอันพระพิรุณทรงถือเปนสัตว์เทพพระพาหนะ ต้นฝนนั้นคือพระพิรุณแต่ผู้กระจายฝนเปนฝอยฝนคือพญานาค
ตำราเก่าๆถือกันว่าท่านนาคเหล่านี้เปนดวงจิตเก่าแก่ดั้งเดิมมาแต่มหายุคลิโอโซนิค เลนิโอโซนิค กำเนิดพิภพโลก มีหลายวงศ์หลายพวก ทำหน้าที่ให้น้ำทำนองเดียวกัน ท่านที่อยู่ทะเล_สมุทร น้ำเค็ม นั้นมนุษย์เราเรียกมังกร ท่านที่อยู่แม่น้ำ_วังน้ำ น้ำจืด นั้นมนุษย์เราเรียกพญานาค
ท่านเหล่านี้เดินหนบนอากาศ ในมหาสมุทร นอกจากให้น้ำแล้วยังความคุ้มครองผู้เดินทางอีกโสตหนึ่งด้วย
ข้างพระวรุณ หรือ พระพิรุณนี้ ในยุคสังคมเกษตรกรรมให้ความนับถือกราบกรานขอพึ่งพาเป็นที่มาก_มากก็ด้วยว่าฝนนั้นเป็นองค์กำเนิดของทุกสรรพสิ่ง จะได้ข้าวจะได้ปลามากิน ก็เนื่องมาแต่ฝนหลั่งไหลตกลงมาชุบชีวาพาข้าวให้ตั้งท้องผลิดอกออกรวง ข้างแม้แต่ปลาแต่กบในบึงหนองหากแล้งเรื้อแล้วหาอยู่มิได้ จะขยายพันธุ์ก็ติดขัด เพียงฝนโปรยลงมานั้นก็ชื่นใจ ฝนชะแล้งหายคลายโศก กบร้องแพร่พันธุ์ ปลาระเริงพัดครีบไล่ทวนไปกับกลิ่นน้ำใหม่ อันว่ากระแสนั้น แปลว่า ของไหล _flow
ฝนนั้นหลั่งไหลมาเปนกระแสโดยลื่นไหลไม่ติดขัดและต่อเนื่อง ปราบความแล้งร้ายได้ชะงัด ทั้งยังพัดพาเอาบาปเคราะห์สิ่งสกปรกโรคาพาธไหลปลาสหายไป ดังนี้เปนคุณของฝน
การเรียกฝนในทุกชาติศาสนา มีนัยยะสอดคล้อง เพราะฝนหลั่งไหลเปนองค์กำเนิดสรรพสิ่งดังกล่าว ในทศชาติชาดกตอนหนึ่งว่าดินแดนแล้ง(แร้น)แค้นยังมาขอช้างปัจจัยนาเคนทร์จากพระเวสสันดร_เอาไปขอฝน!
ข้างในอเมริกายุคโบราณ อินเดียนแดงใช้ชีวิตขึ้นแก่การเพาะปลูกข้าวโพดชนเผ่านั้นแต่ละเผ่าต้องมีผู้นำ_ผู้นำนี้มีหน้าที่อีกงานนอกจากนำฝูงชนแล้ว คือ ทำพิธีเรียกฝนเพราะฝนนั้นนำมาซึ่งข้าวโพด ยังให้สมาชิกเผ่าทุกคนอิ่มท้องและอุดมสมบูรณ์ ทุกวันนี้ยังมีพิธีระบำเรียกฝนอยู่ในวัฒนธรรมอินเดียนแดงทั้งในอเมริกาเหนือ และ ฝั่งอเมริกาใต้
ในสังคมอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมเล่าเปนอย่างไร? กระแสเงินสดหลั่งไหลเข้าใส่องค์กรอย่างไรเล่าคือคำตอบ ฝรั่งเรียกคนทำเงินเข้าองค์กรว่า
“RAINMAKER” - คนทำฝน เรียกกันอย่างสำนึกและขอบคุณ ผู้นำมาเพื่อกระแสเงินสดหลั่งไหลไม่ขาดตอน ชุบชีพหล่อเลี้ยงผู้พนักงานวานจ้าง ผู้พักพิงพึ่งพาอาศัยในองค์กรที่อดอยากปากแห้ง ได้ดับกระหายคลายกลับมาฉ่ำตัวชื่นปากชุ่มใจฯ
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ฉบับที่ 3,815 วันที่ 4 - 7 กันยายน พ.ศ. 2565