เช้านี้ได้ฤกษ์จัดห้องทำงานเสียใหม่ กราบถวายบังคม น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม อัญเชิญพระบรมรูปกระเบื้องกังไสเขียนสี พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร์ฯ ซึ่งมูลนิธิมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒน์ จัดสร้างโดยพระบรมราชานุญาต ตั้งแต่เมื่อครั้งฉลอง กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในพุทธศักราช 2525 ประทับยืนบนแท่นโต๊ะหมู่ กระนาบข้างด้วยดอกไม้ก้านยาวปักแจกกันบูชา ด้านหน้าถวายงานด้วยสิงห์โตไทย โลหะหล่อหนาหนัก ฝีมือปั้น คุณ(หญิง) ไข่มุกด์ ชูโต ประติมากรคนสำคัญในราชสำนักครั้งกระโน้น
พระบรมรูปนี้พระบาทสมเด็จ พระชนกาธิเบศร์ ทรงคฑาจอมทัพในพระหัตถ์ขวา ฉลองพระองค์เครื่องแบบนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่หนึ่งมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัยกาธิราช ทรงสะพายสายเสนางคะบดีสีดำสลับแดง ชั้นสูงสุดในสำรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ตราพระรามรามาธิบดีเหยียบอกยักษ์นนทุก ประดับเหรียญกล้าหาญพิทัษ์เสรีชนชั้นหนึ่งและเหรียญราชการชายแดน ตราสมเด็จพระนเรศวรทรงพระแสงของ้าวเจ้าพระยาแสนพลพ่าย ประทับเหนือเจ้าพระยาไชยานุภาพปราบหงสาฯ ประดับเข็มราชวัลลภชั้นทองคำลงยาฝังเพชรบนแพรแถบแดงที่พระอุระขวา พระหัตถ์ซ้ายกุมพระแสงกระบี่จอมทัพ สง่างามเปี่ยมพระมหาบารมีเปนที่ยิ่ง ยังความเปนสรรพสิริมิ่งมงคลปกเกล้าคุ้มกระหม่อมหาที่สุดมิได้
ฉากหลังโต๊ะทำงานจัดใหม่นี้เปน ภาพเขียนสีน้ำมันรูปบิดาผู้ล่วงลับบานโตซึ่ง จิตรกรรุ่นใหม่ที่กำลังมาแรงในยุคนี้ ‘ณัฐธวัช พันธุ์สอิ้ง’ (Demian) วาดให้ หลังจากศึกษาวิเคราะห์วิจัยและทำการบ้านอย่างละเอียดถึงชีวิตท่านผู้วายชนม์ ถ่ายทอดอารมณ์และความเปนไปแสดง ออกมาผ่านรูปแบบศิลปะคิวบิสม์ที่เขาถนัดถนี่และนิยมหลงไหล กลายเป็นที่น่าชื่นชมของเหล่านักสะสมผลงานศิลปะ จนกระทั่งเบอร์ใหญ่ๆในเมืองไทยตามจีบขอซื้อ
ภาพนี้ เดเมี่ยน ณัฐธวัช ขึงผ้าใบใช้เวลาร่วมสองเดือนรังสรรค์ออกมา ก่อนจะสู้อุตส่าห์ไปเข้ากรอบไม้เนื้อแข็ง นำมาส่งและติดตั้งให้เองถึงที่
หลังจากพิศดู กันหลายมุมมอง ก็ตกลงใจให้ชื่อภาพนี้ว่า “A Barrister who became The King’ own bodyguard” ตามชีวิตจริงของท่านเนติบัณฑิตผู้วายชนม์ ซึ่งชีวิตพลิกผันไปเปนทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ในรัชกาลก่อน
ภาพนี้ศิลปินกำหนดสีอย่างกับจะให้มีรังสีออกมาและองค์ประกอบของสีต่างๆในภาพล้วนสะท้อนแง่มุมชีวิตของต้นแบบ ออกมาเปนเรื่องราวอย่างสวยสดงามงดน่าซึ้งใจ ปีกลายนี้เปนปีของผู้นับถือท่านท้าวเวสสุวรรณ เดเมี่ยน ณัฐธวัชมีชื่อเสียงมาจากการวาดภาพท่านท้าวในรูปแบบคิวบิกส์มาก่อน เมื่อลงประกาศแสดงผลงานปุ๊บ ก็มีคนสนใจสั่งจองทันที (โดยที่ไม่ถามและไม่เกี่ยงราคา) จนเกิดมาเปนภาพท่านท้าวหลายเวอร์ชั่น หลายนัมเบอร์
ปัญหาว่า ศิลปะ คิวบิกส์นี้คือ อย่างไร?
ก็ต้องขอประธานกราบเรียนว่า อันว่าคิวบิสม์ หรือบาศกนิยม (Cubism) เปนอย่างว่าลัทธิ_ลัทธิในการสร้างสรรค์งานศิลปะที่ได้รับผลสะท้อนมาจากอิทธิพลด้านความเจริญ ทางวิทยาศาสตร์ เท่ากับความปฐมภูมิ (primitive)ของงานศิลปะที่มนุษย์อารยธรรมเก่าสร้างไว้
ซึ่งนับว่าเปนการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างทางศิลปะแบบเก่าอย่างสิ้นเชิง โดยไม่ได้เน้นการแสดงออกถึงความรู้สึกของศิลปินแบบเก่ามากนัก
คิวบิสม์ เน้นการค้นหาความงามจากรูปทรงของเหลี่ยม, ลูกบาศก์ ค้นหาโครงสร้างตามความจริงที่เปนแท่งทรงเหลี่ยม/ทรงลูกบาศก์นั้นมากกว่า มากกว่าจะไปเน้นที่รายละเอียดในธรรมชาติ โดยแสดงให้เห็นวัตถุธาตุอย่างลึกซึ้งมิใช่แค่การเลียนแบบวัตถุ ทั้งนี้ยังคงมีเนื้อหาและเรื่องราวในภาพอยู่ อาจกล่าวได้ว่าคิวบิสม์นั้นเปนการ สร้างรูปทรงเรขาคณิต โดยการหาโครงสร้างแยกย่อยแล้วนำมาประกอบเข้ากันใหม่ เปนชิ้นงานใหม่เกิดขึ้น เรียกง่ายๆว่าคนวาด มี ‘ตาใน’ เจาะลงไปในองค์ประกอบของสรรพสิ่งก็คงไม่ผิดนัก
ต่อข้อถามว่า ณัฐธวัช พันธุ์สอิ้ง ผู้นี้เปนใคร อะไร อย่างไง ? ณัฐกร พฤกษ์สุวัฒน์ สายข่าวรุ่นใหม่ ไปขอสัมภาษณ์ ได้ความว่า เขาเปนคนชอบภาพวาดมาตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นก็เริ่มหัดวาดภาพจากการศึกษาผลงานของศิลปินที่ตัวชื่นชอบ ส่วนใหญ่จะเป็นงานของจิตรกรยุโรปในช่วงศิลปะสมัยใหม่ ให้เหตุผลว่างานเหล่านั้นแตกต่างกับงานที่ได้เห็นตามหอศิลป์ในบ้านเรา
เขาว่าปวงภาพเหล่านั้นทั้งมีเสน่ห์ เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา และยังสดใหม่อยู่แม้คนวาดได้จากลาโลกนี้ไปนับร้อยปีแล้ว!
ณัฐธวัชเริ่มศึกษาศิลปะด้วยตัวเองที่บ้านและห้องสมุด ความตั้งใจคืออยากสร้างสรรค์ภาพวาดดีๆแบบนั้นออกมาได้บ้าง และอยากจะทำงานศิลปะให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เขาเร่งทำงานทั้งวัน_คืน มีเวลาก็จะไปห้องสมุดแล้วกลับห้องเช่ามาทำงานต่อ โดยได้ทดลองทำงานออกมาหลายรูปแบบ ทำแบบนี้อยู่หลายปีโดยทำงานพิเศษอื่นควบคู่ไปด้วยเพื่อหาทุนในการซื้อสีและผ้าใบ บ่อยครั้งที่เห็นตัวเองเดินเก็บป้ายข้างทางมาขึงเป็นผ้าใบเพื่อใช้วาดรูป หลายคราวไม่มีเงินซื้อผ้าใบดีๆ ต้องไปหาซื้อผ้าดิบถูกๆมาขึงวาดแทนเพื่อฝึกฝนวิทยา
เวลาล่วงเลยมาหลายปี เดเมี่ยนรับว่า ตัวเขาได้ค้นพบว่ารูปแบบที่ทดลองทำอยู่นั่นยังไม่สามารถพาตัวเองไปยังจุดที่ต้องการได้ จึงเริ่มแสวงหาหนทางใหม่ๆในการสร้างสรรค์ จนวันหนึ่งได้พบหนังสือรวบรวมผลงานมาสเตอร์พีชของปีกาสโซ่ ในห้องสมุด ภาพวาดต่างๆในหนังสือเล่มนั้นกระตุกใจศิบปินของเราอย่างมาก เขาว่ารู้สึกเหมือนมีเวทมนตร์บางอย่างที่ทำให้เคลิบเคลิ้มหลงใหล
เขาสังเกตว่าผลงานแต่ละหน้าในหนังสือเล่มนั้นเปลี่ยนแนวทางใหม่ไปเรื่อยๆจนถึงหน้าสุดท้าย แตกต่างจากผลงานของศิลปินทุกคนที่ได้ศึกษาซึ่งมักจะมีเพียงไม่กี่แนวทางในตลอดชีวิตของพวกเขา
สิ่งนี้ทำให้ตื่นเต้นมาก จนกระโดดเข้าไปศึกษาอย่างคนหิวกระหาย จนรู้ใจตัวเองว่า ผลงานที่น่าสนใจที่สุดของปิกาสโซ่คือผลงานในช่วงคิวบิสม์ เขาสนใจมันทั้งในแง่รูปแบบและแนวความคิด จนพบว่าคิวบิสม์คือการปฏิวัติทางศิลปะครั้งสำคัญบนโลกของเรา มันได้ปฏิวัติความคิดและหลักการทางสุนทรียศาสตร์ที่เคยมีมาก่อนหน้านั้นทั้งหมด รวมถึงยังส่งอิทธิพลจนเกิดเป็นลัทธิมากมายรวมถึงผลงานประเภทนามธรรมที่เราท่านพบเห็นในยุคปัจจุบัน
เขาเริ่มมองเห็นลู่ทางในการสร้างสรรค์ผลงานภายใต้แนวความคิดคิวบิสม์และเมื่ออายุ 25 ได้ทดลองส่งผลงานไปยังเวทีประกวดศิลปกรรมนานาชาติและได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนั้น
จึงนำเงินที่ได้มาซื้ออุปกรณ์วาดภาพและเช่าสตูติโออยู่ คราวนี้เลิกทำงานพิเศษและหันมาทุ่มเวลาทำงานคิวบิสม์อย่างเต็มที่ โดยรับงานวาดภาพบุคคลที่ศึกษาจากแนวทางก่อนหน้าควบคู่ไปด้วย ทว่าผลลัพธ์ที่ได้ กลับกลายเปนมหากาพย์แห่งความหิวโหย ตลอดห้าปีที่ค้นคว้าลงมือเดเมี่ยนขายภาพคิวบิสม์ได้ไม่ถึงสิบชิ้น นั่นทำให้จิตรกรของเราต้องเผชิญความอดโซอย่างแสนสาหัสในแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน บ่อยครั้งที่ต้องอดอาหารครั้งละหลายวันกว่าจะขายภาพได้สักชิ้นหนึ่ง จนเผชิญปัญหาทางสุขภาพทั้งทางร่างกายส่วนกระเพาะอาหารและจิตใจโดยทั่วไป
เขาตัดสินใจหยุดวาดภาพคิวบิสม์ไปหนึ่งปีและหันมาทำงานเอ็กเพรสชันนิสต์ซึ่งสะท้อนความป่วยไข้ของตัวเอง โชคดีที่ตอน นั้นพ่อบังเกิดเกล้าเกษียณพอดี จึงส่งเงินมาให้ก้อนนึง แต่อยู่ได้ประมาณหนึ่งปีเงินก้อนนั้นก็หมด เดเมี่ยนเริ่มคิดหาทางออกด้วยการจบชีวิตเพราะทำงานต่อไปไม่ไหว จนพรหมลิขิตบันดาลให้เขาได้เจอภริยาสาว_ลินินซึ่งต่อมาได้กลาย Muse-ไอคอน บันดาลใจของตัวเอง
“ความรักทำให้ผมกลับมาทำงานได้อีกครั้งเริ่มจากวาดรูปลินินออกมาจำนวนหนึ่งตลอดจนกลับมารับวาดภาพบุคคล”
“เวลาผ่านมาครึ่งปีเมื่อสุขภาพเริ่มดีขึ้นผมก็เริ่มกลับมาสร้างสรรค์งานภายใต้แนวคิดคิวบิสม์อีกครั้งการกลับมาทำงานคิวบิสม์ครั้งนี้เป็นการรับและส่งต่อสิ่งที่ผมศึกษามาก่อนหน้าทั้งหมด ในความคิดผม ศิลปะนั้นพัฒนาขึ้นและส่งต่อกันเป็นทอดๆ เซซานน์และซอราส่งต่อให้ปีกาสโซ่และบราก ปีกาสโซ่และบรากส่งต่อให้ศิลปินรุ่นหลังมาจนอาจจะมาถึงผม สิ่งที่ยิ่งใหญ่นั้นเกิดขึ้นได้จากสิ่งเล็กๆน้อยๆมารวมกัน ผมได้รวบรวมแนวคิดคิวบิสม์ยุควิเคราะห์และสังเคราะห์ รวมถึงแนวคิดและรูปแบบทางศิลปะที่ได้รับอิทธิพลต่อจากคิวบิสม์ไม่ว่าจะเป็นสุพรีมาติสม์ เดอสไตล์ฟิวเจอริสม์ ดาด้า หรือเซอเรียลลิสม์ มาสร้างผลงานที่เป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง”
“ผมอยากให้คนเห็นงานผมและนึกถึงสิ่งต่างๆเหล่านั้น อยากให้คนบ้านเราเห็นเสน่ห์ของงานประเภทนี้ในแบบที่ผมเห็นหลังจากพยายามอยู่พักใหญ่ ก็เริ่มมีผู้สนใจและให้การสนับสนุนผม รวมถึง ดร.อัญชลิน พรรณนิภา ที่ส่งผมไปศึกษาดูงานที่ปารีสเพื่อให้ผมนำความรู้และแรงบันดาลใจที่ได้กลับมาประยุกต์ใช้กับงานของตัวเอง”
ตอนนี้ดูเหมือนความพยายามของเดเมี่ยน ณัฐธวัช เริ่มเห็นผลขึ้นมาบ้างแล้ว
“ตลอดระยะเวลาการทำงานผมเชื่อว่าความสำคัญที่แท้จริงของงานศิลปะไม่ได้อยู่ที่มูลค่าแต่หากอยู่ที่คุณค่าในตัวของมัน เป้าหมายของผมยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยที่ผมเริ่มหัดเขียนภาพ นั่นคือการทำงานให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้”