เที่ยวเวียงละคร จากขนมแตง ถึงกาดกองต้า

27 ต.ค. 2567 | 11:45 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ต.ค. 2567 | 11:55 น.

เที่ยวเวียงละคร จากขนมแตง ถึงกาดกองต้า คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

KEY

POINTS

  • "กาด" หมายถึง ตลาด, "ต้า" หมายถึง ท่า, และ "กอง" หมายถึง ถนน ทำให้ "กาดกองต้า" หมายถึง ตลาดที่ตั้งอยู่ริมถนนตรงท่าน้ำแม่น้ำวัง เมืองลำปางมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ร่วมกันตั้งแต่อดีต
  • ลำปางเป็นแหล่งรวมอาหารจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น คนลั้วะ, ไท-ยวน, ไทใหญ่, มอญ, และไทยอง แต่ละกลุ่มมีอาหารและวัฒนธรรมการกินที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ข้าวนึ่ง, ลาบ, และแกงต่างๆ ซึ่งสะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้

คืนนี้มาเดินเล่นกาดกองต้าริมน้ำวังเมืองลำปาง_เขลางคะละกอน ผู้คนก็ถามกันว่าตกลงลำปางนี้ชื่อเมืองอะไรกันแน่ ฯลฯ นาทีนี้ก็ถือเปนจังหวะดี ได้มีโอกาสร่วมชี้แจงแถลงไขบริการท่านผู้ฟัง อันว่ากาดกองต้า ที่มาเดินเล่นอยู่กันนี้ คำว่า ‘กาด’ ก็คือ ตลาด ส่วนคำว่า ‘ต้า’ ก็คือ ท่า_ท่าน้ำ ส่วนกองนั้นแปลว่าว่าถนน รวมความก็คือตลาดถนนตรงท่าน้ำ

 

เที่ยวเวียงละคร จากขนมแตง ถึงกาดกองต้า

 

ด้วยว่าแม่น้ำวังไหลผ่านเมืองลำปาง ตรงบริเวณนี้เปนแหล่งทำเลค้าขายคึกคัก จอดเรือง่ายเพราะน้ำไม่เชี่ยว อดีตเคยมีเกาะคอยกันน้ำเชี่ยวไว้ มีวัดบนเกาะนั้นเรียกวัดเกาะ_วาลุการาม มีพระทองคำองค์ใหญ่ ย่านการค้านี้มีรวมปวงชนหมดทุกสายทั้งไทย จีน ฝรั่ง พม่า ไทใหญ่ กะเหรี่ยง ขมุ อินเดีย แขกขาว ด้วยว่าอดีตนั้น ลำปางก็เปนประเทศเหมือนกัน ผู้คนหลายเผ่าเหล่ากอ มาอยู่มาหากินกันที่ลำปางเนิ่นนานมา

ทีนี้ก็มาถึงว่า อะไรกันล่ะ ลำปาง? ก็ต้องเรียนว่า ยุคพระนางจามเทวีฯเสด็จจากละโว้ขึ้นมาครองเมืองอยู่ทางนี้นั้น ท่านไปอยู่ลำพูนก่อน ชื่อลำพูนนั้นก็มาจาก หริพูน_หริภุญไชย ท่านทรงครรภ์อ่อน และมีประสูติกาลพระโอรสฝาแฝด องค์หนึ่งชื่อ ท้าวมหันตยศ อีกองค์ชื่อ ท้าวอนันตยศ

 

เที่ยวเวียงละคร จากขนมแตง ถึงกาดกองต้า

 

จำเนียรกาลผ่านไป พระนางเจริญวัยพระชันษาถึงคราวชราภาพ ก็ให้ท้าวมหันตยศครองนครหริภุญไชยแทนตน ส่วนน้องแฝดท้าวอนันตยศให้สร้างเมืองใหม่จะประทานเมืองนั้นให้ไปครอง ท้าวอนันตยศไปปรึกษามหาฤาษีวาสุเทพ (ยุคนั้นฤาษีท่านเปนใหญ่และมีฤทธิมาก-ขนาดดอยสุเทพผู้เจ้าของยังเปนฤาษีคือ ฤาษีวาสุเทพนี้) ท่านชี้ทางให้ไปพบฤาษีสุพรหมดีกว่า ระหว่างทางไปเจอพรานป่านำทางชื่อพรานเขลางค์ เพราะบ้านอยู่เชิงเขาเขลางคบรรพต จนไปพบพระฤาษี

อีทีนี้เรื่องจะสร้างบ้านแปงเมืองมันไม่ได้ง่าย ท่านประดามหาฤาษีผู้มีฤทธิ์มาประชุมกันตรงทำเลจะสร้างนครลำปางแล้ว ก็ปรากฏว่านกหัสดีลิงค์ผู้ใหญ่ในป่าหิมพานต์ แกไปเที่ยวเล่นน้ำทะเลที่มหาสมุทรมา ก็หยิบเอาหอยสังข์อันเปนมงคล บินเอาฝากท่านมหาฤาษี

ท่านฤาษีเห็นเปนนิมิตรดี ก็สร้างเมืองเปนรูปหอยสังข์มีทางเข้าออกลับแบบกลไกเปลือกหอย ขนานนามเมืองนี้ว่า เขลางค์นคร ตามเทือกเขาเขลางค์บรรพต ภูมิสถาน ซึ่งตามบาลีแปลว่า ส้มโอ / ทรงอย่างส้มโอ ซึ่งอาจตีความว่าเปนทรงบาตรพระก็ได้_บาตรคว่ำ ขันคว่ำ ได้ทั้งนั้น

 

เที่ยวเวียงละคร จากขนมแตง ถึงกาดกองต้า

 

อีทีนี้พอเมืองสำเร็จ ท้าวอนันตยศท่านก็มาครอง ต่อเมืองพระราชมารดาทรงชราภาพลงอีกมาก ท่านก็หาทางสร้างเมืองเล็กๆไว้ให้สมเด็จแม่พักผ่อน ที่มุมหนึ่งของเขลางคนคร เรียกเมืองเล็กนั้นว่า อาลัมพางคนคร ก็เลยว่าไปๆมาๆ ย่านนั้นเรียก ลำปางนคร ซึ่งความหมายเดียวกันกับ นครลำปาง ซึ่งทับซ้อนอยู่ในเขลางคนคร _นครเขลางค์ ซึ่งมีผังเมืองเปนหอยสังข์อีกทีหนึ่ง

ในยามที่ระบบแผนที่ยังไม่ precise/precision ชี้ถามทางกันว่าจะไปไหน?คำตอบก็ว่า “ไปเวียง”_ไปเมืองเวียงใด? อ้อ ”เวียงละกอน“ _ เมืองนคร ละกอนใดกะเจ้า? “ละกอนลำปาง!” ก็เปนที่มาของหมู่ถ้อยร้อยคำบ่งนิยามความหมาย ละคร/ละกอน/เขลางค์นคร/ลำปาง/อาลัมพางค์ ก็คือที่แถบๆเดียวกัน!!

 

เที่ยวเวียงละคร จากขนมแตง ถึงกาดกองต้า

 

ส่วนที่บริเวณกาดกองต้านี้ ก็มีหมู่อาคารเก่าแก่สวยงามที่ยังมีชีวิต ยืนยงท้าทายการเวลาอยู่มาก ท่านผู้อ่านกรุณาแวะมาช่วง เสาร์-อาทิตย์ กิจกรรมและผู้คนจึงจะคึกครื้น จอดรถเสียก่อนที่เวิ้งบริการ คันละ 20 บาท ทีนี้ก็ได้เวลาเดินทอดน่องชมตลาดสวยๆ บรรยากาศดี

เริ่มกันที่อาคารฟองหลี  ซึ่งเศรษฐีลำปางยุคเจ้าหลวงบุญวาทย์ท่านสร้างไว้ ใช้ไม้สักแท้ๆประกอบตึกปูน ปัจจุบันท่านเจ้าของพลิกแพลงเปนโรงแรม แต่นิยามตัวเองอย่างถ่อมตนว่า เรือนแรม_guest house ได้รับคะแนนโหวตรีวิวจากผู้เข้าพัก 10 เต็มเลยทีเดียว ออกแบบการใช้งานภายในได้น่ารักน่าชมเชย หน้าอาคารมีสล่าขายงานหัตถกรรมสานใบลานเปนรูปสวยรูปงามต่างๆ แผงอาหารต่างๆกระจุกกระจิ๊ก เรียงราย

เดินๆไปเจอพวกเครื่องเซรามิกปั้นอบไฟเผา มาวางขาย ได้เชิงเทียนกับขวดใส่น้ำมันหอมติดมือมา อันละ 5 บาท เท่านั้น เมืองลำปางมีดินดีสีนวลขาว ทำผลิตภัณฑ์ดินเผาเคลือบมีชื่อมานาน

 

เที่ยวเวียงละคร จากขนมแตง ถึงกาดกองต้า

 

รวมถึงว่าชามตราไก่ ที่ใครๆสับสนว่าใครเริ่มก่อน ฝ่ายจีน รึฝ่ายลำปาง ก็ต้องเรียนว่าป่วยการจะคิด คนอาจจะคิดเหมือนกันพร้อมกัน คนจีนอาจมาลำปาง คนลำปางอาจไปอยู่เมืองจีน ยากจะเฟ้นหาหลักฐานมาสนับสนุน แต่ทว่าอีกตำนานหนึ่งของลำปางนี้ ท่านเรียกว่า กุกกุฏนคร - แปลว่า เมืองไก่ หรือ เมืองไก่ขัน

ตามตำนานพระ(พุทธ)เจ้าเลียบเมืองของฝ่ายเหนือ ระบุว่าครั้งสมเด็จพระชินสีห์เสด็จเมืองลำปางแต่เช้ามืด พระอินทร์ท่านกลัวชาวเมืองไม่รู้ จึงแปลงเปนไก่ขาว ออกบินเรี่ยพื้นโก่งคอขันคู ส่งเสียงปลุกชาวบ้านให้ออกมารับเสด็จและให้ออกมาใส่บาตรทำบุญ

ทีนี้ว่าเมืองลำปางก็มีสัญลักษณ์เปนไก่ขาว_พระอินทร์แปลงเรื่อยมาส่วนที่ว่าลำปาง_เมืองรถม้า อันนี้ก็น่าจะใช่ เพราะเหลือเปนเมืองเอกเมืองเดียวในไทยที่ใช้รถม้าวิ่งไปมาสัญจร ตำนานหนึ่งว่าท่านผู้มีบุญเมืองลำปางรับรถม้ามือสองจากพระนครบางกอกขึ้นมาทำแท็กซี่ และได้อยู่ถาวรเนื่องมาจนบัดนี้ ในขณะที่อีกฝ่ายว่ามาจากมะละแหม่งปู๊น พม่าแนะนำพาเข้ามา ยุคเจ้าหลวงทำไม้ ใช้เดินทางว่องไวสะดวกดี

บรรทัดนี้ก็ให้นึกถึงว่า ที่เมือง พิลอูลวิน เหนือขึ้นไปจากมัณฑะเลย์ นั้น เปนเมืองตากอากาศของฝรั่งในเมืองพม่าเพราะว่าในที่ใต้มันร้อนและชื้น เมืองสูงบนเขาอย่างพิลอูลวิน เย็นรื่นสบายตัวสบายใจมากกว่า ที่นั่นฝรั่งอังกฤษพาชาวเนปาลจากโพคารามาอยู่ด้วยนัยยะว่าเปนบ้านใหม่ให้ทหารกุรข่ากองกำลังพิฆาตของตัว

 

เที่ยวเวียงละคร จากขนมแตง ถึงกาดกองต้า

 

เรียกอีกชื่อว่าเมืองเมย์เมียว ที่เมืองนี้ไปไหนมาไหนยังใช้รถม้าอยู่ทั่วไปเหมือนลำปาง ชั่วแต่ว่ามีกูบมีหลังคา อย่างที่เรียกกันว่า saloon ที่กาดกองต้านี้ มีเยาวชนรักถิ่นกลับจากหากินเมืองหลวงมาทำกินอยู่บ้านหลายหน้า  ร้านเบเกอรี่เล็กๆในกาดกองต้า ทำขนมทำเครื่องดื่มอย่างทันสมัยในอาคารที่ปรับปรุงภายในเสียใหม่อย่างน่าประทับใจ

ชงชาโฮจิฉะใส่น้ำผลไม้ วางใบไทม์ ดอกเดซี่เจ้าของว่ามาวันธรรมดาจะเงียบเหงาหน่อย จะสนุกเต็มร้อยให้มาเสาร์_อาทิตย์ ที่กาดกองต้านี้ ยังมีขนมในตำนานที่หายไปแล้ว แต่ยังมีวางขายอยู่ทั่วไป ได้แก่ขนมแตงไทย มีสองสามเจ้า ขนมแตงไทยนี่เปนขนมอบอุ่นความทรงจำ ค่าที่เมื่อยังเด็กตามครัวฝ่ายพ่อขึ้นไปทำเหมืองแกรนิตที่แม่สลิด ตำบลระแหง_แขวงเมืองตาก ครัวของลุงเขยเปนคหบดีเมืองตาก นิวาสถานอยู่บ้านจีนริมน้ำปิง เลยวัดน้ำหักเข้ามา บ้านหมู่นั้นเปนไม้สักทั้งหลังและทุกหลัง_สักทองแกะลายฉลุทำขนมปังขิง บรรยากาศเหมือน บ้านเก่าไม้สักถนนกองต้า ริมน้ำวังแห่งนี้ไม่มีผิด

ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายนั้น ยามเมื่อพวกผู้ชายคุยกันเรื่องงาน ท่านผู้หญิงก็กำลังสาละวนกับการทำเครื่องว่างบางอย่างมารับรอง บนชานบ้านกว้างขวาง ตั้งเตาถ่านรังถึงซึ้งไอน้ำ ท่านผู้หนึ่งกรุณาหยิบของห่อใบตองกลัดไม้วางลงในจานกระเบื้องขาวเคียงส้อมของหวาน เมื่อเห็นเยาวชนลังเลๆ ก็กรุณาแกะห่อให้ด้วยจิตเมตต์ กลิ่นแตงไทยโชยอ่อนๆกรุ่นฟุ้งเข้าจมูกเล็กๆ เปิดโอกาสให้ได้ลองรับประทานชิมรสนวลหอมแห่งแตงไทยในความหวานมันอ่อนโยนของแป้งมัน/น้ำตาลทราย/ใส่แป้งท้าวยายม่อม มีมะพร้าวอ่อนโรยขูดทับหน้ามา ไม่คิดว่าอีก 40 ปีจะได้พบกันใหม่ที่กาดกองต้า เวียงลครเเห่งนี้

ขนมแตงไทยแต่ละเจ้าสูตรไม่ตรงกัน เจ้าแรกที่กาดนี้ใส่ถ้วยตะไลเล็กๆนึ่ง เนื้อจึงบุ๋มกลางเปนครีม รสชาติหวานมันด้วยน้ำตาลปี๊บตัดเกลือ อีกเจ้าใช้ถ้วยตะไลขนมถ้วยปากกว้าง ยีผลแตงไทยงอมจัดลงไป ผสมน้ำตาลทรายเอาหวานจึงคงความเปนแตงไทยหอมใสไว้ในขนมได้เต็มอัตรา

นอกนี้ท่านว่ามีขนมเกลือ ซึ่งก็คือ เปลือกขาวของขนมใส่ไส้นั่นเอง ห่อละ 5 บาท ที่ลำปางนี้มีส้มชนิดหนึ่ง ปลูกกันมากที่อำเภอเถิน ชื่อว่าส้มเกลี้ยง ลักษณะคล้ายส้มเช้งแต่รสไม่ใช่ เนื้อเหลืองกลิ่นหอม กินซื่อๆได้ความชื่นมากกว่าความหวาน เจ้าถิ่นนิยมนำมาปอกเปลือกคั้นน้ำ กินเพลินๆ ไม่เติมน้ำเชื่อมก็ได้ เสียดายว่าเปลือกมันหอมนัก น่าเอาหมักทำยา ลิมอนเซลโล่ กินหลังอาหารที่หน้าอาคารหม่องโงยซิน ซึ่งเปนอาคารรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น สองสาวเปิดแผงขายหนวดปลาหมึกแห้งเกลือกแป้งทอด รสชาติอร่อยโอชา หากินกับแอ่ปอ่องออ สมองหมูเคล้าเครื่องห่อใบตองย่าง

ฝนเริ่มโรยเม็ดนิดหน่อย ได้เวลาคนกระหม่อมบางหลบเข้าที่พักก่อน จึงตั้งสำรับไร้ข้าวเปน เกวุสตรามิแนร์ กับ พริกหนุ่มไฮเทค เชลล์ชวนชิมตราแม่แช่ม (ได้มาจากกาดริมปิงติดแอร์ เขาทำแห้งมาสุญญากาศหยอดน้ำแร่สะอาดๆลง ๑ นาทีก็กินได้) แนมด้วยขนมวิเศษความทรงจำอันหอมฟุ้ง-ขนมแตงไทย เมืองละกอน มะพร้าวขูด กับหนวดปลาหมึกแห้งทอดกรอบๆ

แหม่_ซาบซึ้งในรสชาติจนน้ำตาจะไหล ส่วนอนึ่งที่ท่านผู้อ่านกรุณาถามไถ่ ว่าอาหารเมืองเหนือล้านนาที่ว่าชอบกินนักกินหนา มันเปนสไตล์ของใครอย่างไรกันแน่

ในคืนฝนปรอยแห่งนครลำปางยามนี้ มีโอกาสค้นหาคำตอบมาอรรถาธิบาย ได้ความว่า ลำปางก็เปนประเทศเหมือนกัน ผู้คนหลายเผ่าเหล่ากอ มาอยู่มากินกันที่ลำปางเนิ่นนานมา ได้แก่

๑) คนลั้วะ คนลั้วะอยู่บนป่าครองลำปางนานมาตั้งแต่ยุคหินใหม่-เวียงเจ็ดลิน ตัวแทนชาวลั้วะนี่ก็คือขุนหลวงวิลังคะในตำนานที่แม่ริม อาวุธคือสะเน้า เขานิยมล้มควาย ลาบดิบ ส้าจิ้น นึ่งข้าว กินแกงหอย  ยำผักหน่อไม้ใส่น้ำปู ตำสาหร่ายเตา ทำแอ่ปห่อนึ่งด้วยใบตอง

๒) ชาวไท-ยวน : สมัยโยนก-หิรัญเงินยาง  นิยมข้าวนึ่ง จัดอาหารเปนชั้นขันโตก ปรุงเนื้อสัตว์ด้วย(เครื่อง)น้ำพริก เช่น ลาบต้องใส่พริกลาบ หลู้ ยำไก่ น้ำพริกหนุ่ม แกงอ่อม

๓) ชาวไทใหญ่ หรือ เงี้ยว กินข้าวเจ้า ดูจากข้าวกันจิ้นคลุกเลือดห่อใบตอง เงี้ยวปรุงอาหารใส่เครื่องเทศหลากหลาย หอมแดง มะเขือเทศ ข่า ตะไคร้ เช่น ตำขนุน แกงขนุน แกงหยวก น้ำพริกอ่อง ขนมจีนน้ำเงี้ยว แกงกะด้าง แกงผักใส่ถั่วเน่า นี่ข้าวเงี้ยว

๔) ม่านพม่ายืดครองลำปางมาหลายร้อยปี อาหารก็ได้รับอิทธิพลมา ใส่เครื่องเทศแบบอินเดีย เช่นฮังเล คั่วตับหมู

๕) ไทลื้อ มาจากเมืองสิบสองปันนานิยมข้าวนึ่ง กินผัก น้ำเหมี่ยง แกงแค ผักกาดจอ ส้าผัก ยำผักดอง ไม่มีเครื่องปรุงมากนักคล้ายอาหารยูนนาน

๖ )ชาวมอญ อาศัยอยู่บริเวณอ.ป่าซาง อ.เวียงหนองล่อง อ.แจ้ห่ม อ.เถิน เปนชาติพันธุ์ที่ตามพระนางจามเทวีจากกรุงละไว้ ถือพุทธศาสนาเถรวาทและปกครองเมืองหริภุญชัย และ นครเขลางค์ อาหารมอญ คือแกงขี้เหล็ก แกงบอน แกงใส่ใบส้มป่อย แกงผักปลัง แกงใส่ใบกระเจี๊ยบ

๗) ไทยอง มีต้นกำเนิดอยู่ที่เมืองยอง แถวเชียงตุง  ไม่ใช่ระยอง อาหารโปรดชาวยอง เช่น หน่อไม้ดอง ที่เรียกว่า หน่อโอ่ กินกันเล่น ไว้จิ้มพริกกับเกลือ