จับตา“ปัจจัยการเมือง”กระทบเศรษฐกิจไทย

25 ธ.ค. 2567 | 06:12 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ธ.ค. 2567 | 06:24 น.

จับตา“ปัจจัยการเมือง”กระทบเศรษฐกิจไทย : คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4056

*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4,056 ระหว่างวันที่ 26-28 ธ.ค. 2567 “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย

*** อีกไม่กี่วันก็จะสิ้นปี 2567 ย่างเข้าสู่ปี 2568 ปีที่ผ่านมาใครที่เข้มแข็งสามารถประคองตัว เอาตัวรอด จากภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจมาได้ ก็ถือว่า “โชคดี” ไป ส่วนใครที่เอาตัว “ไม่รอด” ก็ต้องขอแสดงความเห็นใจด้วย “ปีหน้าฟ้าใหม่” มาตั้งหลักต่อสู้กันใหม่ ชีวิตไม่สิ้น ก็ดิ้นไป...  

*** พูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ ในปีหน้า 2568 ยังมีปัญหาในหลายด้านให้ต้อง “เผชิญ” ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทย ทั้งปัญหา 1.หนี้ครัวเรือนสูง ที่อัตราหนี้สินต่อรายได้ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ กระทบกำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศ 2.การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่ยังไม่กลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 อย่างเต็มที่ ขณะที่การแข่งขันด้านการท่องเที่ยวสูงขึ้นในภูมิภาค 3.ผลกระทบจากสงครามการค้าและความขัดแย้งระหว่างประเทศ อันจะนำไปสู่ปัญหาการส่งออกมีความผันผวน และห่วงโซ่อุปทานยังคงไม่เสถียร 

4.การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีความจำเป็นในการปรับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพราะการแข่งขันในอุตสาหกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีสูงขึ้น 5. เงินเฟ้อและต้นทุนการครองชีพ ราคาสินค้าและพลังงานมีแนวโน้มผันผวน กระทบต่อรายได้และกำลังซื้อของประชาชน 6.การลงทุนภาครัฐและเอกชน ซึ่งต้องจับตาการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และ การดึงดูดการลงทุนต่างประเทศ ว่าจะสามารถทำได้ดีมากน้อยเพียงใด และ 7. ความท้าทายด้านแรงงานและทักษะ เช่น การขาดแคลนแรงงานมีทักษะเฉพาะทาง มีความต้องการพัฒนาทักษะแรงงานให้ตรงกับตลาด เป็นต้น

*** อีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย นั่นก็คือ ปัจจัยด้าน “การเมืองภายในประเทศ” โดยเฉพาะเรื่อง “เสถียรภาพของรัฐบาล” เพราะขณะนี้ภายในรัฐบาลภายใต้การนำของ  อิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เกิดปัญหากระทบกระทั้งสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล กับ “พรรคภูมิใจไทย” ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีฐาน สส. เป็นอันดับสอง 

*** ความ “ระหองระแหง” ระหว่าง 2 พรรคหลักดังกล่าว ไล่เรียงดู เริ่มต้นจากปัญหา 1.กัญชาเสรี ซึ่งเป็นเรือธงของ “ภูมิใจไทย” ที่ต้องการปลูกขายเสรี ขณะที่ “เพื่อไทย” ไม่เห็นด้วย และอยากดึงกลับเป็นยาเสพติด ให้ใช้ได้เฉพาะเพื่อการแพทย์เท่านั้น 2.พรบ.ประชามติ จุดยืน “ภูมิใจไทย” โหวตเอา "เสียงข้างมาก 2 ชั้น" เพื่อทำประชามติ (ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และ เสียงเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ) ซึ่งยากต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่ “เพื่อไทย” ไม่เห็นด้วย ต้องการลดเกณฑ์เสียงข้างมาก ของผู้ออกมาใช้สิทธิ์เหลือ 20-30% อันจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญง่ายขึ้น 

3.ปมปัญหาการครอบครองที่เขากระโดง ของ “บ้านใหญ่” ในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นเกมต่อรองของ “เพื่อไทย” กับ “ภูมิใจไทย” 4.เอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ ที่อาจนำไปสู่ปัญหาในพรรคร่วมรัฐบาลได้ เพราะทาง “ภูมิใจไทย” อยากดึงไปลงในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ด้วย แต่ตามแผนรัฐบาลเพื่อไทย ไม่มีบุรีรัมย์ 5.ปมพรบ.กลาโหม  สส.พรรคเพื่อไทย มีแนวคิดปฏิรูปทหารผ่านการ แก้ พรบ.กลาโหม เพื่อป้องกันการปฎิวัติรัฐประหาร ขณะที่ “ภูมิใจไทย” คัดค้าน ไม่เอาด้วย 

และ 6.ปม 2 พ.ร.ก.ภาษี  ที่ในการลาประชุม ครม. เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2567 มีการเสนอพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับเข้าสู่ที่ประชุม ครม. คือ 1.พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม และ 2.พ.ร.ก.แก้ไขพ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็น พ.ร.ก.เกี่ยวกับการปฏิรูปภาษีนิติบุคคลในไทย โดยต้องเก็บภาษีจากบริษัทนิติบุคคลต่างชาติ ที่เข้ามาลงทุนในไทย เพื่อเป็นการรองรับเกณฑ์ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)  

แต่ปรากฏว่า มี “รัฐมนตรี” หลายคนไม่เข้าร่วมประชุม เพื่อเลี่ยง พ.ร.ก. 2 ฉบับดังกล่าว มี “รมต.สีน้ำเงิน” ลาประชุมหลายคน รวมถึง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ/รมว.มหาดไทย ที่ลาประชุมช่วงเช้า เนื่องจากเกรงว่า พ.ร.ก.ดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายการเงิน อาจจะสุ่มเสี่ยงถูกตีความ เปิดช่องให้ “นักร้อง” หยิบไปเล่นงานได้ ก่อนจะถูกตามให้มาเข้าร่วมประชุม ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับ นายใหญ่-ทักษิณ ชินวัตร ถึงกับซัดพรรคร่วมรัฐบาล ที่ทำตัวเป็น "อีแอบ" ในวงสัมมนาพรรคเพื่อไทย ที่หัวหิน เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2567

“2 วันก่อนมีการเอากฎหมาย (พ.ร.ก) เข้า ครม. ปรากฏว่ามีพรรคร่วมบางพรรคหลบ ป่วย อย่างนี้ไม่ใช่เลือดสุพรรณนี่หว่า ถ้าอยู่ด้วยกันก็ต้องด้วยกันซิ วันหลังไม่อยากอยู่ต้องบอกให้ชัดเจน ...ผมเป็นคนเกลียดพวกอีแอบ ตรงไปตรงมาง่ายๆ อยู่ก็อยู่ไม่อยู่ก็ไม่ต้องอยู่ ถ้าอยู่ก็ต้องสู้ด้วยกัน ในเมื่อเป็นนโยบายรัฐบาลร่วมกัน แถลงนโยบายคุณยกมือเห็นด้วย พอได้เก้าอี้รัฐมนตรีค่อยๆ หลบออกไม่ได้ ต้องตรงไปตรงมา” ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทย กล่าวในการสัมมนาพรรคเพื่อไทย ดังกล่าว

                          จับตา“ปัจจัยการเมือง”กระทบเศรษฐกิจไทย

*** ปัญหาความขัดแย้ง ระหว่าง “เพื่อไทย” กับ “ภูมิใจไทย” เกิดขึ้นมาแล้วอย่างน้อย 6 เคส และเชื่อได้ว่าอนาคต จะมีปัญหาความไม่ลงรอยกันเกิดขึ้นอีกแน่ หากสักวันหนึ่งเกิด “หมดความอดทน” ระหว่างกันขึ้น ก็อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นได้ ...และหากเกิดขึ้นจริง สิ่งที่จะตามมาก็คือ ผลกระทบที่จะมีต่อ “เศรษฐกิจไทย” ที่ทำท่าจะ “โงหัว” ขึ้น ก็อาจจะ “โงหัวไม่ขึ้น” เอาเลยก็ได้ ต้องจับตา...